“dtac” ผนึก “depa-กองทุนสื่อฯ” เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พัฒนา 2 หลักสูตรที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ได้แก่ “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” เพื่อให้สอดรับกับทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างอัตราเร่ง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมดิจิทัล มากยิ่งขึ้น depa จึงเล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรในประเทศทุกระดับชั้น โดยเฉพาะเยาวชนคนยุคใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยในยุคดิจิทัลขับเคลื่อนไปอย่างมั่นคง
“คงยากที่จะปฏิเสธ ว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคนี้มีความเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่าคนรุ่นเก่า แต่จะทำอย่างไรที่จะดึกศักยภาพเหล่านั้นออกมาเพื่อในเชิงบวก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเยาวชนเอง หรือ ต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ depa จึงร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร ห้องเรียนครูล้ำ และ ห้องเรียนเด็กล้ำ ขึ้นเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยเสริมทักษะดิจิทัล ให้ทั้งคุณครูได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เหมาะสม สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนได้รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่กับการเสริมทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญรองรับศตวรรษที่ 21” ผอ.ใหญ่ depa กล่าวเสริม
dtac ภายใต้ความร่วมมือกับ depa กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย รวมทั้งพันธมิตรในแวดวงการศึกษาและภาคสังคม จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่จำเป็นในชีวิตดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ ห้องเรียนเด็กล้ำ และห้องเรียนครูล้ำ
ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อต่างๆมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคมจึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทุนฯ ซึ่งห้องเรียนเด็กล้ำจะช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้และเสริมทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชนได้ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่มีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อสังคมอินเทอร์เน็ตร่วมกัน
ภูมิทัศน์การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป การสอนออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงของการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ จากการสำรวจของ dtac พบว่า คุณครูมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อการสอนแบบ e-Learning มากที่สุด รวมไปถึง ปัญหาการออกแบบและพัฒนาคอร์สออนไลน์ และการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองในภูมิทัศน์ใหม่ รองลงมา ครูมีความหนักใจกับปัญหาการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่นักเรียนเมื่อเผชิญกับภัยเสี่ยงออนไลน์ ได้แก่ การที่นักเรียนในเวลาหน้าจอมากเกินพอดีส่งผลต่อการเรียนและพฤติกรรม และปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ภาคีพันธมิตรได้พัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนครูล้ำ” ขึ้น เพื่อเพิ่มพูนทักษะการสอนให้แก่คุณครูในยุค new normal
พร้อมทั้งสนับสนุนคุณครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนในเรื่องการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม โดยในเบื้องต้นหลักสูตรจะประกอบด้วยเนื้อหา 4 วิชา ได้แก่ 1.วิชาบูรณาการสื่อออนไลน์เพื่อการสอนในศตวรรษที่ 21 2. วิชาความหลากหลายทางเพศเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 3.วิชาการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางออนไลน์ (Digital resilience for teacher ) และ 4.การใช้สื่อศึกษาอย่างสร้างสรรค์
คุณมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac กล่าวว่า “เยาวชนกำลังอยู่บนจุดตัดของการเปลี่ยนผ่านในอัตราเร่งสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือโอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ dtac จึงให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะทางดิจิทัล (digital upskilling) ให้เยาวชนฝึกสร้างกระบวนการทางความคิดและพัฒนาทักษะเพื่อรับกับการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อโอกาสทางอาชีพ ขณะเดียวกัน เยาวชนมีความตระหนักและมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตัวเอง การแยกแยะข่าวสารและความต้านทานที่จะไม่รับอิทธิพลความเชื่อจากโฆษณาชวนเชื่อหรือการปกป้องตัวเองจากการล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ dtac มีความเชื่อมั่นว่า เยาวชนไทยไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ”
การผนึกความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมอย่าง “ห้องเรียนเด็กล้ำ-ห้องเรียนครูล้ำ” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืนของ dtac ผ่านการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy drive) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในวงกว้าง (Thought leadership) ตลอดจนการสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ครู พ่อแม่และผู้ปกครอง (Capacity building)
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา dtac เปิดให้บริการห้องเรียนเด็กล้ำ เพื่อรับกับความเสี่ยงออนไลน์ที่นักเรียนต้องหยุดพักอยู่บ้านตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลักสูตรใน ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง คือ หลักสูตรการสร้างทักษะในการแยกแยะภัยในโลกออนไลน์ผ่านระบบการคิดเชิงวิพากษ์ และวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ รวมทั้ง แนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ
และหลักสูตรในส่วนที่สอง คือ หลักสูตรที่สอนให้เยาวชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโลก อาทิ แชทบอท ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การแสดงผลข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) เทคนิคการเล่าเรื่อง (Story Telling) และการสร้างบอร์ดเกม ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กเยาวชนยุคใหม่ควรเรียนรู้ เพิ่มทักษะสู่การเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นี้ต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด