นักวิทยาศาสตร์เตือนสภาพอากาศที่แปรปรวนกำลังเปลี่ยนแปลงรสชาติและคุณภาพของเบียร์
เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอันดับสามของโลกรองจากน้ำและชา ผลิตด้วยการหมักเมล็ดมอลต์กับยีสต์ และจะปรุงแต่งกลิ่นและรสด้วยฮอปส์ พืชไม้เลื้อยที่เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการผลิต ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผลผลิตและคุณภาพของฮอปส์จะลดลงภายในปี 2050 และส่งผลให้ราคาเบียร์ในยุโรปสูงขึ้นและมีรสชาติแย่ลง
ฮอปส์ที่เปลี่ยนไปกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ฮอปส์ส่วนใหญ่ปลูกในเขตละติจูดกลาง (30-60 องศาเหนือและองศาใต้) ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงของแสง ความร้อน และปริมาณน้ำ ทำให้วิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบกับการปลูกฮอปส์โดยตรง
ปริมาณการผลิตฮอปส์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยคาดการณ์ว่าผลผลิตฮอปส์ทั่วยุโรปจะลดลง 4-18% ภายในปี 2050 หากเกษตรกรยังไม่ปรับตัวกับการผลิตในอุณหภูมิที่สูงขึ้น
นอกจากปริมาณจะลดลงแล้ว คุณภาพของฮอปส์ก็ลดลงด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่าปริมาณกรดอัลฟ่าในฮอปส์ที่ทำให้เบียร์มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลดลงในทุกภูมิภาคการผลิต นักวิจัยคาดการณ์ว่าคุณภาพจะลดลงถึง 20-31% ภายในปี 2050
จากความนิยมของคราฟต์เบียร์ที่มีรสชาติเข้มข้น เพิ่มความต้องการของฮอปส์คุณภาพสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องรักษาคุณภาพของฮอปส์ไม่ให้ลดลง ซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้ฮอปส์ยิ่งมีราคาพุ่งสูงขึ้น
แต่การปรับตัวของเกษตรกรอาจจะไม่เพียงพอในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผู้นำแต่ละประเทศควรมีมาตรการจัดการกับก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ถึงแม้ในเวทีโลกจะมีการให้สัญญาว่าจะช่วยลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่จริงจังออกมา
แม้ว่าวิกฤตสภาพอากาศเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ปัจจัยอื่น ๆ อย่างปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้นก็เพิ่มต้นทุนการผลิตเบียร์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ก็ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ท้าทายทั้งการรักษาคุณภาพและปริมาณการผลิต เพื่อไม่ให้กระทบกับวัฒนธรรมการผลิตเบียร์ที่มีมาอย่างยาวนานของชาวยุโรปและคงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต
อ้างอิง: theguardian
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด