ฟินแลนด์ครองอันดับ 1 ของยุโรป ด้าน Digital Economy and Society Index เจาะลึกบทเรียนสู่สังคมดิจิทัลไทย | Techsauce

ฟินแลนด์ครองอันดับ 1 ของยุโรป ด้าน Digital Economy and Society Index เจาะลึกบทเรียนสู่สังคมดิจิทัลไทย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิได้เผยรายงานว่า ฟินแลนด์ครองอันดับ 1 ของ EU ในด้าน Digital Economy and Society Index (DESI) ประจำปี 2022 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการวางรากฐานสู่สังคมดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง 

Digital Economy

ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1956  รัฐบาลฟินแลนด์ได้ติดตั้งคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในสถาบันความมั่นคงทางสังคมและในธนาคารและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ในการให้บริการสาธารณะและในระบบการเงินการธนาคาร โดยความพยายามดังกล่าวได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในช่วงปี 1990 ที่รัฐบาลฟินแลนด์มีการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมสารสนเทศ (Information society programmed) โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในสถาบันการศึกษา มีการพัฒนาเนื้อหาสารสนเทศสำหรับนักเรียนและการผลิตครู รวมถึงการให้ความรู้ประชาชนเพิ่มเติมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น การวางพื้นฐานดังกล่าวทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในด้านเทคโนโลยี เนื่องจากมีแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาการทำงานและการให้บริการทั้งของรัฐและเอกชน

เข็มทิศนำทางสู่ยุคดิจิทัล : Digital Compass 2030

ปัจจุบัน รัฐบาลฟินแลนด์ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ "Digital Compass" เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางสู่การปฏิรูปและพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศ โดยรัฐบาลฟินแลนด์กำหนดให้ใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยวางกรอบแผนงานในการปฏิรูปและพัฒนาระบบดิจิทัลในฐานะหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองในสังคม รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประโยชน์ แนวคิด และทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบเศรษฐกิจให้ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data economy)  มีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้าง "ฟินแลนด์ที่มีความสามารถทางดิจิทัลที่น่าดึงดูด สามารถแข่งขันได้ มีความยั่งยืนและเจริญรุ่งเรือง" โดยยึดถือหลักความยั่งยืน (sustainability) การฟื้นฟู (renewal) ความปลอดภัยทางดิจิทัล (digital security) การให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human-centric approach) การไม่แบ่งแยก (Inclusion) และการไว้วางใจกัน (trust) โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผน “Digital Compass” ซึ่งคาดหวังให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ในปีภายในปี 2030 โดยแผนยุทธศาสตร์นี้ครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่

  • ทักษะ (Skills): พัฒนาทักษะดิจิทัลของประชาชนทุกระดับ
  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): พัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
  • ธุรกิจ (Business): ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
  • ริการสาธารณะ (Public Services): พัฒนาบริการสาธารณะดิจิทัลที่เชื่อมโยงกัน สะดวก ปลอดภัย และตอบสนองความต้องการของประชาชน

ความร่วมมือคือหัวใจสำคัญ

ปัจจุบัน ฟินแลนด์มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและร่วมบูรณาการในการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการ digitalization ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนอย่างชัดเจน เริ่มจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ดูแลภาพรวมของการจัดเก็บข้อมูล การพัฒนาโครงสร้างและการให้บริการต่าง ๆ ของรัฐ อีกทั้งดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ และเตรียมพร้อมสำหรับแผนการบริหารงานต่าง ๆ ในด้านนี้ ส่วนในการกำหนดกรอบและเป็นผู้นำในกระบวนการ digitalization ของการบริการสาธารณะอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายสารสนเทศและการสื่อสาร (the Public Sector ICT department) ในขณะที่ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบดิจิทัลในระดับเทศบาลและท้องถิ่นอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่น และการบริหารจัดการส่วนภูมิภาค (the Department for Local Government and Regional Administration) 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงมีพันธกิจที่ต้องขับเคลื่อนให้แต่ละกระทรวงดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบาย digitalization ของรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่สำคัญสูงสุด คือ the Digital and Population Data Services Agency กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่พัฒนาข้อมูลรวมศูนย์ของเว็บไซต์ Suomi.fi ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริการของรัฐ เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ ให้ความสำคัญสูงสุดต่อ “ข้อมูลของประชาชน” โดยต้องดำเนินการยืนยันตัวตนของประชาชนในระบบอินเตอร์เน็ต (ประชาชนทุกคนต้องไปรับการยืนยันตัวตนด้วยการเก็บลายนิ้วมือ – Fingerprints ที่สถานีตำรวจ) ก่อนการให้บริการสาธารณะดิจิทัล และข้อมูลต่าง ๆ สามารถสืบค้นและส่งต่อไปยังเทศบาลท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณะดิจิทัล : ครอบคลุมทุกมิติชีวิต

ฟินแลนด์มีบริการสาธารณะดิจิทัลที่หลากหลาย ครอบคลุม 9 หมวดหมู่ เช่น

  1. การบริการด้านการท่องเที่ยว มีการให้บริการสำหรับประชาชนในการทำหนังสือเดินทาง โดยประชาชนสามารถดำเนินการทำหนังสือเดินทางได้ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานตำรวจเช่นเดียวกับการทำบัตรประชาชน 
  2. การบริการเกี่ยวกับการทำงานและการเกษียณ มีการให้บริการในเรื่องการจัดเก็บภาษีและการคืนภาษี โดยผู้เสียภาษีจะได้รับแบบฟอร์มการคืนภาษีซึ่งสามารถแก้ไขข้อมูลได้ทางออนไลน์ และในแบบฟอร์มจะมีข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ด้วยไม่ใช่แค่ข้อมูลติดต่อเท่านั้นซึ่งได้มาจากการที่นายจ้างส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานภาษีโดยตรงตามหลักการของการทำงานและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ การชำระภาษียังสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่น (บริษัท /นายจ้าง หรือบุคคลอื่น) ดำเนินการแทนได้ด้วย 
  3. การให้บริการเกี่ยวกับการขับขี่และพาหนะ มีการให้บริการเรื่องการออกใบขับขี่ โดยประชาชนสามารถขอออกใบขับขี่ (ใช้บริการขอตามขั้นตอนในรูปแบบดิจิทัลแต่ต้องผ่านการทดสอบการขับรถจริง) และต่ออายุได้ผ่านทางระบบ eServices ที่ให้บริการโดย Traficom 
  4. การให้บริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย โดยมีการให้บริการเกี่ยวกับการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ คือให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนที่อยู่ได้ในเว็บไซต์ออนไลน์ซึ่งรับผิดชอบโดยการไปรษณีย์ และ Population register center ซึ่งจะสามารถส่งต่อข้อมูลที่ประชาชนแจ้งเปลี่ยนแปลงต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานเอกชนต่อไปโดยอัตโนมัติ 
  5. การให้บริการด้านการศึกษาและเยาวชน มีการให้บริการห้องสมุดสาธารณะ ซึ่งมีเว็บไซต์ ‘libraries.fi’ ที่เป็นช่องทางเข้าสู่ห้องสมุดสาธารณะทั่ว ปท. ซึ่งประชาชนสามารถค้นหาหนังสือต่าง ๆ ได้อย่างเชื่อมต่อกันและขอยืมหนังสือได้ผ่านช่องทางนี้ 
  6. การให้บริการด้านสุขภาพ มีการให้บริการที่เรียกว่า ‘Kanta Services’ ซึ่งประกอบไปด้วยการให้บริการที่เรียกว่า My Kanta Pages คือ การสร้างเว็บไซต์ www.kanta.fi/en/my-kanta-pages ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและดูข้อมูลประวัติสุขภาพของตน ประวัติการจ่ายยา ขอต่ออายุใบจ่ายยา รวมถึงการแจ้งความจำนงขอบริจาคอวัยวะ ต่อมาบริการที่สองใน Kanta Services คือบริการที่เรียกว่า Patient Data Repository คือระบบที่จัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยซึ่งให้หน่วยงานสาธารสุขเข้าถึงได้เพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ และบริการที่สาม คือ Electronic prescription คือ การขอสั่งยาผ่านทางออนไลน์และแพทย์สามารถอนุมัติจ่ายยาได้ทางออนไลน์เช่นกันซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนนี้จะมีการจัดเก็บเข้าสู่ National Prescription Center โดยเภสัชกรเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของสถาบันประกันสังคม (the Social Insurance Institution of Finland: KELA) โดยเภสัชกรสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้และจ่ายยาให้กับประชาชนได้โดยอิงกับข้อมูลในระบบนี้ 
  7. การให้บริการด้านการจัดการครอบครัว ในเรื่องของการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร เงินส่วนนี้จะถูกจ่ายโดยอัตโนมัติจากสถาบันประกันสังคมทันทีที่มีการลงทะเบียนการเกิดโดยโรงพยาบาลในระบบลงทะเบียนของ Population Register Center ซึ่งเงินสงเคราะห์บุตรนี้จะถูกจ่ายจนกระทั่งเด็กมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ 
  8. การให้บริการเกี่ยวกับการบริโภค ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างภาคธุรกิจและประชาชน หน่วยงานภาครัฐอย่าง The Consumer Disputes Board จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งสามารถขอใช้บริการดังกล่าวได้ผ่านการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.kuluttajariita.fi/en/index.html 
  9. การให้บริการสำหรับภาคธุรกิจด้วย เช่น การจัดตั้งธุรกิจซึ่งภาคธุรกิจสามารถยื่นข้อมูลเปิดบริษัทได้ เช่น การยื่นขอสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เป็นต้น

ก้าวต่อไปของฟินแลนด์ : EU’s Digital Wallet และ AI

กระทรวงการคลังฟินแลนด์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ EU’s Digital Wallet (ระยะเวลาดำเนินโครงการนำร่องระหว่าง 26 เม.ย. 2024- 31 ธ.ค. 2026) ให้สอดรับกับ eIDAS Regulation ของ EU ซึ่งจะสามารถให้บริการสาธารณะที่สอดรับกับวิถีชีวิตของพลเมือง EU (ตรวจสอบการจ้างงานของประชาชน รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเสียภาษี การสั่งจ่ายเงินระหว่างประเทศ) โดยมุ่งเป้าไปที่การทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดให้อยู่ในระบบดิจิทัลที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย และที่ผ่านมา ฟินแลนด์ใช้ National artificial intelligence program หรือ AuroraAI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้ราบรื่นและมีความปลอดภัยของข้อมูลตรงตามหลักจริยธรรม ทั้งนี้ กระบวนการ Digitalization จะนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะที่สอดคล้องกับ Real Time Economy และ Data Economy ซึ่งรัฐบาลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับแก้นโยบายสาธารณะและกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป 

บทเรียนสู่ประเทศไทย

ความสำเร็จของฟินแลนด์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาการบริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้านและภาคธุรกิจผ่านทางช่องทางออนไลน์ เพราะหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันจนเป็นระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเดียวกัน ซึ่งไทยอาจศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการดิจิทัลที่ให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ครบวงจร ตลอดจนเทคโนโลยีเครือข่ายและ AI เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเท่าทันการพัฒนา E-government ของฟินแลนด์และประเทศอื่น ๆ ตาม slogan ของฟินแลนด์ที่ว่า “สังคมที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะสามารถก้าวนำสังคมอื่นได้ (Speed is essential – Digitalizing society)”

บทความโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดเส้นทางซานต้า ผจญภัยทั่วโลกเรียลไทม์ ส่งมอบความสุขบน Flightradar24 เทศกาลคริสต์มาสนี้

เทศกาลคริสต์มาสปีนี้ Flightradar24 ได้เปิดระบบพิเศษให้เราตามรถเลื่อนของซานตาคลอสได้แบบเรียลไทม์เลย! ไม่ใช่แค่เครื่องบินธรรมดา แต่เป็นรถลากเลื่อนที่ลากด้วยกวางเรนเดียร์คู่ใจของซานต้...

Responsive image

ครั้งแรกของโลก! นักวิจัยไทยพัฒนาชุดตรวจความเครียดจากเหงื่อ แม่นยำสูง ไม่ต้องเจาะเลือด

นวัตกรรมนี้ใช้เพียงก้านสำลีเก็บตัวอย่างเหงื่อจากรักแร้ 15 นาที สามารถตรวจพบสารเคมีที่บ่งชี้ภาวะเครียดได้อย่างแม่นยำสูง แก้ปัญหาการคัดกรองแบบเดิมที่ต้องพึ่งการสังเกตพฤติกรรมและการปร...

Responsive image

เจาะขุมทรัพย์ Mariah Carey ตลอด 30 ปีทำเงินไปกี่บาท ? ด้วย All I Want for Christmas Is You เพลงเดียว

สำรวจรายได้สุดมหาศาลของเพลง "All I Want for Christmas Is You" จาก Mariah Carey ที่ทำเงินเกือบ 3,700 ล้านบาทใน 30 ปี...