เป็นที่จับตามองจากหลายฝ่าย ว่าผลจากที่ประชุมคณะกรรมการด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะออกมาในวันพุธที่ 27 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ค.ตามในไทย โดยกระแสคาดการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐต้องการให้กรอบเพดานเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย
นับตั้งแต่ต้นปี 2022 เฟดได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดในอัตราที่ 0.25% เมื่อเดือนมีนาคม หลังเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม แต่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯก็ยังคงดีดตัวสูงขึ้นอยู่ ส่งผลให้เฟดจำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบขึ้นบันได เป็น 0.50% นเดือนพฤษภาคม และ 0.75% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่สุดในรอบ 28 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวตามคาด
บางส่วนคาดการณ์ด้วยว่า เฟดอาจงัดยาแรงถึงขั้นขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1.00% ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีพื้นฐานชี้วัดเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 9.1% ในเดือนมิถุนายน แตะเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จากผลสำรวจของเว็บไซต์ CNBC ซึ่งทำการสำรวจบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และผู้จัดการกองทุนหลายแห่ง พบว่ามากถึง 63% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่าความพยายามของเฟดในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อหวังลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% จะสร้างภาวะถดถอยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 55% ยังเชื่อว่า สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 12 เดือนข้างหน้า ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤษภาคมราว 20%
เมื่อถามถึงว่าความพยายามของเฟดในการลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายที่ 2% จะสร้างภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ 63% เชื่อว่าจะเกิดภาวะถดถอย และอีก 22% เชื่อว่าจะไม่เกิด
"ชัดเจนว่าเฟดพยายามให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่เส้นทาง Soft Landing แต่ในความเป็นจริงนั้น เส้นทางนี้มันแคบ ซับซ้อนและยากมาก" Roberto Perli หัวหน้าฝ่ายวิจัยนโยบายระดับโลกของ Piper Sandler เสริมว่า “อันที่จริง ตัวชี้วัดบางอย่าง ได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจกำลังอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว หรือใกล้เคียงกับภาวะดังกล่าว”
แม้จะมีความกลัวว่าเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น แต่เฟดก็คาดว่าจะปรับขึ้นและไต่ระดับต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดในปีหน้า จะมีการผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันในบรรดาผู้ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเริ่มในเดือนธันวาคม และส่วนใหญ่คิดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเหมือนคราววิกฤติสินเชื่อซับไพรม์
Thomas Costerg นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสหรัฐ Pictet Wealth Management ให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป เฟดอาจพิจารณาระแวดระวังในการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น เนื่องภาวะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย เฟดอาจเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ อยางไรก็ตาม ส่วนตัวเขาเชื่อว่าเฟดจะไม่สามารถประกาศไต่ระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดไปได้เรื่อยๆจนถึงช่วงเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากการจ้างงานมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง และนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับพวกเขา"
นี่คือไทม์ไลน์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นับตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลือในปีนี้
25-26 ม.ค. ดอกเบี้ยคงที่ระดับ 0.25%
15-16 มี.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25-0.50%
3-4 พ.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 0.75-1.00%
14-15 มิ.ย. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 1.50-1.75%
26-27 ก.ค. (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 2.25-2.50%)
20-21 ก.ย. (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 2.75-3.00%)
1-2 พ.ย. (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.00-3.25%)
13-14 ธ.ค. (คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.25-3.50%)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด