คลัง ส่อแววเลื่อนเก็บ ภาษีขายหุ้น หลัง FETCO ยื่นขอให้มีการชะลอ ด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ | Techsauce

คลัง ส่อแววเลื่อนเก็บ ภาษีขายหุ้น หลัง FETCO ยื่นขอให้มีการชะลอ ด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ

กระทรวงการคลัง ส่อแววเลื่อนเก็บ "ภาษีขายหุ้น" หลังจากที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ยื่นหนังสือ ขอให้มีการชะลอ หลังเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องรอให้มีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

คลัง ส่อแววเลื่อนเก็บ ภาษีขายหุ้น หลัง FETCO ยื่นขอให้มีการชะลอ ด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ

คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม โดยจะต้องมีการเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งในช่วงนี้ทุกประเทศยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากสงครามรัสเซียและยูเครน และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม กระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว

ส่วนกรณีที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ส่งหนังสือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ผ่าน 5 ประเด็นนั้น ทางกระทรวงการคลังก็ได้มีการรับฟัง ส่วนจะเห็นชอบในการจัดเก็บภาษีช่วงใดนั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อไป

“การจะนำภาษีดังกล่าวมาใช้ จำเป็นต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ เศรษฐกิจของเราค่อยๆฟื้นตัว โดยภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยยังทำได้ดี ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 90% ในช่วงที่ผ่านมานั้น ในปีนี้หลังจากที่ประเทศคลายล็อกดาวน์ คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้ราว 7 ล้านคน” คุณอาคม กล่าว

ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะคิดในอัตรา 0.1% และเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ที่จัดเก็บในอัตรา 10% ของ 0.1%  จะทำให้มีภาระภาษีรวม 0.11 % ของยอดขาย

ขณะเดียวกันประเด็นที่ FETCO ได้มีการส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่

โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ โดยจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

2. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก

3. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจะจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม, กองทุนบำนาญ, กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนั้น ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 70 และ MM 5-10%)

ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว

4. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 34 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว

5. ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลงท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน

อ้างอิง prachachat

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB EIC เผยผลกระทบจาก Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความท้าทายด้านการค้า การผลิต และการลงทุน

ในปี 2568 โลกจะเริ่มเผชิญกับความท้าทายจากผลของนโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกว่า “Trump 2.0” ซึ่งถือเป็นการกลับมาใหม่ในเวอร์ชันที่มีอำนาจบริหารที่แข...

Responsive image

“Betagro Ventures” ร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มุ่งสร้างระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม Rubi Protein® ตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคต

“BETAGRO Ventures” หน่วยงานด้านการลงทุนและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ “บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ “BTG” ประกาศความสำเร็จในการร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มูลค่า 30 ล้านเหรีย...

Responsive image

ยกเลิกแบน iPhone 16 ไม่ง่าย อินโดฯ ยังไม่พอใจข้อเสนอลงทุน Apple ชี้ยังไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศ

เรื่องราวระหว่าง Apple และอินโดนีเซียดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแบน iPhone 16 ห้ามวางจำหน่ายในประเทศ ใครใช้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย...