สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยธุรกิจกว่าครึ่งสายป่านยาวไม่ถึง 6 เดือน จี้รัฐเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งรัด Soft Loan ด่วน | Techsauce

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยธุรกิจกว่าครึ่งสายป่านยาวไม่ถึง 6 เดือน จี้รัฐเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งรัด Soft Loan ด่วน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกและการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า แนวโน้มผู้บริโภคไทยยังคงระมัดระวังการจับจ่าย มีผลต่อยอดซื้อต่อบิล (Purchasing per Basket) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency visit) ลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่องทางประเภทร้านค้าปลีก

คุณฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการซึ่งได้ดำเนินเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ห้า ของปี 2564 เป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-25 พฤษภาคม 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าหลากหลายทั่วประเทศ โดยมีข้อสรุปดังนี้

  1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวม (Retail Sentiment Index) เดือนพฤษภาคม ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนเมษายนและยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 มาก สอดคล้องกับภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสามที่รุนแรงขึ้น สะท้อนถึงความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมที่ยังไม่ชัดเจน

  2. ดัชนีความเชื่อมั่นรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสาม เดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับ การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสอง เดือนมกราคม 2564 ปรากฏว่าดัชนีเดือนพฤษภาคม 2564 ลดต่ำกว่า ในเดือนมกราคม 2564 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ อาจจะยาวนานกว่าระลอกสองมาก

  3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม เดือนพฤษภาคม Same Store Sale Growth (SSSG) มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลยอดขายสาขาเดิมเดือนพฤษภาคมลดลงมากกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนและเดือนมีนาคม ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) ผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการไปจับจ่ายที่ร้านค้า

  4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเมื่อจำแนกตามรายภูมิภาค ปรากฏว่าปรับลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะภูมิภาคกรุงเทพปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ลดลงอย่างชัดเจน

  5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก เปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคมและเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก โดยเฉพาะลดลงอย่างชัดเจนในร้านค้าประเภทสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า

  6. สำหรับร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ท ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ผู้บริโภคมีความกังวลที่จะยืดเยื้อส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อเป็นแบบกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้มูลค่าการซื้อต่อครั้ง Per Spending หรือ Per Basket เพิ่มขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง

  7. สำหรับร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และซ่อมบำรุง น่าจะเป็นร้านค้าประเภทเดียวที่ดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่อง ทั้งนี้จากราคาเหล็กที่เป็นปัจจัยพื้นที่ในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นและมีข่าวว่าภาครัฐจะมีมาตรการมาควบคุม ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นที่กำลังปรับราคาตามราคาเหล็กที่สูงขึ้นต้องสะดุด อย่างไรก็ตาม ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ยังคงได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal ทำงานที่บ้าน WFH อย่างต่อเนื่อง

  8. ประเด็นพิเศษ “การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ การจ้างงานและสภาพคล่องต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ”


8.1  ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 29 ระบุว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25 % การบริหารจัดการต้องปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานรวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด

8.2  ผู้ประกอบการร้อยละ 41 ระบุว่า มีการลดการจ้างงานมากกว่า 25% แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 38 บอกว่า จะพยายามคงสภาวะการจ้างงานเดิมแต่คงไม่ได้นาน

8.3  ผู้ประกอบการร้อยละ 39 ระบุว่า มีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 8 บอกว่า มีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือน

8.4  มาตรการกระตุ้นการจับจ่าย “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ผู้ประกอบการร้อยละ 56 คาดหมายว่า อาจจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 38 คาดหมายว่า ยอดขายคงเดิมเพราะกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ดได้ใช้เพิ่มเติมจาก G-Wallet

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

  1. เร่งรัดแผนกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผู้บริโภค

  2. เร่งรัดมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามประกาศภาครัฐ

  3. เร่งรัดธนาคารพาณิชย์ประสานงานกับห้างค้าปลีกพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan แก่คู่ค้า-ซัพพลายเออร์ระดับ Micro SME ตามโมเดล Sand Box สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

  4. เสนอให้ปรับแต่งกลไกเอื้อให้ผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” สามารถใช้เครดิตการ์ดจับจ่ายเพิ่มเติมจาก G-Wallet ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมที่จะจับจ่ายสินค้าด้วยเครดิตการ์ดมากกว่าเงินสด

สมาคมฯ ขอตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ เรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษี ลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกเพียง 6 เดือน รวมทั้งมาตรการการกระตุ้นการบริโภคที่ตรงเป้าเข้าใจพฤติกรรมในการจับจ่ายของผู้บริโภค

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB EIC เผยผลกระทบจาก Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความท้าทายด้านการค้า การผลิต และการลงทุน

ในปี 2568 โลกจะเริ่มเผชิญกับความท้าทายจากผลของนโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกว่า “Trump 2.0” ซึ่งถือเป็นการกลับมาใหม่ในเวอร์ชันที่มีอำนาจบริหารที่แข...

Responsive image

“Betagro Ventures” ร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มุ่งสร้างระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม Rubi Protein® ตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคต

“BETAGRO Ventures” หน่วยงานด้านการลงทุนและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ “บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ “BTG” ประกาศความสำเร็จในการร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มูลค่า 30 ล้านเหรีย...

Responsive image

ยกเลิกแบน iPhone 16 ไม่ง่าย อินโดฯ ยังไม่พอใจข้อเสนอลงทุน Apple ชี้ยังไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศ

เรื่องราวระหว่าง Apple และอินโดนีเซียดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแบน iPhone 16 ห้ามวางจำหน่ายในประเทศ ใครใช้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย...