5 เรื่องใกล้ตัว ที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการหน่วยงานรัฐ-เอกชนได้ง่าย ๆ ด้วย Digital ID | Techsauce

5 เรื่องใกล้ตัว ที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการหน่วยงานรัฐ-เอกชนได้ง่าย ๆ ด้วย Digital ID

Digital ID เป็นเทคโนโลยีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อเข้ารับบริการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปยืนยันตัวตนที่หน่วยให้บริการ ลดขั้นตอนการกรอกข้อมูล และลดความซ้ำซ้อนในการใช้เอกสาร

ในแง่นี้ Digital ID จึงช่วยยกระดับการให้บริการและความปลอดภัยได้มากขึ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วชีวิตของผู้คนในปัจจุบันผูกติดอยู่กับเทคโนโลยีนี้ไปโดยไม่รู้ตัว เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การลงทะเบียนฉีดวัคซีน หรือการจองคิวออนไลน์ต่างๆ ล้วนต้องลงทะเบียนและสร้างบัญชีผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ให้บริการได้ทราบว่า “เราเป็นใคร” นั่นเอง

ปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญอย่างมากกับ Digital ID มีการพัฒนาระบบและช่องทางต่างๆ ร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency: ETDA) รวมถึงการให้ความสำคัญจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ 

โดยได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อน ซึ่งทุกวันนี้การเข้าถึงบริการต่างๆ ด้วย Digital ID มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งช่วยอำนวยประโยชน์กับทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และนี่คือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Digital ID มาใช้ขับเคลื่อนสังคมไทยในส่วนภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการจากหน่วยงานรัฐได้อย่างสะดวก มั่นใจ และปลอดภัยรับโลกยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

ย้ายทะเบียนบ้านผ่านออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทางไกลถึงอำเภอ

เพื่อให้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรสะดวกยิ่งขึ้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงพัฒนาแอปฯ D.DOPA (ดีดอทโดปา) เพื่อให้บริการงานทะเบียนบ้านรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีฟีเจอร์หลักคือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือ Digital ID เปรียบได้กับการมีบัตรประชาชนในโลกดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงการยืนยันตัวตนของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน 

โดยเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 เป็นต้นมา ได้เปิดให้คนไทยทำเรื่องการย้ายทะเบียนบ้านดิจิทัล ผ่านการลงทะเบียนใส่รหัสหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักผ่านแอปฯ เมื่อกรอกข้อมูลแล้ว ระบบจะส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าบ้านเพื่อแจ้งขออนุมัติการยินยอม และเมื่อเจ้าบ้านกดยินยอมแล้วก็ทำการย้ายได้ แทนที่ระบบเดิมที่ต้องผ่านอำนาจการยินยอมจากเจ้านายทะเบียนท้องถิ่น เปลี่ยนมาสู่นายทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังอำเภอท้องถิ่นให้ตรวจสอบและยืนยัน และแจ้งเตือนกลับมายังแอปฯ ของผู้ย้ายและเจ้าบ้านหลังได้รับการย้ายเสร็จสิ้นสมบูรณ์

โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปฯ D.DOPA กว่าหมื่นรายและทำการย้ายทะเบียนบ้านประมาณ 50 ราย(อัปเดต ณ วันที่ 8 เม.ย. 65) นอกจากนี้ ยังสามารถดูข้อมูลที่ทางราชการเก็บไว้ได้ และคาดว่าในอนาคตจะไม่มีการใช้เอกสารแต่เปลี่ยนเป็นการใช้งานจากข้อมูลที่มีอยู่ในระบบตามนโยบายรัฐบาล และเปิดบริการ Self-service ให้ประชาชนผู้ใช้งานผ่านแอปฯ สามารถแก้ไขข้อมูลส่วนตัวได้ ภายใต้การมีการตรวจสอบมั่นคงและปลอดภัย รวมทั้งทราบว่าใครเข้าถึงข้อมูลของประชาชนคนนั้นๆ

เบอร์มือถือแทนบัตรประชาชนยืนยันตัวตนรับประโยชน์และการบริการจากรัฐ-เอกชน

เพราะหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนมี สามารถใช้ยืนยันตัวตนของแต่ละคนได้บนโลกดิจิทัล “กสทช.” หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงทำโครงการ Mobile ID (โมบายไอดี) ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ หรือเข้าใจโดยง่ายคือ เบอร์มือถือแทนบัตรประชาชน เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และยืนยันตัวตนเพื่อรับประโยชน์การบริการต่างๆ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยไม่ต้องใช้กระดาษหลังจากลงทะเบียน Sim Card แล้ว อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และลดความเสี่ยงที่อาจโดนมิจฉาชีพนำข้อมูลไปปลอมแปลง

โดยประชาชนสามารถสมัครเพื่อลงทะเบียน Mobile ID กับทางค่ายโทรศัพท์ 3 ค่ายใหญ่ อย่าง AIS DTAC TRUE ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันการใช้งาน Mobile ID ของ กสทช. กำลังอยู่ในช่วงขยายการใช้งาน และได้เริ่มให้บริการใช้งานจริงแล้วคือ การเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่ได้มีการทำความร่วมมือ MOU ร่วมทดลองกับโครงการ Mobile ID ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ช่วงกลางปี 2565 ยังมีแผนจะขยายการใช้งานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้ Mobile ID เป็นทางเลือกในการเปิดพอร์ตการลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ และร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยใช้ Mobile ID เป็นทางเลือกในการยืนยันตัวตนเพื่อรับส่งพัสดุแทนบัตรประชาชน นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายความร่วมมือด้านการบริการร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมการขนส่งในการจัดทำใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรเพื่อยืนยันตัวตนยื่นภาษีออนไลน์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น

เปิดบัญชีข้ามธนาคาร สะดวกง่ายที่บ้าน ด้วยแพลตฟอร์ม NDID

ทลายภาพวิถีชีวิตเดิมที่ผู้คนต้องการเปิดบัญชีธนาคารแล้วเตรียมเอกสารเดินทางไปที่ธนาคารเพื่อยืนยันตัวตนอย่างเดิม เพราะปัจจุบันสามารถเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์และเปิดบัญชีข้ามธนาคารได้แล้ว ผ่านแพลตฟอร์ม NDID หรือ National Digital ID โดย บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยง ร้องขอการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อยกระดับการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมประกัน หรือแม้แต่ธนาคาร จะมีการร้องขอการเปิดบัญชีข้ามธนาคารกัน 

จึงต้องอาศัยผู้ที่ช่วยพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือที่เรียกว่า IDP (Identity Provider) ในการพิสูจน์ตัวตนของคนๆ นั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานไกด์ไลน์ของ ETDA เรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งจะใช้บริการของ DOPA Online มาช่วยยืนยันในขั้นที่ 1 ขั้นเบื้องต้นด้านการลงทะเบียน จากนั้นจะมีการตรวจสอบ NDID ในขั้นที่ 2 เพื่อตรวจสอบข้อมูลของบัตรประชาชนว่าเป็นปัจจุบันและเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่

ตัวอย่างการบริการเปิดบัญชีข้ามธนาคาร ในกรณีทั่วไปการเปิดบัญชีแรกจะต้องไปที่ธนาคารพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนที่ต้องมีขั้นตอนการเสียบบัตร การถ่ายรูปเปรียบเทียบใบหน้า แต่บริการจาก NDID จะช่วยพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่ออำนวยความสะดวกให้การเปิดบัญชีแรกของธนาคารใดๆ ก็ตามไม่ต้องไปที่ธนาคาร รวมทั้งยังสามารถช่วยในการเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายหุ้นหรือกองทุน ขอสินเชื้อ ซื้อประกัน 

รวมถึงสมัครบัตรเครดิต โดยเปิดให้บริการดังกล่าวมาแล้วรวม 2 ปี นอกจากนี้ NDID มีแผนขยายการใช้งานไปยังการทำ Digital Signature และมีแผนใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศร่วมกับหน่วยงาน MOU อย่าง Mastercard เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถเปิดบริการมือถือหรือบริการอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งในประเทศกลุ่มเป้าหมายเอเชียแปซิฟิกได้

จากตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Digital ID มาใช้ขับเคลื่อนสังคมไทยในส่วนภาครัฐและภาคเอกชนข้างต้นนั้น พบว่าแม้ในขณะนี้ Digital ID กับสังคมไทยจะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ความหวังในการสร้างให้เกิดนิเวศดิจิทัลไอดี หรือ Digital ID Ecosystem ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันและเกินความเป็นไปได้ ซึ่ง ETDA ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนใช้ Digital ID ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ มายกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างการทำกิจกรรมการประกวด MEiD Hackathon: Digital ID Solution for All เพื่อค้นหานวัตกรรมดิจิทัลไอดี โดยมีผลงานน่าสนใจที่จะเข้ามาช่วยทำให้คนไทย ติดต่อหน่วยงานรัฐ-เอกชนเพื่อเข้าถึงการบริการต่างๆ ง่ายขึ้น อาทิ

พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย เสริมสร้างอาชีพ และตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้

Workforce แพลตฟอร์มจับคู่แรงงานกับงาน โดยมีการใช้ Digital ID มาสร้าง ‘ระบบตัวกลางการบริการคุณภาพผ่านการยืนยันตัวตน’ ที่สามารถยืนยันระบุตัวตนกลุ่มแรงงาน ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถเรียกใช้บริการต่างๆ จากแรงงานได้อย่างสบายใจ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันการจ้างแรงงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยให้ดีขึ้นได้ 

โดยแพลตฟอร์ม Workforce ได้มีการดำเนินงานสร้างเสริมอาชีพในกลุ่มแม่บ้าน และช่างแอร์แล้ว ภายใต้การติดตั้งระบบยืนยันตัวตน ระบบการจ่ายงาน ระบบการบริหารมาร่วม 3 ปี ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการกลุ่มแรงงานเหล่านี้ มีตั้งแต่กลุ่ม SMEs ภาครัฐ ภาคเอกชน นอกจากนี้ทีม Workforce ยังมีการจัดอบรมอธิบายเรื่องระบบ อุปกรณ์เทคโนโลยีให้แก่ช่าง Local เพื่อให้เข้าใจการทำงานและการยืนยันตัวตน พร้อมขยายการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในกลุ่มอื่นๆ ถัดไป

“ตู้ร้องทุกข์ออนไลน์” ติดต่อหน่วยงานรัฐท้องถิ่นสะดวก ติดตามงานได้สบาย

เพื่อลบภาพจำว่าการติดต่อประสานงานร้องเรียนเรื่องต่างๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นเป็นเรื่องยากลำบาก จึงเกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ MANAGov หรือที่เรียกว่า ตู้ร้องทุกข์ออนไลน์ สร้างโดยทีม MANAGov ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดแนวคิดการใช้แอปพลิเคชัน D.DOPA ของกรมการปกครอง ในการช่วยยืนยันตัวตน มาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการร้องเรียนในระดับเทศบาล ส่งเสริมระบบการกระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้การร้องเรียนของประชาชนได้รับการประสานช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นได้รวดเร็วขึ้น และด้วยการใช้ Digital ID เข้ามาเสริมระบบ ก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ร้องเรียนมีตัวตนอยู่จริง 

โดยสำนักงานของทีม MANAGov ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ลองไปใช้แล้ว ซึ่งผลตอบรับจากเจ้าหน้าที่หลังใช้งานไปในทิศทางที่ดี ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่สามารถมาร้องเรียน ติดต่อ ติดตามงานของหน่วยงานราชการ เช่น เอกสารที่ยื่นไปถึงขั้นตอนใดแล้วผ่านแพลตฟอร์ม MANAGov ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้ทันสมัย และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งน่าอยู่อีกด้วย

นอกจากนี้ แล้วยังมีแนวคิดนวัตกรรมอื่นๆ เช่น การเสนอนวัตกรรมเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อการพิจารณาสินเชื่อออนไลน์ จากทีม UpPass การเสนอนวัตกรรมช่วยลงนาม e-Document ที่น่าเชื่อถือ ยืนยันตัวตนได้มาตรฐาน ETDA จากทีม Brainergy การเสนอ “Disruptive Digital Signature” จากทีม Veracity และ “Self–Sovereign Identity” จากทีม Apptify เพื่อพัฒนาไปสู่ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกสบาย ลดข้อจำกัดในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนซ้ำๆ และลดโอกาสในการปลอมแปลง

การนำเสนอ “Digital Paperless Service Solution” จากทีม InDistinct ที่ช่วยจัดการกับเอกสารจำนวนมากให้เข้าไปสู่ระบบดิจิทัล ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเพิ่มความรัดกุมในการคุ้มครองข้อมูลไม่ให้รั่วไหล ซึ่งแนวคิดต่างๆ เหล่านี้เป็นเชื้อมูลสำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย และเวทีการประกวดนี้ก็เป็นอีกแรงที่ช่วยขัดเกลาพร้อมกับเสริมกำลังให้แนวคิดและนวัตกรรมเหล่านี้มีความสมบูรณ์รอบด้านในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น 

โดยเฉพาะในแง่กฎระเบียบต่างๆ อีกทั้งยืนยันได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ Digital ID มีประโยชน์มหาศาลที่จะช่วยให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่วันนี้จนถึงอนาคต

สามารถติดตามข้อมูลนวัตกรรม Digital ID เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th หรือเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ ETDA Thailand (https://www.facebook.com/ETDA.Thailand) และติดตามแคมเปญ MEiD มีไอดี “บริการไทย...ไร้รอยต่อ” ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ MEiD มีไอดี  (https://www.facebook.com/meid.thailand)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จีนตรวจสอบนโยบาย Apple ต่อต้านการผูกขาดบน App Store เหตุเก็บค่าธรรมเนียมนักพัฒนาสูงถึง 30%

รัฐบาลจีนกำลังเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ โดยล่าสุด Apple เตรียมถูกตรวจสอบจากเรื่องค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปและการจำกัดการแข่งขันใน App Store...

Responsive image

กล้องโทรทรรศน์ตรวจพบ Monster Radio Jet ที่เปล่งออกมาจาก Quasar ในยุคแรกของจักรวาล

นักดาราศาสตร์พบ Monster Radio Jet จาก Quasar ที่เกิดขึ้นตั้งแต่จักรวาลยุคแรก สัญญาณพลังงานที่เดินทางมานานกว่า 13,000 ล้านปี อาจเป็นกุญแจไขความลับ จุดกำเนิดของจักรวาล และวิวัฒนาการข...

Responsive image

Amazon ประกาศเพิ่มงบ 3.4 ล้านล้านบาท เร่งลงทุน AI หวังคว้า "โอกาสทอง"

Amazon ประกาศ เพิ่มงบลงทุนเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่ใช้ไป 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเน้นหนักไปที่ AI และโครงสร้างพื้นฐานด้า...