รู้จักและเข้าใจ 'EEC Tech Inno Hub' เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT | Techsauce

รู้จักและเข้าใจ 'EEC Tech Inno Hub' เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT

การผลักดันการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนประเทศ น่าจับตายิ่งขึ้นหลังจากมีการจัดทำ โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Deep Tech Ecosystem และล่าสุด การลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลักดันให้พื้นที่ EEC เป็น เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT (EEC Tech Inno Hub) 

เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการด้าน Smart IoT กับศักยภาพในการผลักดัน EEC Deep Tech Ecosystem

หัวขบวนที่ลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้การเงินและการลงทุนธุรกิจระหว่างประเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา และร่วมส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เป็น เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT นำโดย

EECภาพการลงนามความร่วมมือเพื่อร่วมผลักดันให้พื้นที่ EEC เป็นเมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ในวันที่ 6 กันยายน 2566 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้การเงินและการลงทุนธุรกิจระหว่างประเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล 
    ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง 
    ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
  • คุณภานุวัฒน์ พรหมศิริ 
    กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด
  • คุณภานุวัฒน์ พรหมศิริ 
    กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด 

งานนี้จัดเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมและสร้าง ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBE) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เมืองศูนย์กลางนวัตกรรม ซึ่งมี 10 หน่วยงานเข้าร่วมขบวน ได้แก่ 

  1. เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูง (EECh) 
  2. นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ 
  3. มหาวิทยาลัยบูรพา 
  4. คูโบต้าฟาร์ม 
  5. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) 
  6. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) 
  7. เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) 
  8. เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง (EEC STP) 
  9. เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) 
  10. เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

EEC

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เกริ่นถึงการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่และภูมิภาคของ NIA ว่า เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่มุ่งนำเอาสินทรัพย์ทางนวัตกรรมผนวกกับศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ มาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หลายๆ คนถาม แค่ไหนเรียก Deep Tech แน่นอนที่สุด ต้องเป็นสิ่งที่ยาก ต้องมีสิทธิบัตร มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ป้องกันการเลียนแบบ มันเป็นสิ่งที่ต้องทำวิจัยซึ่งต้องใช้เวลานานเพราะเป็นการวิจัยขั้นสูง แต่สิ่งเราอยากจะบอกคือ ประเทศที่พัฒนาไปไกลมากๆ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนา Deep Tech สำคัญในเชิงการแพทย์, IoT, Robotics หรือการใช้ในทางการแพทย์ เกษตรและอาหาร แต่ทีนี้การจะพัฒนา Deep Tech ให้มันเกิดขึ้นในไทย โดยเฉพาะเรื่องของ Deep Tech Startup จะเกิดขึ้นที่ไหน แน่นอนที่สุด เราหาเจอได้ง่ายในมหาวิทยาลัยที่สอนด้านเทคโนโลยี เช่น ม.บูรพา ที่เป็นตัวแทนสำคัญของภาคตะวันออก หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ที่อยู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้

สำหรับการนำสินทรัพย์ทางนวัตกรรมมาผนวกกับศักยภาพของพื้นที่ NIA กำหนดขอบเขตการศึกษาใน 3 ระดับ ได้แก่ ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เมืองนวัตกรรม (City Innovation) และ ย่านนวัตกรรม (Innovation District) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ส่งเสริมการการพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ 


นอกจากนี้ NIA ยังมีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่จำนวน 10 จังหวัดศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม และ 10 ย่านนวัตกรรม ในปี 2570 ซึ่ง EEC เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาที่มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมในการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 ได้ แสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของ NIA ซึ่งประกอบด้วย

  • FoodTech & AgTech 
  • TravelTech 
  • MedTech 
  • Climate Tech และ 
  • Soft Power 

ดร.กริชผกากล่าวย้ำถึงการสร้างแรงผลักดันในการยกระดับ SMEs / Startup / SE ให้เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่สามารถยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมมากขึ้น ตลอดจนทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและรู้จักในฐานะ 'ชาตินวัตกรรม' โดย NIA เลือกใช้กลไกการสนับสนุนที่เรียกว่า Groom - Grant - Growth กล่าวคือ

  • การพัฒนาทักษะด้านกำลังคนและเพิ่มจำนวนองค์กรนวัตกรรม (Groom) 
  • การสนับสนุนด้านการเงิน (Grant) 
  • การทำให้ธุรกิจนวัตกรรม สินค้าและบริการนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับและรู้จัก (Growth)

EEC Deep Tech Ecosystem

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อปี 2565 จัดทำกลไกส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของเทคโนโลยีเชิงลึกในเขตพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Deep Tech Ecosystem) โดยสรุปได้ว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศหลากหลายด้าน อาทิ

  • มีความโดดเด่นในด้านทำเลที่ตั้ง 
  • มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นทั้งสถาบันวิจัยและการศึกษาชั้นนำทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงลึก 
  • มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก 
  • มีแหล่งอาหารและที่พักที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 
  • มีสถานบริการทางด้านการแพทย์ครบวงจร 
  • มีการขยายตัวด้านการคมนาคมในพื้นที่ รวมไปถึงนโยบายพิเศษของภาครัฐที่สนับสนุนด้านการลงทุน นำไปสู่พื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงลึกชั้นนำระดับโลก ฯลฯ

ด้วยศักยภาพที่มีอยู่รอบด้านของ EEC นำมาสู่การเริ่มจัดตั้งศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลไกและเครื่องมือสนับสนุนในการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึก และเป็น พื้นที่ทดลอง (Sandbox) ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาใช้บริการและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม

สำหรับอุตสาหกรรมที่ ม.บูรพาโฟกัส คือ Digital, IoT, AI สำหรับ Healthcare และ Digital, IoT, AI สำหรับ Industry สาเหตุที่เราโฟกัสเพราะเราเริ่มที่สองอุตสาหกรรมนี้ก่อน เนื่องจากเราเห็นตลาดชัดเจน ดังที่ ดร.กริชผกาพูด คือ 'ตลาดสำคัญที่่สุด' และเมื่อเราเห็นตลาด เราอยู่ในวงการ Healthcare มานาน มี 2 บริษัทที่รู้จักตลาดนี้ดีจึงมีความพร้อมที่จะพาน้องๆ เข้ามา ส่วน Industry เรามี EEC Automation Park ซึ่งเป็นตลาดอยู่แล้วและในนั้นมีมากกว่า 2,000 บริษัท เพราะฉะนั้น ต้องพาผู้ประกอบการด้านเทคเข้าตลาดให้ได้ ถ้าพาเข้าตลาดไม่ได้ มันจะกลายเป็นเทคที่เอาไว้โชว์ตามงาน

EEC Tech Inno Hubหลังการเซ็น MOU มีการเสวนาในหัวข้อ มุมมองในการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจนวัตกรรมของเทคโนโลยีเชิงลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกสู่สากล ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้การเงินและการลงทุนธุรกิจระหว่างประเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา

เพราะการเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่รอดและเติบโตต่อเนื่องนั้นไม่ง่าย กอปรกับสถิติที่มีสตาร์ทอัพมากกว่า 90% ทำธุรกิจแล้วล้มเหลว ผศ.ดร.ณยศจึงอธิบายถึงการผลักดันให้ระบบนิเวศ Deep Tech ให้แข็งแกร่ง ผ่านความร่วมมือและการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่สตาร์ทอัพในพื้นที่ Sandbox แห่งนี้ 

ไอเดียของเรา ไม่เสียดายถ้าทำสตาร์ทอัพแล้วเจ๊ง แต่เราขอให้เจ๊งที่นี่ เพราะมีตึกให้คุณได้ใช้พื้นที่ฟรี อย่างน้อยก็ไม่มีหนี้ค่าไฟ  ไม่มีค่าเช่าออฟฟิศ ซึ่งหนี้หลักๆ ของบริษัทเกิดใหม่คือ การจ่ายค่าสาธารณูปโภคกับเงินเดือน ให้เขาจ่ายแต่เงินเดือน พิสูจน์ตัวเองไป ขณะเดียวกัน เราก็กำลังหา Funding เพิ่ม ซึ่งถ้าคุณรอด คุณจะได้เจอนักลงทุนที่มีสายป่านยาวกว่านี้ หรืออาจเจอ Angel Investor ที่เจ๋งกว่านี้

ต่อด้วยการให้ข้อมูลทิ้งท้ายว่า ในปี 2566 มีหน่วยงานพันธมิตรมากมายที่พร้อมให้บริการในพื้นที่ EEC ดังนี้

  • โครงสร้างพื้นฐานภายในมหาวิทยาลัยบูรพา : EEC Genomic Center / EEC NET : Tourism Innovation Lab / EEC Automation Park / EEC EV Conversion / EAST PARK BUU ซึ่งเปิดพื้นที่ในการเป็น Co-working Co-office และ Co-lab เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของบริษัทด้าน Smart IoT พร้อมด้วยการบ่มเพาะธุรกิจแบบเร่งอัตราการเติบโตที่สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้

  • คูโบต้า ฟาร์ม : แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรครบวงจร เป็นธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน FoodTech & AgTech มีบริการพื้นที่ทดสอบ (Sandbox) ในการเพาะปลูกพันธุ์พืชเพื่อศึกษาและวิจัยต่อยอดการพัฒนา

  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) : บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบดาวเทียมในสภาวะต่าง ๆ ได้แก่ ทดสอบการสั่นสะเทือน ทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ ทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ และทดสอบคุณสมบัติของมวล โดยเปิดให้บริการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการบินในประเทศไทย  เช่น บริการวิเคราะห์ทดสอบการสั่นสะเทือนของวัสดุรถยนต์ บริการทดสอบคุณสมบัติของชิ้นส่วนเครื่องบิน

  • เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) : ศูนย์กลางนวัตกรรมในการช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่

สอง Deep Tech Startup ลูกหม้อ ม.บูรพา ที่ร่วมเซ็น MOU

EEC Deep Tech Ecosystem

มาที่ 2 สตาร์ทอัพผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกสู่อุตสาหกรรม Healthcare ที่ ผศ.ดร.ณยศ กล่าวถึง ข้างต้น คุณภานุวัฒน์ พรหมศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัทเอกชนที่ได้แยกตัว (Spin-off) ออกมาจากมหาวิทยาลัยบูรพาว่า บริษัทให้บริการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ จากการใช้ AI Machine Vision พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับ Smart Living, Smart Care, Smart Health ที่ชื่อ กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์มด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร บริหารจัดการดูแลได้ทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วย โดยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน กับโรงพยาบาล และหากระบบตรวจพบว่า เกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้สูงอายุ ก็จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียกมาให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที 

สำหรับการร่วมเซ็น MOU เซนโกรทให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม IoT การดำเนินชีวิตอัจฉริยะ การทดสอบผลิตภัณฑ์ การต่อยอดเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม ต่อยอดธุรกิจสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่วิเคราะห์ทดสอบ และเชื่อมโยงองค์กรขนาดใหญ่ในการนำแพลตฟอร์มไปใช้งาน โดยคาดหวังในการเชื่อมโยงและเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกกับหน่วยงานร่วมในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจและการใช้ข้อมูลร่วมกัน

EEC Tech Inno Hubกิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร 

ปิดท้ายด้วย บริษัท แวมสแตค จำกัด (VAMStack) อีกหนึ่งสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ที่มาร่วมเซ็น MOU โดยเป็นบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Video Analytics Management (VAM) ที่ spin-off มาจากแล็บวิจัยและพัฒนาทางด้านวิศวกรรมระบบสมองกลฝังตัว คณะวิศวกรรมศาสตร์ และแล็บวิจัยและพัฒนาทางด้านวิเคราะห์ภาพขั้นสูง คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา

คุณธนินท์ อินทรมณี กรรมการผู้จัดการ VAMstack กล่าวว่า บริษัทร่วมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจนวัตกรรมและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการฝึกงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา สนช. และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทรัพยากรในโครงการวิจัยและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ IoT และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจในเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IoT ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความต้องการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตและเชื่อมโยงกับตลาดโลก สร้างประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KKP คาดอสังหาฯ ไทยปี 2567 หดตัว บ้านใหม่เสี่ยงค้างสต๊อกสูงสุดใน 8 ปี หวังมาตรการใหม่ช่วยกระตุ้น

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผย ตลาดอสังหาฯ ไทยปี 2567 ยังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดชะลอตัวได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90%...

Responsive image

อีคอมเมิร์ซจีนเร่งบุกตลาดต่างประเทศ รับมือเศรษฐกิจซบเซา ผ่านแคมเปญ Singles Day

หลังจากเทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสดปีที่แล้วที่ซบเซาที่สุดในประวัติศาสตร์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนจึงตระหนักว่าการขยายตลาดไปต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็น...

Responsive image

Pink Tech ไทย กำลังมา! ศูนย์ AI มธ. ชี้ กรุงเทพฯ จ่อขึ้นแท่นศูนย์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานล่าสุด "Unlocking the Power of Pink Tech in Thailand" โดยศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Canvas Ventures International (CVI) เผยให้เห็นศักยภาพอันมหาศาลของประเทศไทยในกา...