ประมวลความสำเร็จงาน BCG Startup Investment Day โดย BOI จับมือ NIA หนุนสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย | Techsauce

ประมวลความสำเร็จงาน BCG Startup Investment Day โดย BOI จับมือ NIA หนุนสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นับว่าเป็นอีกหนึ่งมหกรรมยิ่งใหญ่ประเดิมศักราช กับงาน BCG Startup Investment Day เวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงไอเดีย และสตาร์ทอัพด้าน BCG ทั้ง FoodTech, AgTech และ MedTech ได้พบปะกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในรูปแบบ Hybrid ณ ศูนย์ C asean โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วม 20 หน่วยงาน โดยงานนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ 

ภายในงาน BCG Startup Investment Day ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการโชว์นวัตกรรมสุดล้ำของเหล่าสตาร์ทอัพ เวทีให้ความรู้อย่างการจัด  Startup Talk ที่เชิญยูนิคอร์นรุ่นพี่มาแชร์ประสบการณ์พร้อมเผยเคล็ดลับความสำเร็จ เวทีแสดงไอเดียอย่าง Startup Pitching ที่ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้มานำเสนอธุรกิจต่อหน้านักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีกิจกรรม Networking ที่เปิดโอกาสให้พบปะพูดคุยสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจได้ 

ภาครัฐเดินเครื่อง หนุน Startup เต็มสูบ หวังพลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง 

ในช่วงเช้าของงานจะเป็นการมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมให้ความรู้ โดยงาน BCG Startup Investment Day ได้รับเกียรติจากคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเข้ามายกระดับการแข่งขันของประเทศไทย รวมถึงการให้การสนับสนุนและพัฒนา Startup Ecosystem ในประเทศไทย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเช่นกัน 

“ประเทศไทยต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่เรามีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเกษตร อาหาร การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวและยานยนต์ควบคู่กับการสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยา นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนการเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดของภูมิภาค เพื่อพลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านบุคลากรที่มีศักยภาพ และการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านคุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้มีการประกาศถึงมาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนกลุ่ม BCG ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ. 2 ฉบับ ได้แก่  พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 โดยตั้งเป้าหมายจะใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดฯ สนับสนุนสตาร์ทอัพ จำนวน 30 ราย ในปี 2565

สำหรับหลักเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนสตาร์ทอัพของบีโอไอ มีดังนี้ 

  • ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาไม่เกิน 5 ปี 

  • ดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด 

  • ต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก  VC และ/หรือ CVC มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ 

  • ต้องเสนอแผนงาน โดยเฉพาะด้านบุคลากร ซึ่งบีโอไอจะสนับสนุนเงินเป็นค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการบริหาร ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50


ขณะที่ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้กล่าวถึงบทบาทของ NIA ในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่ม Deep Tech Startup ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกว่า  “NIA ได้ทำหน้าที่เป็น ‘บูรณากรระบบ หรือ Systems Integrator’ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดแนวร่วมจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศ Deep Tech Startup อย่างแท้จริง”

โดยได้ตั้งเป้าให้เกิด Deep Tech Startup ขึ้นในประเทศไทย 100 ราย ภายในปี 2566 โดยในกลุ่ม BCG จะเน้นผลักดัน 3 ด้าน ได้แก่ เกษตร (AgTech) อาหาร (FoodTech) และการแพทย์ (MedTech) เนื่องจากเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น สามารถดึงดูดการลงทุนทางนวัตกรรมในระดับนานาชาติเป็นอย่างดี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และมีคาดการณ์ว่าสาขาเศรษฐกิจนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า

เผยเคล็ดลับความสำเร็จจากยูนิคอร์น ถ่ายทอดพลังสู่ Startup ไทย

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลท์ของงาน BCG Startup Investment Day คือ ช่วง  Startup Talk ที่รวมสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของไทย และมีคนไทยเป็นผู้ก่อตั้งจนประสบความสำเร็จในต่างประเทศ มาแชร์มุมมอง ถ่ายทอดประสบการณ์ และเคล็ดลับการทำธุรกิจ ในหัวข้อ “ปลุกพลัง Startup ไทย ก้าวไกลสู่ยูนิคอร์น” ซึ่งมีตัวแทนจาก Bitkub Ascend Money Flash Group และ Ajaib ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นจากอินโดนีเซียที่มีคนไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง มาร่วมเสวนา 

คุณวีรภัทร กีรติวุฒิกุล CPO ของ Bitkub ได้เล่าถึง แนวคิดในการสร้างทีมที่ทำให้ Bitkub มีความแข็งแกร่ง และสามารถเติบโตได้กว่า 1,000 เท่า ว่า จากการที่บริษัทมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้มีการขยายทีมงานอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรก Bitkub มีพนักงานเพียงไม่กี่ร้อยคน จนปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1,800-1,900 คนแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาคนที่ใช่ เข้ามาร่วมทีม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การดูว่า มี Passion ต้องการที่จะเรียนรู้ในอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่หรือไม่ เพราะความอยากที่จะเรียนรู้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องดูว่าพนักงานมี Mindset ที่ตรงกับ Core Value ของบริษัทหรือไม่ด้วยเช่นกัน  

“ต้องให้พนักงานเข้าใจว่าธุรกิจของเราคืออะไร อุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร และที่สำคัญบริษัทต้องหา DNA ของตัวเองให้เจอ เพราะเมื่อเวลาเราเจอคนเก่ง คนที่ใช่ จะสามารถสื่อสารให้เขาเข้าใจ Core Value ของเราได้” คุณวีรภัทรกล่าว 

คุณณัฐวดี แซ่เอี๊ย ผู้บริหารจาก Ascend Money ได้เล่าถึง แนวคิดของ  Ascend ในการสร้างสังคมไร้เงินสดให้กับประเทศไทย และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ว่า  Cashless เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในยุคนี้ เพราะเป็นพื้นฐานของการทำให้เกิด E-commerce Delivery อีกทั้งประเทศไทยยังมี คนจำนวนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยเฉพาะการกู้เงิน ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เมื่อเขาเข้าไม่ถึง Credit Scoring ในระบบ จึงจำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบ ตรงนี้กลายเป็นปัญหา เราเลยต้องคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยเราทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงลูกค้ากับผู้ประกอบการ อย่างธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน ให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น 

“สิ่งสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้ อย่างแรกคือ คน สองคือ  เงินทุนและพาร์ทเนอร์ และสามคือ ความเร็ว ต้องดูว่า ธุรกิจเรามี Value จริงไหม และผลิตภัณฑ์ของเราต้องจับต้องได้ แล้วไปหาแหล่งเงินทุนและพาร์ทเนอร์ หลังจากนั้นต้องลงมือให้เร็ว เพราะตรงนี้คือ จุดแข็งของสตาร์ทอัพ ดังนั้นการขยายธุรกิจ ถ้ามีไอเดีย ถ้าทดลองแล้วมั่นใจก็เดินต่อเลย” คุณณัฐวดี กล่าว 

คุณจรัสพักตร์ การปลื้มจิตต์ พาร์ทเนอร์กลุ่มธุรกิจ Flash กล่าวถึงสิ่งที่ Flash ต้องการจะทำและมุ่งไป พร้อมกับแบ่งปันแนวคิดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จว่า สำหรับ Flash Group เราต้องการเป็นผู้นำด้าน e-commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นคนจะรู้จักเราจากการเป็นผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ก่อน  ในอนาคตเราจะมีการขยายไปสู่ FinTech ซึ่งจะเป็นโมเดลเดียวกันทั้งในไทย และการขยายไปต่างประเทศ 

“หลายคนอาจมองว่า สำหรับสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสำคัญที่สุด แต่สำหรับเรา เทคโนโลยีคือ เครื่องมือ แต่คนคือ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน แต่รักษาคนเก่งไม่ได้ก็ดำเนินธุรกิจต่อยาก ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด  และการที่สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้ ต้องบอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สิ่งที่เราผ่านมา เราเรียนรู้จากความล้มเหลว ถ้ามีโอกาส ลองล้มเหลวเพื่อเรียนรู้ ที่สำคัญเมื่อล้มแล้วต้องลุกให้ไว นอกจากนี้การมองหาพาร์ทเนอร์ก็ช่วยให้เติบโตได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องมี Passion ร่วมกัน จึงทำให้ขยายธุรกิจได้ไว” คุณจรัสพักตร์ กล่าว 

คุณญาดา ปิยะจอมขวัญ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CPO ของ Ajaib ได้เล่าถึงการมองหาโอกาสทางธุรกิจในอินโดนีเซียและแนวคิดในต่างประเทศว่า อย่างที่ทราบกันในอินโดนีเซีย แม้ว่า e-wallet จะเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าดูเรื่องของการลงทุน โดยเฉพาะในหุ้น มีความล้าหลังเป็นอย่างมาก และมีช่องว่างให้เราเข้าไปช่วยได้มาก เพราะสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงการลงทุนมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของเขา ดังนั้นเราจึงเข้าไปตอบโจทย์ตรงนี้ มีตลาดที่ใหญ่ และเป็นธุรกิจที่ผู้คนต้องการ เราหา Product Market Fit ได้เร็ว และเติบโตได้ไว 

“สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าเรามีประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนที่มียูนิคอร์นหลายราย  ดังนั้นในการทำธุรกิจอาจจะต้องเลือกอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ เพราะตรงนี้จะทำให้มีตลาดที่ใหญ่ แต่ถ้าเราทำธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ตลาดไม่ได้ใหญ่มาก ต้องขยายไปต่างประเทศ ซึ่งการไปต่างประเทศนั้น หลายคนอาจจะกลัว โดยเฉพาะภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกับประเทศไทย แต่ต้องอย่าไปคิดว่าเราด้อยกว่า เพราะถ้าเรามีความคิดที่เปิดกว้าง การที่เราไม่รู้อะไรเลยก็เป็นจุดแข็ง ที่ทำให้เราพยายามที่ทำความเข้าใจอุตสาหกรรมนั้นจริง ๆ และสามารถปรับให้เข้ากับคนในประเทศได้ในที่สุด”คุณญาดา กล่าว

รวมสตาร์ทอัพสายเขียว Pitching บนเวทีสู่สายตานักลงทุน

นอกจากกิจกรรมให้ความรู้ที่น่าสนใจแล้ว ภายในงานได้มีการเปิดเวทีให้กับ Startup ได้มีโอกาสนำเสนอธุรกิจต่อหน้านักลงทุน โดยมีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจขึ้นเวที Pitching รวม  24 ราย จาก 3 อุตสาหกรรมด้วยกัน ได้แก่ 

กลุ่มการแพทย์

  • Baiya Phyopharm-ชีวเภสัชภัณฑ์จากใบพืช เช่น ยาและวัคซีน

  • Mineed Technology-แผ่นแปะเข็ม Microneedle นําส่งตัวยา และเครื่องสําอางผ่านผิวหนัง

  • Nabsolute-ดัดแปลงไบโอโพลีเมอร์ระดับนาโน เพื่อเป็นระบบนําส่งยา

  • health at home-เทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

  • All Care Plus-นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ และการตรวจสุภาพ

  • Biophamatech-ชุดตรวจ DNA

  • BIO adventure-Personalized medicine โดยใช้ เทคโนโลยี mRNA

  • IQMED Innovation-ระบบเก็บรักษาหัวใจที่รับบริจาค ให้อยู่ได้นานในสภาวะที่หัวใจยังเต้นอยู่

  • EngineLife-ประยุกต์ใช้โปรตีนจากรังไหมในงานการแพทย์ เช่น สร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเทียม

  • Famme Works-นวัตกรรมป้องกันแผลกดทับ

  • YaBez-ยาสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง

  • MIND-Medical Innovations Development center-ศูนย์สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมแห่งใหม่ ที่ผลิตผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์เฉพาะบุคคล



กลุ่มเกษตรและอาหาร

  • Q Box Point (Farmbook)-แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ช่วยยกระดับภาคเกษตร

  • Happy Ground (Happy Grocers)-ตลาดเกษตรอินทรีย์เคลื่อนที่

  • กัญจนาพร (สยาม) -หลอดย่อยสลายได้จากมันสําปะหลัง

  • IncreBio-น้ำผลไม้ปราศจากน้ำตาล และแคลอรี่ต่ำ

  • Boon Corp-นวัตกรรมการผลิตกลิ่นอาหาร และเครื่องหอมจากวัตถุดิบการเกษตร

  • TanDee InnoFood-โปรตีนทางเลือก

  • InPOP-ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองหมัก

  • Impress Green Energy (BIO Matlink)-แพลตฟอร์มบริหารจัดการซัพพลายเชน ด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตร

กลุ่มประหยัดพลังงาน

  • AltoTech-เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร

  • PAC Corporation- เครื่องทําน้ําร้อนโดยดึงพลังงานเหลือใช้ จากเครื่องปรับอากาศ

  • GreenTek-ประกอบกิจการให้บริการ ซัก อบ รีด ด้วยระบบโอโซน

  • CrystalLyte-ผลิตและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมจากคาร์บอนนาโน เช่น แบตเตอรียานพาหนะไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามสำหรับงาน BCG Startup Investment Day ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ BOI และ NIA ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการสนับสนุน Startup Ecosystem ในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้าน BCG ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

บทความนี้เป็น Advertorial







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...

Responsive image

ประกวดนางงาม Miss AI ครั้งแรกของโลก ที่ส่วนใหญ่สร้างตาม Beauty Standard

ตอนนี้มี Miss AI หรือนางงามปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาประชันความงามกันบนโลกดิจิทัลแล้ว ด้านผู้จัดการประกวดหวังช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี...