การมีเพื่อนในที่ทำงานเป็นเรื่องดี แต่การเป็นเพื่อนกับเจ้านายนั้น…เราไม่แนะนำ แม้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายหรือหัวหน้าของเรา ก็ควรรักษาระยะห่างและคงความเป็นมืออาชีพไว้ ก่อนที่มันจะสร้างปัญหาที่แก้ไม่ตก
ความสัมพันธ์แบบสนิทชิดเชื้อระหว่างเจ้านายและลูกน้อง จะทำให้เส้นแบ่งชีวิตเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน ลองคิดดูว่าหากเจ้านายส่งข้อความหาเราในวันหยุด แม้จะไม่ใช่เรื่องงาน เราก็มีความรู้สึกว่าข้อความนี้จำเป็นต้องตอบ เพราะเขาเป็นหัวหน้าเรา ถ้ามันเป็นเรื่องงานก็หนักเข้าไปอีก หรือหากเจ้านายร้องขออะไรเรา เราก็ปฏิเสธได้ยากขึ้น เพราะไม่อยากทำลายความสัมพันธ์อันดี
มิตรภาพควรเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายมีอำนาจเท่ากัน การเป็นเพื่อนกับหัวหน้าซึ่งโดยปกติเป็นคนมีอำนาจมากกว่าจะทำให้ความสัมพันธ์นี้ไม่สมดุล
การศึกษาชิ้นหนึ่งเผยว่า 56% หรือมากกว่าครึ่งของผู้บริหารมี ‘คนโปรด’ ในใจอยู่แล้ว ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะให้เลื่อนตำแหน่ง ก่อนที่จะมีการประเมินอย่างเป็นทางการซะอีก นี่คือตัวอย่างของระบบลูกรักในองค์กร ที่จะไม่ได้ทำลายแค่คุณ แต่ทั้งเพื่อนร่วมงานและทั้งบริษัทด้วย
การเป็นเพื่อนกับเจ้านาย แน่นอนคำครหานินทาจะพุ่งตรงมาหาเรา ยิ่งหากเราได้สิทธิพิเศษกว่าคนอื่น ซ้ำร้ายจะบั่นทอนกำลังใจเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้รับโอกาสนั้น และจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษในออฟฟิศ ถึงแม้เราจะก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วยความสามารถเราเอง แต่จะหนีไม่พ้นความสงสัยและความรู้สึกไม่ดีจากเพื่อนร่วมงาน
ความลับของเราเองหรือของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงความรู้สึกไม่ว่าจะดีร้าย อาจจะหลุดออกจากปากเราไปหาเจ้านาย ซึ่งอาจรวมถึงความไม่พอใจในหน้าที่การงานและบริษัท ถ้าเราแชร์เรื่องลับๆ ให้เจ้านายฟังมากเกินไป มันอาจย้อนกลับมาทำลายเราและหน้าที่การงานของเราได้ เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเราควรมีเส้นแบ่งของความเป็นมืออาชีพระหว่างตัวเราและเจ้านาย
เจ้านายเองก็มีโอกาสที่จะแชร์เรื่องส่วนตัวและเรื่องงานให้เราฟัง และหลายครั้งอาจเป็นเรื่องที่เราไม่พึงปรารถนา เช่น การเลิกจ้าง การปรับโครงสร้างองค์กร การเพิ่มลดเงินเดือน โบนัส ฯลฯ
แม้ไม่ควรเป็นเพื่อนกับเจ้านาย แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายก็เป็นเรื่องควรทำ เพราะการเรียนรู้จากผู้นำที่มีประสบการณ์คือคำสอนที่มีคุณค่า
เพื่อหลีกเลี่ยงความอึดอัดและผลกระทบที่จะตามมา ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้สร้างความสัมพันธ์กับเจ้านายแบบ ‘อบอุ่นและจริงใจ’ แทนที่จะเป็นเพื่อนซี้กัน และกำหนดเส้นแบ่งของความสัมพันธ์นี้แบบมืออาชีพ เช่น รู้จักเส้นแบ่งของความเป็นมืออาชีพและความเป็นเพื่อน ที่ยังคงความเคารพในตำแหน่งหน้าที่ของกันและกัน รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรพูด คอยสังเกตเพื่อนร่วมงานเสมอว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เป็นต้น
อ้างอิง : forbes, cnbc, indeed
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด