สภาดิจิทัลฯ นำโดย 'ศุภชัย เจียรวนนท์' เดินหน้าช่วยภาคธุรกิจ - การศึกษา ในสถานการณ์ COVID-19 | Techsauce

สภาดิจิทัลฯ นำโดย 'ศุภชัย เจียรวนนท์' เดินหน้าช่วยภาคธุรกิจ - การศึกษา ในสถานการณ์ COVID-19

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย คณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ประกอบด้วย คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธาน สภาดิจิทัลฯ ดร.วีระ วีระกุล รองประธาน สภาดิจิทัลฯ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เลขาธิการแพทยสภา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาดิจิทัลฯ นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน รองประธาน สภาดิจิทัลฯ นพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) รวมทั้งผู้แทนจาก บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าส่วนงานประชาสัมพันธ์  และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร พร้อมด้วยบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการพาณิชย์ เข้าร่วมแถลงข่าวผ่านระบบ VDO Conference (True Virtual World) ถึงแนวทางของสภาดิจิทัลฯ ที่ได้สนับสนุนดิจิทัลเทคโนโลยีและการสื่อสาร เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯตระหนักถึงสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงผนึกกำลังภายในสมาชิกของสภาดิจัลฯ และองค์กรภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำ เพื่อเร่งนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารที่ครอบคลุมระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรมาสนับสนุนพี่น้องคนไทยในภาวะวิกฤตนี้ ทั้ง ด้านดิจิทัล โซลูชัน การพัฒนาแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม โซลูชั่น ที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมและลดโอกาสแพร่กระจายโรค เพื่อช่วยประชาชนคลายความกังวลใจและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข รวมทั้งได้มีช่องทางการบริจาคที่จะตรงกับความจำเป็นของแต่ละโรงพยาบาล  ด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในยุคดิจิทัล  โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของดิจิทัล ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)  บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พร้อมใจสนับสนุนมาตรการภาครัฐ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถออนไลน์ เรียนหนังสือจากที่บ้าน (Learn from Home) ได้อย่างสะดวกและไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย โดยจัดซิมการ์ดพิเศษในราคาต่ำกว่าต้นทุนไม่คิดกำไร พร้อมแพ็กเกจพิเศษให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4 Mbps. แบบไม่ลดสปีด และไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ใช้ได้นาน 3 เดือน ด้านข้อมูลข่าวสาร สภาดิจิทัลได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์ COVID-19 ทั้งการเรียนออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงรายงานสถานการณ์จากทั่วโลก ด้านนโยบายกฎหมาย ที่จำเป็นต้องเสนอปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนี้ที่ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญกับทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ ในด้านดิจิทัล โซลูชัน  สภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ พัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ในสถานการณ์ที่ทุกคนจะต้องเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ อันได้แก่ 

โซลูชันการติดตามการติดเชื้อย้อนหลังเพื่อการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค ประกอบด้วย 

  • แอปพลิเคชัน “Self D-care Heatmap” : ระบบติดตามตำแหน่งการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงระยะเวลา 14 วันย้อนหลัง ซึ่งสามารถดูไทม์ไลน์ของตัวเองย้อนหลังได้ อีกทั้งผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษา ยังสามารถบันทึกข้อมูลการรักษาและการตรวจสภาพร่างกายเพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ใช้ในการเฝ้าดูและติดตามผลการรักษาได้ด้วย และ
  • แพลตฟอร์ม “uSAFE” : แพลตฟอร์มคำนวณความเสี่ยงว่ามีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ โดยอาศัยการคำนวณระยะห่างจากผู้ติดเชื้อและระยะเวลาที่อยู่กับผู้ติดเชื้อ ด้วยการใช้ AI ประมวลผลย้อนหลัง 14 วัน
  • แอปพลิเคชัน “QR Check in” : ระบบติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วย COVID-19 ว่าไปสถานที่ใดบ้าง โดยใช้การสแกน QR Code เพื่อเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ ยังมีโซลูชันเพื่อการจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ โซลูชัน “Ordering & Distribution of  Medical Supply” : โซลูชันเพื่อจัดการการจัดซื้อและแจกจ่ายที่ครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียน การจัดซื้อ การขนส่ง การเก็บข้อมูล แสดงผลรายงานผลแบบ real-time dashboard เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และ “Central Donation Platform” : แพลตฟอร์มระหว่างผู้บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และสถานพยาบาล เพื่อกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประชาชนบริจาคไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ รวมถึงช่องทางการรับบริจาคให้ตรงกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลผ่าน helpital.com ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ รวมไปถึงโซลูชันด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ได้แก่ แอปพลิเคชัน “แทนคุณ” : แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์รวมบริการผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นเสมือนให้เราดูแล “แทนคุณ” ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โดยบุคลากร ทั้งพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด และผู้ช่วยเหลือคนไข้ จากผู้ให้บริการมืออาชีพแทนคุณ ซึ่งยังครอบคลุมถึงรถแท็กซี่    รถแอมบูแลนซ์ และระบบ Telemedicine   

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในยุคดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่ปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่มีบทบาททั้งภาคธุรกิจและชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19   ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ทำให้การสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัว ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ส่วนสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ สภาดิจิทัลฯ มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนมาตรการดังกล่าว ให้คนไทยอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ จึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 ค่ายในการสนับสนุนมาตรการภาครัฐ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถออนไลน์เรียนหนังสือจากที่บ้าน (Learn from Home) ได้อย่างสะดวกและไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย โดยผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายพร้อมให้การสนับสนุนซิมการ์ดพร้อมแพ็กเกจพิเศษในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4 Mbps. แบบไม่ลดสปีด และไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ใช้ได้นาน 3 เดือน (นับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ) ในราคา 400 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ตลอดช่วงวิกฤต COVID-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

AIS ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มีเป้าหมายหลักในการนำ Digital Infrastructure เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤต COVID-19 เช่นปัจจุบัน เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งในการเข้าร่วมโครงการ "Student SIM Card" กับสภาดิจิทัลฯ และทั้ง 2 Operator  เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนหนังสือ เชื่อมโยงผ่าน Platform การเรียนการสอนของแต่ละสถาบันได้อย่างต่อเนื่อง หรือ Learning from Home  โดยเป็นซิมเติมเงินที่มีแพ็กเกจราคาประหยัดที่ 400 บาท ได้ Internet Unlimited 4 เม็กกะไบต์ นาน 3 เดือน ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา สามารถติดต่อขอรับซิมได้ฟรีที่ AIS Shop, ร้านเทเลวิซและร้าน AIS Buddy ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษา รวมถึงหากสถาบันการศึกษาใดสนใจที่จะจัดซิมหรือแพ็กเกจให้บุคลากรหรือนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถติดต่อมาได้ที่ AIS Call Center 1149  

dtac ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ที่เชื่อมต่อผู้คนกับการใช้งานดิจิทัล เข้าใจถึงความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ และนักศึกษา ที่มีความต้องการ ใช้งานอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 จัดแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไม่อั้นไม่ลดสปีด ความเร็ว 4Mbps นาน 3 เดือน ในราคาพิเศษ ให้บุคลากร อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ได้ใช้เรียน และสอบออนไลน์ ผ่านทุกแพลตฟอร์มห้องเรียนออนไลน์ ที่สถาบันการศึกษาเลือกใช้ได้อย่างราบรื่น

กลุ่มทรู ผู้นำดิจิทัลไลฟ์สไตล์ครบวงจร ที่พร้อมนำเทคโนโลยีสื่อสาร   ยกระดับการก้าวสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ  พร้อมร่วมสนับสนุนการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยได้จัดทำซิมการ์ดทรูมูฟ เอช สำหรับนักเรียนนักศึกษาพร้อมแพ็กเกจพิเศษ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4 Mbps. แบบไม่ลดสปีด และไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ใช้ได้นาน 90 วัน (นับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ) โดยจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา แสดงบัตรประจำตัวนักเรียนหรือนักศึกษา เพื่อรับซิมการ์ดในระบบเติมเงินที่มาพร้อมแพ็กเกจและสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ที่   ร้านทรูช็อป และ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ

สำหรับด้านข้อมูลข่าวสาร   ได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมีข้อมูลหลากหลายด้าน อาทิ ไลฟ์สไตล์ การศึกษา สุขภาพ และการทำงาน ครอบคลุมทุกช่วงวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไป และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ covid-19.dct.or.th, เฟสบุ๊ค: Digital Council of Thailand – DCT และรายการในช่อง TNN รวมถึงพัฒนาเว็บไชต์ www.dct.co.th ให้เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน สำหรับการประชุมและเรียนออนไลน์ ได้แก่ Zoom, Google Hangouts, Skype, Line, FaceTime, Facebook Messenger, Microsoft Team และ True VWORLD ตลอดจนรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับ COVID-19 

นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายกฎหมาย จะผลักดันเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย โดยประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป และแนวทางการดำเนินการของสภาฯ อีกทั้งยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายอุปสรรคต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การกำหนดให้ต้องมีผู้ร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นในปัจจุบัน

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ตั้งใจที่จะขับเคลื่อนบูรณาการระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อร่วมสนับสนุนให้สังคมไทยก้าวผ่านวิกฤต COVID-19 ไปได้อย่างปลอดภัยและราบรื่นในที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คุยนายกฯ พบแฟนเกม สูดหงส์ไทย สรุปภารกิจ Jensen Huang บุกไทยวันแรก

หลังจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการรายงานของ Bloomberg ที่เปิดเผยว่า Jensen Huang มีแผนเยือนประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคม 2024 ล่าสุดวันนี้ (3 ธันวาคม 2024) ซีอีโอของ NVIDIA รายนี้...

Responsive image

เจาะลึก Central ชิดลมโฉมใหม่ หลังทุ่ม 4,000 ล้าน รีโนเวทครั้งใหญ่ สู่ "The Store of Bangkok" เสริฟ์ความลักซูระดับโลก

ห้างเซ็นทรัลชิดลม (Central Chidlom) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล หนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่ครองใจนักช้อปชาวไทยและต่างชาติมาอย่างยาวนาน กำลังก้าวสู่บทบาทใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ด้วยการทุ่มง...

Responsive image

Siriraj x MIT Hacking Medicine: จุดประกายนวัตกรรม เพื่อผู้สูงวัยในโลกยุคใหม่

Siriraj x MIT Hacking Medicine ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน Hackathon ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา...