ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกช่วงกลางปี 2019 ชี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยสู่ระดับการขยายตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์ จาก 3.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 โดยคาดการณ์อัตราเติบโตของผลกำไรทั่วโลกสิ้นปี 2019 ที่ 4.0 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าระดับประมาณการในครั้งก่อนเล็กน้อย ด้วยปัจจัยสถานการณ์การคลังของบางภูมิภาค ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่จะมีสัญญาณบวกและไต่ระดับขึ้นที่ 11.0 เปอร์เซ็นต์ ในปี 63 ด้านค่าเงินสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในภาพรวม ขณะที่ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่าในระยะปานกลาง ซึ่งคาดว่าโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบ 31.20 – 31.50 ไปจนถึงช่วงกลางปี 2020
คุณนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ระดับการขยายตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์ จาก 3.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2018 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสชะลอลงเล็กน้อยจาก 2.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 มาอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากสถานการณ์การคลังของแต่ละภูมิภาค ความไม่แน่นอนด้านการเมือง รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้สำหรับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคคาดว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโต 4.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 4.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ในทางกลับกัน ด้านตลาดพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยแตะระดับ 1.8 เปอร์เซ็นต์ และ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จากผลกระทบของนโยบายระหว่างประเทศความตึงเครียดทางการค้าของประเทศยักษ์ใหญ่ การชะลอตัวของตลาดแรงงาน และราคาสาธารณูปโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น
สำหรับค่าเงินยังคงมีความผันผวนสูง และต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเนื่องจากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยหมดลง ตลอดจนการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อจำเป็น ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ได้แก่ เยนญี่ปุ่น (JPY) หยวนจีน (CNY) ดอลลาร์แคนาดา (CAD) รวมถึงเงินบาท ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี 2019 คาดว่า FED จะยังคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงช่วงกลางปี 2020 ซึ่งเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์เมื่อต้นปีว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) และญี่ปุ่น (BoJ) ที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0 และ -0.1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ไปจนถึงช่วงกลางปี 2020
ด้านเศรษฐกิจไทย ธนาคารฯ ได้ปรับลดประมาณการเติบโตปี 2019 มาอยู่ที่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง มาจากการชะลอการลงทุนภาคไตรมาสที่ 1 โดยคาดว่ามีโอกาสฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2020 ทั้งนี้ ครึ่งปีหลัง 2019 คาดการณ์ว่าการส่งออก และการท่องเที่ยว ยังมีโอกาสขยายตัวในระดับที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่ค่าเงินบาทไทย มีแนวโน้มอยู่ในระดับที่แข็งค่าไปจนถึงช่วงต้นปี 2020 โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบ 31.20 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ระดับค่าเงินบาทปัจจุบัน ที่แข็งค่าอยู่ในระดับ 30.60 - 30.70 ที่ได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น จะคงอยู่ได้นานหรือไม่ ทั้งนี้เพราะรายได้จากต่างประเทศจากการส่งออก และการท่องเที่ยวยังไม่ได้ดีขึ้นชัดเจน
คุณบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า คาดการณ์อัตราเติบโตของผลกำไรต่อหุ้นทั่วโลกในปี 2020 จะอยู่ที่ 4.0 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าระดับประมาณการเดิมเล็กน้อย สำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้จึงแนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายชนิด โดยเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง เช่น กลุ่มตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ ที่จัดอยู่ในระดับน่าลงทุน (US Investment Grade) นอกจากนี้ควรพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมแบบผสม (Multi-Asset Fund) และกองทุนรวมทางเลือก (Alternative Mutual Fund) เพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงที่มีภาวะความผันผวนที่สูงขึ้นในปีนี้
นักวิเคราะห์ของซิตี้มีมุมมองเป็นบวกต่อ 4 กลุ่มหุ้นวัฐจักร ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มวัสดุการผลิต กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเทคโนโลยี ที่ได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น 5G รวมถึงเทรนด์สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ธุรกิจกลุ่มสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ การลงทุนปี 2020 ยังคงมีความท้าทายสูง โดยนักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ความไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐ ตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ ข้อตกลงเบร็กซิท การเลือกตั้งในภูมิภาค และนโยบายงบการคลังของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้อัตราการลงทุนทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ที่ตลาดมีความเคลื่อนไหวน้อยที่สุดในรอบปี
ด้าน คุณดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้อัพเดทผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนของธนาคารซิตี้แบงก์ว่า ปัจจุบันธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย มีพันธมิตรกองทุนชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศรวมกว่า 17 แห่ง อาทิ AllianceBernstein Allianz Global Investors Schroders UBS Asset Management ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายรูปแบบการลงทุน
นอกจากนี้ ซิตี้แบงก์ยังเตรียมพัฒนาบริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง เพื่อประสบการณ์การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า อาทิ ออนไลน์ฟีเจอร์ ให้ลูกค้าสามารถยืนยันการทำธุรกรรมการลงทุน ผ่านซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน รวมถึงสิทธิประโยชน์ อย่าง ซิตี้ โกลบอล วอลเลท ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็ว คุ้มค่า และเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำธุรกรรมการเงินต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศได้ 8 สกุลเงินได้ทันทีผ่านฟีเจอร์บนแอปพลิเคชั่นของทางธนาคาร
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด