ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย (Citibank) เผยข้อมูลคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 ยังคงไม่กลับไปยังจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจอีก โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวโดยจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.8% ส่วน สหรัฐฯ และจีน คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.5% และ 4.5% ตามลำดับ
เนื่องด้วยหลายประเทศมีเปลี่ยนแปลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินเข้มงวด ในขณะที่ภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์ซิตี้มีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฏจักรในอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแนะนำกระจายการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย อาทิ กลุ่มการดูแลสุขภาพ กลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน เป็นต้น
พร้อมกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อลดความผันผวน เช่น ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ตราสารหนี้ไฮยิลด์ พันธบัตรสหรัฐอเมริกา โดยเน้นที่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในตลาดเอกชนที่มีความเสี่ยงต่ำ และใช้ตลาดทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน
พร้อมกันนี้แนะนำให้นักลงทุนเฝ้าติดตามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว
ด้าน Mr.Ken Peng Head of Investment Strategy, Citi Global Wealth for Asia Pacific กล่าวว่า ภาพรวมภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ปี 2565 นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าจะไม่กลับไปยังจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ก็จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยนักวิเคราะห์ซิตี้คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.8%
เนื่องด้วยหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการการชดเชยทางการเงินขนาดใหญ่จากผลกระทบของโควิด-19 ธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2 ปีต่อจากนี้
ตลอดจนธนาคารกลางตั้งเป้าที่จะให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นปานกลางในระยะยาว เป็นต้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 3.5% โดยได้รับอานิสงส์จากภาคบริการที่กลับมามีความแข็งแกร่ง
ในขณะที่ภาคการผลิตยังได้รับผลกระทบจากแรงลมหนุนท้าย (tailwind) ส่วนประเทศจีนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5% โดยมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการควบคุมในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งสินค้าออกไปยังจีน และในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์บางส่วน
ด้านกำไรต่อหุ้นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 53% ในปี 2564 น่าจะเติบโตช้าลงเป็น +7 ถึง 8% ภายในปี 2565-2566 ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (10-year US Treasuries) จะเพิ่มผลตอบแทนเป็น 2.1% ภายในสิ้นปี 2565 แม้ว่าโควิดอาจทำให้อัตราผลตอบแทนปกติช้าลง นอกจากนี้นักวิเคราะห์ซิตี้ประมาณการผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ 8% ในขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -1% ถึง 0%
อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดเพิ่มเติมได้ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีน หรือความสัมพันธ์สหรัฐ - รัสเซียที่อาจเลวร้ายลง ดังนั้นนักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว
ทั้งนี้แม้ว่าภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์ซิตี้มีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฏจักรในอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเล็งเห็นโอกาส โดยเน้นที่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และใช้ตลาดทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการถือครองเงินสดหรือตราสารหนี้ ดังนั้นแนะนำกระจายการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย โดยกลยุทธ์การลงทุนในปี 2565 สามารถแบ่งเป็น 3 ธีมการลงทุนด้วยกัน ประกอบด้วย
Long term leaders เปลี่ยนการลงทุนระยะสั้นเป็นการลงทุนในกลุ่มผู้นำระยะยาว แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและสม่ำเสมอมากที่สุด คือ กลุ่มไอทีเทคโนโลยี กลุ่มการดูแลสุขภาพ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
Beating the cash thief ประเมินว่าปีนี้เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น จึงแนะนำมองหาบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลที่ดี และเอาชนะการถือเงินสดด้วยการลงทุนในกลุ่มหุ้นกู้ หรือ ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้หลายบริษัทต้องมีการจัดการภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก คาดว่ากลุ่มตราสารหนี้ที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าคือ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ตราสารหนี้ไฮยีลด์ พันธบัตรสหรัฐอเมริกา
Unstoppable trends เทรนด์การลงทุนที่ยังมาแรงคือ กลุ่มพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความพยายามในการลดต้นทุนอันเห็นได้จากภาครัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกเป็นสีเขียว (greening the world) รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชันของทั้งบริษัทสหรัฐฯ หรือจีนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนกลุ่มการดูแลสุขภาพที่พบว่ามนุษยชาติจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น
ด้าน คุณดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในปี 2565 ซิตี้แบงก์เตรียมนำเสนอกองทุนใหม่ ๆ ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การเติบโตด้านการลงทุน โดยพบว่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเป็นที่น่าพึงพอใจ มีการเติบโตในกลุ่มซิตี้โกลด์ รวมถึงซิตี้ไพรออริตี้ ที่พร้อมให้บริการการลงทุนได้ทั่วโลกกว่า 200 กองทุน จากพันธมิตรที่หลากหลายกับ 5 บลจ.ในประเทศและ 12 บลจ.ต่างประเทศ
ซึ่งมีความหลากหลายของกองทุนทั้งประเภทของสินทรัพย์ และภูมิภาคของการลงทุน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าซิตี้โกลด์ อาทิ บริการผู้ดูแลบัญชีที่พร้อมให้บริการคำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ การลงทุนให้กับลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์
พร้อมทั้งให้ลูกค้าสามารถการบริหารความมั่งคั่งสะดวกในทุกโอกาสผ่านซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน โดยลูกค้าซิตี้โกลด์สามารถทำการซื้อ-ขายกองทุนได้ด้วยตัวเอง การตรวจสอบความเคลื่อนไหวของพอร์ทการลงทุน การโอนเงินผ่านทางพร้อมเพย์ไปยังต่างธนาคาร หรือโอนเงินไปยังบัญชีต่างประเทศได้ง่าย ๆ รวมถึงสามารถเปิดบัญชีสกุลเงินต่างประเทศได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
ด้านคุณพิชญ์ อัศวสถาพร ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2022 Citi คาดการณ์มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลกจะไม่เห็นการถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งหากดูการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าทั่วโลกมี GDP ถดถอย 3.2% ในปี 2020 และปรับตัวขึ้นมาเป็น 5.6% ในปี 2021 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ในปี 2022 สิ่งที่ Citi คาดการณ์คือเศรษฐกิจทั่วโลกจะถอยตัวลงมาเล็กน้อยไปสู่ 3.8% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับปกติ
ทั้งนี้ทั้งนั้นในมุมมองตรงส่วนนี้ปัจจัยหลักๆที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2021 และมีแนวโน้มที่จะถอยหลังลงมาเล็กน้อยในปี 2022 หลักๆแล้วเป็นเพราะนโยบายการเงิน ที่จะเป็น key driver ที่จะมีผลต่อการแนะนำการลงทุน
ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อปีที่ผ่านมาเราเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง หรือ เข้มข้น เงินเฟ้อจึงเกิดตามขึ้นมา ซึ่งในปี 2021 เราได้เห็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะเข้มข้นจากหลายๆที่ทั่วโลก ทั้งจากทางรัฐบาลและแบงก์ชาติ ซึ่งที่คาดหวังในปี 2022 ตัวเลขเงินเฟ้ออาจจะยังอยู่ในระดับที่สูงต่อไปสักพัก และหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลงตามปัจจัยสองอย่างที่เปลี่ยนไปคือ การเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติทั่วโลก และจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานจะได้รับการแก้ไข
ขณะเดียวกันตัวเลขที่เกี่ยวกับแรงงานในตลาด และการจ้างงานใหม่เริ่มกลับมาประสานกันดังเดิม จากการที่ถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2020 ทำให้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน จนกระทั่งปี 2021 ตัวเลขค่อยๆปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้นปัญหาห่วงโซ่อุปทานจึงคลี่คลาย และอัตราเฉลี่ยของเงินเฟ้อที่ประเมินไว้ในช่วงทศวรรษ 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ จะลงมาอยู่ที่ 2.5% ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตรา 1.7% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ธีมไฮไลท์ของปีนี้คือการเปลี่ยนนโยบายการเงินทั่วโลก เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ดังนั้นธนาคารกลางๆต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะฝั่งอเมริกา และยุโรปมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในช่วงปี 2020-2021 เพื่อสกัดเงินเฟ้อจึงต้องเปลี่ยนทิศนโยบายการเงิน ดังนั้นเราจะได้เห็นทางแบงก์ชาติสหรัฐเปลี่ยนทิศนโยบายการเงินบ่อยครั้ง ส่วนสิ่งที่นักลงทุนสนใจคือ ทิศทางนโยบายการเงินมีผลอย่างไรกับตลาดหุ้น
ส่วนตลาดหุ้นไทยในปี 2022 ทาง Citibank มองผลจะเป็นบวกมากขึ้น และประเมิน GDP ประเทศไทย 3.6% โดยปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนจะอยู่ที่การท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยประเมินตัวเลขการท่องเที่ยวในปี 2022 จนถึงสิ้นปีว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศประมาณ 12.5% รวมถึงมาตรการแซนด์บ็อกซ์ที่มีเพิ่มมากขึ้นตามจังหวัดต่างๆที่จะช่วยบูสจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเช่นกัน
ทั้งนี้สาเหตุของจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น แต่ยังไม่สุดนั้น 68% จะมาจากเอเชีย ซึ่งยังคงมีมาตรการในหลายประเทศที่ยังไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ทั้งนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยดีขึ้น จะเห็นว่ากลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 0.7%
รวมถึงการส่งออกที่ยังคงอยู่ในจุดที่เกินดุล และแนวโน้มการอุปโภคบริโภคในประเทศดูดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อของประเทศไทยจะอยู่ที่อัตรา 1.8% ตลอดทั้งปีเนื่องด้วยอุปสงค์โดยรวมในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นทิศทางนโยบายการเงินของทางแบงก์ชาติมีแนวโน้มที่จะเสถียรและไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่มีการปรับทิศเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายการเงินตลอดทั้งปี
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด