ไปรษณีย์ไทย เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้โอกาสจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการค้าขายข้ามแดนที่กำลังบูมสุดๆ เผยครึ่งปีแรกทำรายได้ 10,602.30 ล้านบาท มีกำไร 136.60 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศมีรายได้ 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวม พร้อมชูบริการเรือธง 'EMS World ส่งด่วน ทั่วโลก' ระบบขนส่งที่จะมีพันธมิตรและแพลตฟอร์มระดับโลก มาร่วมพาทุกธุรกิจไทยที่ต้องการบริการขนส่งเข้าถึงกว่า 200 ปลายทาง และเดินหน้าผลักดันการใช้ Asset ที่มีอยู่เดิม มาสร้างบริการใหม่และเพิ่มมูลค่า (Increase Value)
สำหรับสินค้าที่นิยมส่งผ่านไปรษณีย์ไทย คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร ของสะสม ส่วนประเทศปลายทางที่ได้รับความนิยมในการส่งระหว่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้ทำให้การค้าออนไลน์และการค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลกมีการขยายตัว รวมถึงประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีการซื้อขายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างคึกคัก และคาดการณ์ว่าตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท จากแรงบวกที่สำคัญนี้ไปรษณีย์ไทยจึงมุ่งที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ผ่านการเป็นแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการขนส่งเพื่อรองรับและมอบความสะดวกด้านการขนส่งให้กับคนไทย ซึ่งมีความพร้อมอย่างมากทั้งในด้านเครือข่าย จุดให้บริการ วิธีการขนส่ง รวมถึงความน่าเชื่อถือของงานบริการ ที่สอดรับกับข้อกำหนดการขนส่งและการค้าทั่วโลก
ทั้งยังคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศจะทำรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท โดยบริการเรือธงที่ทำรายได้หลัก ได้แก่ บริการ EMS World บริการส่งพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ, บริการส่งแบบลงทะเบียนระหว่างประเทศ, บริการ ePacket
ดร.ดนันท์กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้การติดต่อและค้าขายข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ไปรษณีย์ไทยจึงได้วางบริการหลักที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยและขับเคลื่อนภาคธุรกิจไปสู่ตลาดโลกคือ 'EMS World ส่งด่วน ทั่วโลก' โดยบริการนี้ได้รับความนิยมสูงสุดของกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศ ตอบสนองลูกค้าในด้านความรวดเร็วได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังมีศักยภาพที่พร้อมจะรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้กับหลากหลายธุรกิจ ได้แก่
"ภาพรวมของการให้บริการส่งระหว่างประเทศของไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งในด้านเครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศที่กว้างไกล ครอบคลุม 205 ปลายทาง 193 ประเทศ สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อาจยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น พื้นที่เกาะ ภูเขา และปลายทางห่างไกล เช่น อียิปต์ เอสโตเนีย อาร์เจนตินา และประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ กวม หมู่เกาะมารีนา
"นอกจากนี้ จากข้อบังคับเชิงสังคมของสหภาพสากลไปรษณีย์ ทำให้ไปรษณีย์ไทยมีภารกิจในการให้บริการพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (universal postal service) อีกทั้งยังมีความสะดวก ค่าบริการที่จริงใจ ไม่มีการบวกเพิ่มเติม เช่น Fuel Surcharge ภาษีสนามบิน และยังมีบริการเสริมให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ ระบบเตรียมจ่าหน้า บริการ Fulfilment บริการฝากส่งแบบรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ระบบ IOSS (ยุโรป) ฯลฯ" ดร.ดนันท์กล่าว
อีกด้านของการสร้างรายได้เข้าองค์กร ดร.ดนันท์เล่าเพิ่มว่า ไปรษณีย์ไทยผลักดันการนำสินทรัพย์ (Asset) และทรัพยากร (Resource) ที่มีอยู่เดิม มาสร้างบริการและเพิ่มมูลค่า (Increase Value) โดยยกตัวอย่าง Outlet สาขาของที่ทำการไปรษณีย์ กับการให้บริการของบุรุษไปรษณีย์ในพื้นที่ต่างๆ
ยกตัวอย่าง Outlet สาขาของที่ทำการไปรษณีย์สามเสน ใกล้ BTS สะพานควาย ที่ไปรษณีย์ไทยปรับโฉมใหม่เป็น POST café แบรนด์ร้านกาแฟภายใต้ไปรษณีย์ไทย ที่จะมีกาแฟให้เลือกหลากหลาย และจะเปิดให้บริการต้นเดือนสิงหาคมนี้
"เรากำลังจะเข้าสู่ Lifestyle Brand สำหรับ Asset อย่างร้านกาแฟนี้ เรา Increase Value ด้วยการเปลี่ยน Outlet เป็นร้านกาแฟ และกาแฟที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่น เพราะจะมีกาแฟเวียดนาม กาแฟชะมด มาจำหน่ายด้วย จากการเชื่อมโยงกับไปรษณีย์ประเทศอื่นๆ เป็นเน็ตเวิร์ก" ดร.ดนันท์กล่าว
ด้านบุรุษไปรษณีย์ ดร.ดนันท์เปิดเผยว่า กำลังทดสอบโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้แก่บุรุษไปรษณีย์ในบางพื้นที่ก่อน โดยไปรษณีย์ไทยจะเทรนพนักงานให้สามารถทำงานบางอย่างเพิ่ม แล้วเกิดเป็นรายได้เสริม
เนื่องจากไปรษณีย์ไทยเป็นธุรกิจที่เติบโตจากการให้บริการแบบออฟไลน์ บุรุษไปรษณีย์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะรู้เส้นทางเป็นอย่างดี ใกล้ชิดคนในชุมชนหรือท้องถิ่น และสามารถเข้าถึงผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ได้ไม่ยาก
"เรากำลังเทสต์ Silver Marketing กับคน Gen X ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดและบางส่วนก็ใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ถนัด โดยเราทำเทสต์เน็ตเวิร์กในพื้นที่ภาคตะวันออกมาแล้ว 2 เดือน นำเสนอสินค้าแก้ปวดเมื่อย ช่วยคนที่นอนไม่หลับ โดยมีโบรชัวร์ที่ใช้ฟอนต์ใหญ่ๆ ส่งให้ถึงบ้าน เพราะเขาไม่ได้ออกไปไหน เจอแต่บุรุษไปรษณีย์ ถ้าดูแล้วอยากได้สินค้าอะไรก็สามารถแจ้งที่บุรุษไปรษณีย์ได้เลย แล้ววันรุ่งขึ้นบุรุษไปรษณีย์ก็เอาของมาส่งให้"
ไอเดียเพิ่มช่องทางการขายสินค้า พ่วงกับการเพิ่มทักษะให้บุรุษไปรษณีย์นี้ ดร.ดนันท์เปิดเผยในตอนท้ายว่า เกิดจากการศึกษาตลาดต่างประเทศแล้วเห็นเคสที่ประสบความสำเร็จ
"เราเห็น Success Cases จากคนอื่นในโลกที่ทำไปแล้ว ว่ามีการเทรนพนักงาน เทรนบุรุษไปรษณีย์เรื่อง UI UX Interface หรืออย่างในอินเดียมี India Post ฝึกบุรุษไปรษณีย์เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ก็สามารถสร้างเป็นจุดแข็งให้พนักงานได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับที่ประเทศไทยจะมี Virtual Bank ในอนาคต"
สำหรับการเพิ่ม Job Value ไปรษณีย์ไทยวางแผนเพิ่มศักยภาพบุรุษไปรษณีย์ให้มากขึ้น และยังมีแผนจะแบ่งระดับทักษะความสามารถของพนักงานออกเป็น Tier ต่างๆ ด้วย
เป็นอีกมุมของไปรษณีย์ไทยที่ชวนให้ติดตามต่อ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด