จุฬาฯ เปิดตัว Chula Global Innovation Club (CGIC) พร้อมเชิญเหล่าสตาร์ทอัพ FoodTech ร่วม Chimnovate Hackathon 2022 | Techsauce

จุฬาฯ เปิดตัว Chula Global Innovation Club (CGIC) พร้อมเชิญเหล่าสตาร์ทอัพ FoodTech ร่วม Chimnovate Hackathon 2022

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดตัว Chula Global Innovation Club (CGIC) เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนใน CU Spin-offs โดยตั้งเป้าที่จะสร้างเม็ดเงินลงทุน ไม่น้อยกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างเครือข่ายที่ปรึกษาระดับโลก (Global Mentors) จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คนที่จะมาช่วยผลักดันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจฐานนวัตกรรมจุฬาฯ (Chula Spin-offs) 

การเปิดตัวครั้งนี้จัดเป็นรูปแบบ Virtual Event เมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 เวลา 20.30 – 23.05 น. เวลาประเทศไทย (9.30 – 12.05 น. เวลา กรุง Washington DC) โดยแถลงกิจกรรมแรกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง CGIC และบริษัท Chim Media ภายใต้ชื่อ “Chimnovate Hackathon 2022” ซึ่งมาใน Theme ของ Virtual Restaurants เพื่อฟื้นฟูและยกระดับทูตด้านอาหาร (Gastrodiplomacy) ของไทย พร้อมกับการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โดยคุณยงยุทธ ลิ้มเลิศวาที เจ้าของ Nabon Thai Market (โรงงานผลิตและขายส่งวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารไทย), ร้าน SEA, และร้าน Spice ใน New York City คุณชัยวัฒน์ วัฒโล CEO, Chim Media (บริษัท marketing agency สัญชาติไทยที่ตั้งอยู่ใน New York City) และเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในให้กับร้านอาหารไทยในอเมริกาอีกมากมาย พร้อมคุณฐากูร ชาติสุทธิผล Co-founder & CEO at Living Mobile and Foodstory (แอปพลิเคชัน POS ร้านอาหารชื่อดังที่มีผู้ใช้แล้วกว่า 25000 ร้าน) เพื่อให้ข้อมูล แนวคิดสำคัญเพื่อต่อยอดกิจกรรม Hackathon ที่จะถูกจัดขึ้น

สำหรับโครงการ Chula Global Innovation Club (CGIC) ดำเนินการบริหารโดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย โดยตลอดระยะเวลาร่วม 6 เดือนที่ผ่านมา ทาง CGIC ได้ดำเนินการผสานความร่วมมือ ผนึกกำลังกับหน่วยงานรัฐของไทยหลายแห่ง อาทิ สถานทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา สถานทูตไทยในกลุ่มประเทศ Nordic กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จํากัด สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ 

หนุนนวัตกรรมด้าน Food Tech พลิกฟื้น GDP และสตาร์ทอัพไทย

ความมุ่งหวังในครั้งนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพนวัตกรรมของไทย และบรรลุเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ทั้ง 3 เป้าของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้แก่ การเพิ่ม GDP ของประเทศให้เติบโตขึ้นร้อยละ 2 การมีวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจำนวน 1,000 ราย ทั้ง Smart SME/Startup ที่มีรายได้อย่างน้อยรายละ 1 พันล้านบาท และพัฒนาประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้โดยที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยเพิ่มจำนวนบริษัทยูนิคอร์นให้ได้ 5 บริษัท และให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับ Food Tech & Agricultural Startup ให้มากขึ้น

สถิติเงินหมุนเวียนในสตาร์ทอัพด้านต่างๆ ในประเทศไทย ปี 2021 Cr.คุณฐากูร ชาติสุทธิผล Co-founder & CEO at Living Mobile and Foodstory

กิจกรรมหลักสำคัญภายใต้การดำเนินการของ CGIC ได้มุ่งเน้นการสนับสนุนกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพผ่านกิจกรรมแบบเต็มรูปแบบ ทั้งกิจกรรมนำเสนอแผนธุรกิจและระดมทุน (Pitching & Fund Raising) จากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเร่งการเติบโตให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพจากงานวิจัยของจุฬาฯ กิจกรรมการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership Matching) เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถขยายตลาดออกสู่สากลและเกิดคู่ค้าทางธุรกิจ กิจกรรม Roadshow เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้น ประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์ และกิจกรรม Hackathon เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และ Mentor

สู่การจัด CHIMNOVATE HACKATHON 2022

CHIMNOVATE HACKATHON 2022 จะเป็นการจัด Hackathon ข้ามประเทศ เพื่อปั้นธุรกิจจริงในตลาดสหรัฐอเมริกา โดยเชิญชวนผู้ที่สนใจด้าน Startup FoodTech และ Ecosystem สำหรับอาหาร มาร่วมกัน Hack ในโจทย์ “Revitalizing Thailand's Gastrodiplomacy through Building & Scaling Virtual Restaurants in the USA“ พลิกฟื้นวงการร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยผู้เข้ารอบสุดท้ายมีโอกาสได้พัฒนาและต่อยอดธุรกิจในตลาดอเมริการ่วมกับเหล่า mentor  partner และร้านอาหารชื่อดังในอเมริกา เปิดรับสมัคร 22 ส.ค. ถึง 30 ก.ย. 2022 ผ่าน shorturl.at/fOP79

จากวิสัยทัศน์ของบริษัท Chim Media ที่มุ่งมั่นที่จะสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารของสหรัฐฯ โดยนำเสนอโซลูชั่นการตลาดเชิงสร้างสรรค์แก่ร้านอาหารไทย และในครั้งนี้ บริษัท Chim Media ต้องการในการฟื้นฟูธุรกิจอาหารไทยในสหรัฐอเมริกาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ผ่านการจัดกิจกรรม Hackathon ที่มีพันธมิตรธุรกิจด้านอาหารเข้าร่วมอย่างครบครัน อาทิ Karb Studio, Eatlab, True Taste of Thai และ Nabon Thai Market

สำหรับกิจกรรม Hackathon ในครั้งนี้ ผู้ประกอบการสาย Food Tech ที่สนใจสามารถสมัครเข้ากลุ่มศึกษาตามความถนัด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านปฏิบัติการ (Operations) การตลาด (Marketing) ด้านสื่อ (Media) ด้าน Software และด้านวิจัย (Research) โดยจะต้องผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบของ Peer Learning, Lecture และ Workshop กับผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและสหรัฐฯ ก่อนทำการรวมทีม 3-5 คน เพื่อพัฒนาและนำเสนอแผนธุรกิจกับ Prospective Lab Kitchens เพื่อพัฒนาผลลัพธ์นำร่อง/ผลิตภัณฑ์/บริการที่ใช้งานได้จริง (Minimum Viable Product) สำหรับทดลองตลาด โดยตลอดกิจกรรมผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ คำแนะนำด้านเทคนิคที่ส่งมอบโดย Entrepreneurs-in-residence ที่ปรึกษา (Mentor) และวิทยากร  สำหรับออเดอร์อาหารนั้น พันธมิตรร้านอาหารทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ผลิตและส่งมอบผ่าน Online Marketplace ต่าง ๆ ทั้ง UberEats, Grubhub และ Doordash โดยจะประยุกต์ใช้ software และอุปกรณ์ Hardware ของ Bbot powered by Doordash กับธุรกิจอาหารที่เข้าร่วม สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นตลาดซื้อขายสำหรับ Virtual Restaurant ที่พัฒนาขึ้นในกิจกรรมนี้ นอกจาก Marketplace ดังที่ได้กล่าวมา ยังจะได้รับการสนับสนุนโดย EveryThai.com 

สำหรับทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสการเป็นเจ้าของ Virtual Restaurants ที่ปั้นขึ้น พร้อมลุยธุรกิจจริงในสหรัฐฯ ทันที และสามารถพัฒนาต่อยอดได้ไม่จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารหรือผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chimmedia.com/hackathon

ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected], [email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...