ฟอร์ท สมาร์ทฯ ผู้บริหารตู้บุญเติม และเต่าบิน ล่าสุดขยายธุรกิจสู่ตู้ชาร์จ EV ได้ฤกษ์เปิดตัวต้นแบบ GINKA Charge Point ก่อนลงตลาดในกลางปี 2023 ชูจุดเด่นไม่มีแอปฯก็ชาร์จได้ แค่เลือก-จ่าย-ชาร์จ ผ่านหน้าจอ Touch Screen เหมือนตู้บุญเติมและเต่าบิน พร้อมเดินหน้าหาเจ้าของพื้นที่ร่วมลงทุน เล็งขยายเป้าหมายแรกปีนี้ 5,000 จุด
บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ได้ฤกษ์เปิดตัวต้นแบบ GINKA Charge Point โดยโมเดลนี้จะเป็นธุรกิจร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเน้น Solution การบริหารจัดการแบบครบครัน ตั้งแต่ติดตั้งเครื่อง ระบบคิดเงินและจ่ายเงิน ระบบ Call Center ตลอด 24 ชม. พร้อมดูแลรักษาตลอดอายุสัญญา เป้าหมายแรกปีนี้ 5,000 จุด โดยจะเน้นในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ แต่จำนวนทั้งหมดนั้นเป็นการรวมทั่วทั้งประเทศ ก่อนจะขยายเพิ่มตามอัตราเร่งของจำนวนรถยนต์ในอนาคต จึงถือได้ว่าเป็น S-Curve ใหม่ที่จะทยอยสร้างรายได้ให้บริษัท
คุณพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” กล่าวว่า GINKA Charge Point เกิดจากการพยายามมองหาโอกาสด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกระแสความต้องการของผู้ใช้งานของกลุ่มบริษัท ฟอร์ท กรุ๊ป ด้วยการคิดค้นและพัฒนาจากทีมวิจัยและพัฒนา(R&D) ภายใต้บริษัทแม่อย่าง บริษัท ฟอร์ท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) “FORTH”
หลังจากประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ของช่องทางการเงินและชำระเงินครบวงจร “บุญเติม” ต่อเนื่องมาถึง ‘เต่าบิน’ Robotic Barista คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง
โดย GINKA Charge Point เป็นการผสานประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านการชำระเงินจาก "บุญเติม" เข้ากับนวัตกรรมและภาพลักษณ์สไตล์ "เต่าบิน" ที่มีความทันสมัย และยังคงคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ให้ใช้ง่าย สะดวก พร้อมด้วยบริการหลังการขายตลอดอายุการใช้งาน
สำหรับ GINKA Charge Point มีความแตกต่างด้านดีไซน์ที่ทันสมัย พร้อมกับระบบการจัดการสายชาร์จด้วยสายเคเบิลอัจฉริยะระบบจัดการสายไฟที่มีประสิทธิภาพที่สายดึงกลับ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานหัวชาร์จ ได้รวดเร็ว สะอาด และปลอดภัย ระบบการใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันบนมือถือ มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS เมื่อชาร์จเต็ม
และมีระบบการชำระเงินได้หลายช่องทาง อาทิ Mobile Banking ของทุกธนาคาร, E-Wallet และ GINKA เครดิต เช่นเดียวกับเต่าบิน ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในการเก็บเครดิตในเบอร์โทรศัพท์ของกลุ่มบริษัทฟอร์ทเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีบริการ Call Center ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง รวมถึงกรณีต้องการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญในการปรึกษาด้านระบบทั้งแบบออนไลน์ และในพื้นที่เพื่อบำรุงรักษาเครื่องให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาอีกด้วย
การเข้ามาในธุรกิจเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ซึ่งได้มีการพัฒนาและผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ FORTH แต่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนั้นมีปริมาณน้อย และยังไม่มีมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ จึงเป็นการทดสอบระบบ รวมถึงทำให้บริษัทได้มีระยะเวลาในการเก็บรวบรวมรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ จนทำให้บริษัทมีข้อมูล มาใช้ในการพัฒนา GINKA ในปัจจุบัน
ซึ่งทำให้ GINKA ได้มีปรับดีไซน์รูปแบบเครื่องและการใช้งาน ทั้งระบบสายชาร์จแบบเคเบิล ระบบการชำระเงิน และการสร้างตราสัญลักษณ์ เพื่อการจดจำ แตกต่าง น่าสนใจ สอดคล้องกับ “เต่าบิน” จึงออกมาเป็น “กิ้งก่า” ซึ่งมีสีเขียวสอดคล้องกับ Concept ความเป็น Green Energy และแนวคิดที่สามารถเปลี่ยนสีเครื่องตามสภาพแวดล้อมในจุดติดตั้ง
คุณณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส กล่าวว่า GINKA Charge Point เป็นเครื่องชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าที่ให้บริการแบบระบบไฟฟ้ากระแสสลับ หรือ AC ซึ่งจะออกสู่ตลาดก่อน และ DC จะตามมาในอนาคตซึ่งจะมีการพัฒนาในช่วงกลางปี 66 โดยบริษัทวางแผนให้บริการบนพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นประมาณ 5,000 จุด ด้วยงบลงทุน 200-300 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มติดตั้งได้ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2566 นี้
โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนของ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ลานเช่าจอดรถ ลานจอดในตลาด ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน เนื่องจาก GINKA Charge Point มีขั้นตอนการใช้ง่ายๆ
1.ผู้ใช้งานเสียบหัวชาร์จ
2.เลือกวิธีการชำระเงิน
3.ระบุจำนวนเงินที่ต้องการชาร์จ
4.ระบบจะทำการชาร์จโดยทันที
** หากเงินคงเหลือจากการชาร์จสามารถเก็บเป็นเครดิตในเบอร์โทรศัพท์ไปใช้ใน GINKA เครื่องอื่นได้
5. เมื่อชาร์จเต็มจำนวนเงินสามารถนำหัวชาร์จออกได้ทันที โดยจะมี SMS แสดงการชำระเงินสำเร็จ
ทั้งนี้ บริษัทไม่ต้องการจำหน่ายเครื่องชาร์จเพียงอย่างเดียว เพราะบริษัทมีรูปแบบทางธุรกิจและระบบที่ครบครันทั้งระบบ และการบริการ จึงได้นำรูปแบบการร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่มาใช้ เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ไม่ต้องลงทุนสูง และมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน
เจ้าของพื้นที่
GINKA
โดยการร่วมลงทุนจะเป็นการแบ่งรายได้การใช้บริการจากการชาร์จที่ชัดเจน และเป็นธรรมทั้งเจ้าของพี้นที่และบริษัท เจ้าของพื้นที่เพียงจัดเตรียมสถานที่ติดตั้ง พร้อมเดินระบบไฟจนถึงจุดติดตั้งเท่านั้น
ในด้านการลงทุนร่วมกัน บริษัทมีรูปแบบการสนับสนุนตั้งแต่การติดตั้ง การอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ Over-the-Air เชื่อมต่อระยะไกลและมีระบบซอฟต์แวร์การจัดการบนคลาวด์ที่ชาญฉลาด สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบ Real time และในส่วนของการรับประกันเครื่องตลอดอายุสัญญา ระบบสนับสนุนการใช้งาน ทั้งรูปแบบการคิดเงินตามการใช้งานจริง และสามารถสะสมเงินไว้ใช้ในครั้งถัดไปได้ มีระบบบริหารที่จอดรถ (ระบบล็อกล้อ ถ้าไม่จ่ายชำระจะไม่สามารถนำรถออกได้) ระบบคิดค่าบริการแบบรายชั่วโมง และรายยูนิต มีทีมงานที่เชี่ยวชาญให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน
ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญดูแลระบบทั้งแบบออนไลน์ และในพื้นที่เพื่อบำรุงรักษาเครื่องให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา มีเว็บไซค์ให้เจ้าของพื้นที่ได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้งาน และมีเจ้าหน้าที่ Call center ให้บริการ 24 ชม. ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในโมเดลธุรกิจแบบร่วมลงทุน ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ในการจัดเตรียมพื้นที่ และระบบไฟฟ้า
ขณะที่ GINKA มีหน้าที่ในการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจพื้นที่ก่อนติดตั้งเครื่องชาร์จที่พ่วงด้วย Solution ที่กล่าวมา เพื่อบริหารจัดการรายได้ผ่านเว็บไซต์ชอง GINKA นำมาซึ่งความสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ และสามารถต่อยอดนวตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อให้การร่วมลงทุนมีการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
“การเข้าสู่ตลาดของ GINKA จะช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการความสะดวกสบาย ใช้งานง่าย ลดขั้นตอนการติดตั้งแอพพลิเคชั่น สามารถใช้งานได้ทันที และจ่ายง่ายแค่สแกนจ่ายผ่าน QR code ที่หน้าจอเครื่อง หากเงินคงเหลือจากการชาร์จสามารถเก็บเป็นเครดิตในเบอร์โทรศัพท์เช่นเดียวกับสินค้าอื่นในเครือฟอร์ท กรุ๊ป” คุณณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่า GINKA Charge Point จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอนาคต และเป็น S Curve ตัวใหม่ให้กับ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ในการทยอยสร้างรายได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป อีกทั้งเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจร่วมธุรกิจ ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโต จากมาตรการของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ด้วยการมอบส่วนลดให้กับค่ายรถยนต์ที่เซ็น MOU เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ ช่วยผลักดันให้มีการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งจากค่ายรถยนต์และบริษัทเอกชนที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนเลือกซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันบริษัทฯ มีพาร์ทเนอร์ที่เป็นเต่าบินตอนนี้มีอยู่ประมาณ 70% ทั่วทั้งประเทศ ขณะที่พาร์ทเนอร์ตู้บุญเติมมีประมาณ 100%
** ขณะเดียวกันในส่วนของ "เต่าบิน" คาดว่าจะมีการยื่นไฟลิ่งช่วงต้น Q3/66 และเข้าตลาดปลายปีนี้
** ส่วนงบลงทุนของ FSMART ในปีนี้ 1,000-1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นในส่วนของ 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจตู้บุญเติม ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และธุรกิจกิ้งก่า EV
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด