Sea (Group) เผยเทรนด์ E-Commerce บน Shopee ชี้ SMEs โต 133% | Techsauce

Sea (Group) เผยเทรนด์ E-Commerce บน Shopee ชี้ SMEs โต 133%

Sea (Group)  ผู้ให้บริการอินเตอร์เนตชั้นนำใน 7 ตลาดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และแอร์เพย์ (AirPay) เผยเทรนด์จากผลสำรวจอีคอมเมิร์ซแบบเจาะลึกครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จากผู้ขายและร้านค้ารายย่อยราว 7,000 ราย บนแพลตฟอร์มช้อปปี้

โดยผลสำรวจ ‘E-Commerce & SMEs Uncovering Thailand’s Hidden Assets’ เป็นการสอบถามถึงประสิทธิผลในการดำเนินงาน อัตราการเติบโตของธุรกิจ รายได้ของครัวเรือน และตำแหน่งที่ตั้งของผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) บนช้อปปี้ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการทำผลสำรวจดังกล่าว เพื่อประเมินถึงผลกระทบ ไปจนถึงวิเคราะห์แนวโน้มที่พบหลังจากร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อยหันมาดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือ ช่วง ‘Post e-Commerce adoption’ โดยผลสำรวจแสดงข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น  อีคอมเมิร์ซสามารถเพิ่มการเติบโตทางรายได้โดยรวมให้ผู้ขายถึง 133% โดยเฉลี่ยสำหรับผู้ขายที่มีทั้งช่องทางขายออนไลน์และออฟไลน์ และมากถึง 370% สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้มีช่องทางขายออนไลน์อย่างเต็มที่ (สัดส่วนขายออนไลน์ถึง100%) ผู้ขายถึง 82% ยังตอบว่าอีคอมเมิร์ซทำให้รายได้ของครัวเรือนโดยรวมสูงขึ้นและมอบช่องทางในการดำเนินธุรกิจที่ยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซ ยังช่วย ‘เปิดประตู’ ทำให้ผู้ขายสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ขายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ได้รับประโยชน์จากการใช้อีคอมเมิร์ซมากที่สุด                

ผลสำรวจ ‘e-Commerce & SMEs Uncovering Thailand’s Hidden Assets’ ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของอีคอมเมิร์ซสู่การเป็น ‘เพื่อนคู่คิดภาคดิจิทัล’ สำหรับผู้ขายอย่างเต็มรูปแบบ และเผยให้เห็นถึงบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงกว้าง เช่นก่อให้เกิด ‘การเติบโตแบบทั่วถึง’ (Inclusive Growth) เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของผู้ขาย ไปจนถึงลดข้อจำกัดด้านที่ตั้งของร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อย

ภาพรวมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย เปรียบเสมือนยังอยู่ใน "วัยเยาว์" ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วงปีพศ. 2558 ถึง ปีพศ. 2562 มีอัตราการเติบโตถึง 54% โดยยอดมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอีก 24% ภายในปีพศ. 2568 พร้อมยอดมูลค่าสินค้ารวมที่สูงถึง 18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องแล้ว ประเทศไทยยังนับว่าเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาวดิจิทัลโดยกำเนิด หรือ ‘Digital Native’ มากถึง 38 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 68 ล้านคน อัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนสูงถึง 71% จำนวนผู้สามารถเข้าถึงบริการทางธนาคาร (Banked Population) ที่ 78% สูงกว่ากลุ่มประเทศอาเซียน 6 ซึ่งมีเพียง 41% และมี 51% ของผู้บริโภคชาวไทยซื้อของผ่านแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย อีกด้วย อย่างไรก็ตามภาพรวมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย ยังเปรียบเสมือนอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งหมดสูงถึง 30% ในปี พศ. 2561 ประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้น

ดร. สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist แห่ง Sea (Group) กล่าว “ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย เราได้เห็นแนวโน้มการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง Sea Insights หรือหน่วยงานวิจัยของ Sea จัดทำการศึกษา ‘E-Commerce & SMEs Uncovering Thailand’s Hidden Assets’ ในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็น การสำรวจผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยสำรวจจากผู้ขายและร้านค้าบนช้อปปี้ราว 7,000 ราย เพื่ออยากจะสร้างเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทของอีคอมเมิร์ซ ในการสร้าง ‘การเติบโตแบบทั่วถึง’ หรือ Inclusive Growth ทั้งในเชิงรายได้ การจ้างงาน เชิงโลเคชั่น และประสิทธิภาพในการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยความเจริญทางเศรษฐกิจสามช่องทางหลักๆ คือ การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ SME การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนนอกกรุงเทพ และการเปิดช่องทางคนที่อาจอยู่นอกตลาดแรงงาน เช่น นักเรียน แม่บ้าน ผู้สูงอายุ มีรายได้เสริม หรือกลุ่มที่เราเรียกว่าเป็น ‘Hidden Entrepreneurs’ ทางทีมหวังว่าองค์ความรู้นี้จะมีประโยชน์ไม่ใช่แค่กับทางบริษัทแต่กับทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทในการร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศน์แห่งเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเราเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน จะมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจนี้”

กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแบบดั้งเดิม (Traditional SMEs) คือ กลุ่มที่มีร้านค้าออฟไลน์และเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยสร้าง 1) รายได้ อีคอมเมิร์ซสามารถเพิ่มการเติบโตทางกำไรให้ผู้ขายถึง 133% สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทั้งช่องทางขายออนไลน์และออฟไลน์ คิดเป็นค่าเฉลี่ยการเติบโตต่อปีถึง 51% โดยอัตราการเติบโตทางรายได้มีหลายอัตรา เริ่มตั้งแต่ 93% สำหรับผู้ประกอบการที่มียอดขายจากช่องทางออนไลน์เพียง 20% และ สูงถึง 369% สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีช่องทางขายออนไลน์เพียงอย่างเดียว (มียอดขายจากช่องทางออนไลน์มากกว่า 80%) 2) ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้มากถึง 128% เพราะผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้จำนวนแรงงานที่เท่าเดิมหรือน้อยลง ในการดำเนินงานผ่านอีคอมเมิร์ซ และยังสามารถเพิ่ม ‘ประสิทธิภาพ’ หรือ รายได้ต่อลูกจ้าง ให้มากขึ้นอีกด้วย เนื่องด้วยภาวะขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซจึงกลายเป็นหนึ่งเครื่องมือเศรษฐกิจสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม 3) อัตราการจ้างงาน ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 46% ผู้ประกอบการรายย่อยบนอีคอมเมิร์ซตัดสินใจใช้กำไรที่ได้ในการจ้างงานเป็นอันดับต้นๆ อีกด้วย

กลุ่มผู้ขายที่อยู่นอกกรุงเทพฯ (Sellers outside Bangkok) อีคอมเมิร์ซสามารถช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ได้กำจัดพื้นที่อยู่แค่ตลาดท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการรายย่อยนั้นดำเนินการอยู่ เป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ขายในการเข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ (Market Discovery) โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าก่อนอีคอมเมิร์ซ มีเพียง 45% ของผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถส่งสินค้าออกไปขายนอกต่างจังหวัดตนเอง หลังการเข้ามาของอีคอมเมิร์ซ เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวเพิ่มเป็น 81% อีคอมเมิร์ซไม่เพียงลดข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ให้กับผู้ขาย แต่ยังลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและช่วยกระจายรายได้ โดยเฉพาะผู้ขายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ หลังจากเริ่มใช้อีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคเหนือถึง 92% สามารถส่งสินค้าออกนอกภูมิภาคของตนเองได้ จากเดิมมีเพียง 43% เท่านั้น

กลุ่ม ‘Hidden Entrepreneurs’ อีคอมเมิร์ซช่วยให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแบบใหม่ ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแบบดั้งเดิม หรือ กลุ่มผู้ขายที่เคลื่อนจากร้านค้าออฟไลน์สู่แพลตฟอร์มออนไลน์เพียงอย่างเดียว กลุ่มดังกล่าวเรียกว่า กลุ่ม ‘Hidden Entrepreneurs’ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มองหาช่องทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยไม่มีข้อกำจัดในการตั้งร้านค้า กลุ่ม ‘Hidden Entrepreneurs’ ประกอบไปด้วย 63% เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘Full-time responsibilities’ เช่น นักเรียนนักศึกษา แม่บ้าน ซึ่งจากกลุ่มคนเหล่านี้ มีจำนวนถึง 58% ที่ไม่ใช่ผู้ที่มีรายได้หลัก (Primary Earners) และ 75% เป็นเพศหญิง วัตถุประสงค์ในการใช้อีคอมเมิร์ซก็แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ‘Hidden Entrepreneurs’ ในขณะที่กลุ่มแม่บ้านมองเรื่อง ‘เวลากับครอบครัว’ เป็นปัจจัยสำคัญ กลุ่มนักศึกษามองเรื่อง ‘ไอเดียทางธุรกิจ’ ที่สามารถทดลองได้บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยสำคัญ ในด้านของการใช้กำไรที่ได้จากอีคอมเมิร์ซ มีความแตกต่างในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มแม่บ้าน เลือกที่จะเก็บออมสำหรับดูแลครอบครัว ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาเลือกใช้เพื่อการเรียน เป็นต้น

สรุปคืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเปรียบเสมือนยังอยู่ใน “วัยเยาว์” ที่ไม่เพียงเติบโตอย่างรวดเร็วแต่มีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการอยู่ตลอด ผลสำรวจ ‘e-Commerce & SMEs Uncovering Thailand’s Hidden Assets’  ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของอีคอมเมิร์ซสู่การเป็น ‘เพื่อนคู่คิดภาคดิจิทัล’ สำหรับผู้ขายอย่างเต็มรูปแบบ และเผยให้เห็นถึงบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงกว้าง ผ่านการสร้าง ‘การเติบโตแบบทั่วถึง’ (Inclusive Growth) ทั้งในเชิงรายได้ การจ้างงาน ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดข้อจำกัดด้านที่ตั้งของร้านค้าและผู้ประกอบการรายย่อย สำหรับสามกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแบบดั้งเดิม กลุ่มผู้ขายที่อยู่นอกกรุงเทพฯ และ กลุ่ม ‘Hidden Entrepreneurs’



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner คาดการณ์ความท้าทายองค์กรยุค AI พนักงานอาจเจอปัญหาเสพติดดิจิทัล โครงสร้างองค์กรอาจเปลี่ยนไป

Gartner บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เผยการคาดการณ์กลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2025 โดยชี้ให้เห็นว่า Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อการทำงา...

Responsive image

จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android หมายความว่าอย่างไร ?

รู้หรือไม่? จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android บ่งบอกว่ากล้องหรือไมโครโฟนกำลังทำงาน ควบคุมความเป็นส่วนตัวของคุณด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ต้องรู้!...

Responsive image

สรุปอนาคตงานปี 2025-2030 จาก World Economic Forum งานไหนมาแรง ทักษะใดสำคัญ

World Economic Forum ออกรายงานประจำปีในหัวข้อ Future of Jobs Report 2025 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตโดยอ้างอิงข้อมูลจากนายจ้างกว่า 1,000 รายทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของพ...