เทคโนโลยีควอนตัมกับโอกาสของประเทศไทย | Techsauce

เทคโนโลยีควอนตัมกับโอกาสของประเทศไทย

บทความโดยสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีควอนตัมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า “ควอนตัม” จะเป็นเทคโนโลยีพลิกผัน หรือเป็น ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก’ (Disruptive Technology)  ต่อจากยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจจะนำไปสู่โอกาสหรือข้อจำกัด ความได้เปรียบหรือข้อเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงของประเทศ 

จึงไม่แปลกที่หลายประเทศจะเร่งเดินหน้าศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยีควอนตัมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีควอนตัมในฟินแลนด์

ปี 2564 เทคโนโลยีควอนตัมได้ถือกำเนิดขึ้นในฟินแลนด์ โดยสถาบัน VTT Technical Research Centre ได้สร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่มีชื่อว่า HELMI และได้เชื่อมต่อกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LUMI ที่สร้างโดย CSC - IT Center for Science ในเมือง Espoo นับเป็นการทดลองครั้งแรกที่มีการผสมผสานซูเปอร์คอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ควอนตัมเข้าด้วยกันในทวีปยุโรป โดยมีเป้าประสงค์ให้นักวิจัยที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์

อันที่จริง “ควอนตัม” คือหลักการของการศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทฤษฎี หรือสสารใดสสารหนึ่ง ไปถึงในระดับอนุภาค บทบาทสำคัญของควอนตัมคือการพัฒนาการวัด คำนวณ ประมวลผล จัดส่งข้อมูลและเก็บข้อมูลของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และเครื่องมือทางการแพทย์

จากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก สู่ 'ความเป็นไปได้' รอบด้าน

เทคโนโลยีควอนตัมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่ภาคธุรกิจไปจนถึงการพัฒนาประเทศ

1. ความมั่นคง 
เทคโนโลยีควอนตัมจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการทหาร ยุทธศาสตร์ชาติ หรือข้อมูลเชิงธุรกิจ ตลอดจนช่วยยกระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพราะการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีควอนตัมสามารถปกป้องข้อมูลให้เป็นความลับโดยการเข้ารหัสผ่านเชิงควอนตัม ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้ารหัสจะไม่สามารถโจรกรรมได้

2. เศรษฐกิจ 
เทคโนโลยีควอนตัมเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาสูงมากและปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ประเทศที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ทุ่มการลงทุนในด้านควอนตัมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดว่าประเทศไหนที่เข้าถึงก่อน ก็ได้เปรียบทางการแข่งขัน เพราะเทคโนโลยีด้านควอนตัมถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเลยทีเดียว 

3. สาธารณสุข 
เทคโนโลยีควอนตัมเป็นพื้นฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ ช่วยในการวินิจฉัยโรคและคิดค้นยาที่เหมาะสมกับโรค ทำให้ต่อยอดในการรักษาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและประหยัดค่าใช้จ่าย

4. สังคม 
ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น การจราจร การบริหารจัดการน้ำ ทางอากาศ หรือการอำนวยความสะดวกด้าน Logistics ในภาพรวม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพนวัตกรใหม่ ๆ ในสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น นักเขียนโปรแกรมภาษาควอนตัม นักแปลภาษาควอนตัม เป็นต้น

5. การศึกษา ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ สร้างสรรค์พัฒนาทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียนให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานโลก และยกระดับการศึกษาโดยรวมของสังคมให้มีคุณภาพสูงขึ้น

6. ด้านสิ่งแวดล้อม 
ศักยภาพในการคำนวณของควอนตัมคอมพิวเตอร์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น การคำนวณเพื่อพัฒนาสูตรปุ๋ย การทำนายผลกระทบของสารเคมีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้สังคมปลอดฟอสซิลและบรรลุเป้าหมายของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น

ปลดล็อคศักยภาพของประเทศด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัม

VTT Technical Research Centre of Finland (VTT) รัฐวิสาหกิจมีพันธกิจและภารกิจเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ ให้บริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยและนวัตกรรมแก่ลูกค้าในและต่างประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักวิจัย รวมถึงบริษัทในฟินแลนด์และในภูมิภาคยุโรปมีความร่วมมือกับบริษัทฯ ด้วย โดยเฉพาะที่ผ่านมา สหรัฐฯ หรือหลายประเทศในยุโรป ก็มีความร่วมมือด้านควอนตัมกับฟินแลนด์ผ่าน VTT  

ที่ผ่านมา ฟินแลนด์ได้พัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 5 คิวบิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้ รวมถึงช่วยพัฒนาอัลกอริธึม ซอฟต์แวร์ควอนตัม และประเมินความเหมาะสมในการแก้ปัญหาการคำนวณเชิงปฏิบัติ ซึ่ง VTT เปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถศึกษาและประมวลข้อมูลโดยขอเชื่อมต่อ (คอมพิวเตอร์ของตนเอง) กับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LUMI (ตั้งอยู่ที่เมือง Kajaani) โดยผู้ใช้สามารถสั่งการคอมพิวเตอร์ควอนตัมได้จากคอมพิวเตอร์ของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่เมือง Kajaani  ซึ่งสามารถเริ่มใช้งานได้ทันที โดยมีเครื่องมือหลักในการเขียนอัลกอริธึม คือ โปรแกรม Qiskit และ Cirq ทั้งนี้ ที่สำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมในทุก ๆ ภาคส่วนสามารถขอรับการเชื่อมต่อกับ LUMI ได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดและประเภทของอุตสาหกรรม 

นาย Kimmo Koski กรรมการผู้จัดการของ บริษัท CSC ซึ่งเป็นศูนย์ไอทีด้านวิทยาศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ควอนตัมและการประมวลผลประสิทธิภาพสูงเป็นเทคโนโลยี2 เทคโนโลยี ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปูทางสู่อนาคต ซึ่ง LUMI เองถูกจัดเป็นหนึ่งในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก และ LUMI มีศักยภาพในฐานะผู้สนับสนุนชั้นเยี่ยมสำหรับการคำนวณทั้งทางวิทยาศาสตร์และเชิงพาณิชย์” และ ณ ปัจจุบัน VTT กำลังพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 20 คิวบิต โดยมีแผนพัฒนาอัปเกรดเป็น 50 คิวบิตในปี 2567

แนวทางของรัฐบาลฟินแลนด์

แม้ภาครัฐฟินแลนด์จะลงทุนด้านควอนตัมเพียง 24 ล้านยูโร หรือ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ติดหนึ่งใน 10 อันดับของโลกที่รัฐบาลจัดสรรการลงทุนภาครัฐในด้านเทคโนโลยีควอนตัม แต่การพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดใหญ่สูงขึ้นเรื่อย ๆ รุดหน้าแทบจะเป็นอันดับหนึ่งของโลก อาจจะแซงหน้าจีน เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสหรัฐฯ 

ประเทศส่วนใหญ่เหล่านี้ นำงบประมาณมาร่วมลงทุนเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกับฟินแลนด์ทั้งสิ้น โดยเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา VTT ได้มีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้านไบโอเทค ควอนตัม และเทคโนโลยี 6G ในขณะที่บริษัท IQM Computer ของฟินแลนด์ได้ร่วมสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม Leibniz Supercomputing Centre ในเยอรมนี 

เทคโนโลยีควอนตัมเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาสูงมากและปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้เทคโนโลยีควอนตัมมีความหลากหลายมาก ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของได้แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้ไทยตกขบวนที่นำโดยจีน สหรัฐฯ และโลกตะวันตก ไทยอาจพิจารณาเป็นฐานในการผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของควอนตัมได้  นอกเหนือจากบทบาทในการกำหนดค่ามาตรฐานทางมาตรวิทยาด้วยควอนตัมให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติได้*

โอกาสของเทคโนโลยีควอนตัมในไทย

ใช่ว่าไทยจะไม่มีทางคว้าโอกาสนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจพิจารณาแสวงหาแนวทางที่จะมีความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยนนักวิจัยหรือการจัดส่งนักวิทยาศาตร์ชั้นนำของไทยมาเรียนรู้หรือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมฟินแลนด์ และภายหลังการร่วมศึกษาพัฒนาก็นำองค์ความรู้กับไปพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย 

ที่ผ่านมา ฟินแลนด์จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีควอนตัมอย่างต่อเนื่อง การหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความเข้าใจทางด้านควอนตัมของหน่วยงานและนักวิจัยชาวไทย  อาทิ งาน International Conference on Quantum Control Engineering, Statistics and Analysis (ICQCESA) เมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และงานสัมมนา webinar หัวข้อ International Quantum Computing Calls วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือบริษัทเอกชนและและทีมวิจัยทั่วโลก จัดโดย Business Finland โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมได้ที่นี่

*อ้างอิง: แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2572 โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner คาดการณ์ความท้าทายองค์กรยุค AI พนักงานอาจเจอปัญหาเสพติดดิจิทัล โครงสร้างองค์กรอาจเปลี่ยนไป

Gartner บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เผยการคาดการณ์กลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2025 โดยชี้ให้เห็นว่า Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อการทำงา...

Responsive image

จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android หมายความว่าอย่างไร ?

รู้หรือไม่? จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android บ่งบอกว่ากล้องหรือไมโครโฟนกำลังทำงาน ควบคุมความเป็นส่วนตัวของคุณด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ต้องรู้!...

Responsive image

สรุปอนาคตงานปี 2025-2030 จาก World Economic Forum งานไหนมาแรง ทักษะใดสำคัญ

World Economic Forum ออกรายงานประจำปีในหัวข้อ Future of Jobs Report 2025 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตโดยอ้างอิงข้อมูลจากนายจ้างกว่า 1,000 รายทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของพ...