Big Tech รายใหญ่ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Apple, Amazon, Facebook, Tesla และ Baidu เริ่มลดการพึ่งพาบริษัทชิปเซมิคอนดักเตอร์จากภายนอก และหันมาพัฒนาชิปด้วยตนเอง นักวิเคราะห์จาก Accenture มองว่านอกจากสาเหตุหลักที่มาจากปัญหาชิปไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว บริษัทเหล่านี้ต้องการชิปที่ผลิตขึ้นให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ (application) เฉพาะทาง มากกว่าจะใช้ชิปทั่วไปแบบเดียวกันกับคู่แข่ง
ในช่วงเวลานี้ เราอาจจะได้ยินข่าวสารยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีเปิดตัวโครงการผลิตชิปอยู่บ่อยครั้งไม่เว้นเดือน เริ่มจากตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 เมื่อ Apple ประกาศว่าจะเลิกใช้ชิปเซ็ตประมวลผลสถาปัตยกรรม x86 จากผู้ผลิตชิประดับโลกอย่าง Intel และหันมาออกแบบชิป M1 สำหรับประมวลผลระบบปฏิบัติการบน Macbook ซึ่งขณะนี้เริ่มต่อยอดมายัง iMac และ iPad รุ่นใหม่เป็นที่เรียบร้อย
ต่อมา Tesla ก็ประกาศว่ากำลังสร้างชิป “Dojo” เพื่อฝึกฝนเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ในระบบ Data Center ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2019 Tesla ก็ได้ผลิตรถยนต์ด้วยชิปประมวลผลด้วย AI ที่ออกแบบขึ้นมาเอง เพื่อช่วยให้ซอฟต์แวร์ที่อยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla สามารถตัดสินใจและตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนได้
เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา Baidu ก็ออกแบบชิป AI ที่ชื่อว่า “Kunlun 2” ช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของระบบสามารถประมวลผล Data จำนวนมาก และเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง Baidu กล่าวว่าชิป Kunlun 2 สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เช่นเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ และอาจจะพัฒนาต่อไปยังการผลิตระดับ mass production
นอกจากการประกาศอย่างเป็นทางการจากบริษัทเทคโนโลยีแล้ว ยังมีข่าวลือการผลิตชิปจากบริษัทอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ
Google อยู่ระหว่างช่วงเปิดตัวหน่วยประมวลกลาง หรือซีพียูของตนเองสำหรับแล็ปท็อป Chromebook และแท็บเลตที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Chrome คาดการณ์ว่าจะใช้งานภายในปี 2023
Amazon กำลังผลิตชิปที่ใช้สำหรับเครือข่ายคลาวด์ของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนฮาร์ดแวร์ย้ายข้อมูลไปใช้รอบเครือข่าย ซึ่งหากชิปที่ผลิตขึ้นมาได้ผลจริง Amazon อาจลดการพึ่งพาการผลิตชิปจากบริษัท Broadcom ในอนาคต
ในส่วนของ Facebook ไม่ได้มีแผนการผลิตชิปเป็นรูปเป็นร่างเท่าไรนัก แต่หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ AI ของ Facebook ได้กล่าวกับ Bloomberg ในปี 2019 ว่าบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนา”ชิปประเภทใหม่ที่จะแตกต่างไปจากชิปที่เห็นอยู่เดิมในปัจจุบันมาก”
ณ ตอนนี้ ยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีรายใดที่นำความคิดมาพัฒนาออกมาเป็นชิปของจริง
“ส่วนใหญ่บริษัทจะคิดถึงแต่การออกแบบรูปแบบชิป และประสิทธิภาพของชิปที่คาดหวัง” Russ Shaw อดีตกรรมการบริหารของ Dialog Semiconductor ในสหราชอาณาจักรกล่าวกับ CNBC “เพราะเมื่อมาถึงขั้นตอนการผลิตออกมาเป็นรูปร่างนั้น ต้องใช้ค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล”
หากบริษัทเทคโนโลยีจะผลิตชิปออกมาจริง ๆ จะต้องตั้งโรงงานผลิตขั้นสูง อย่างที่เกิดขึ้นกับ TSMC ผู้นำผลิตชิปจากไต้หวัน ที่ต้องลงทุนกับการผลิตถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ และใช้เวลาหลายปีกว่าชิปจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงแล้ว คนก็ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่บริษัทต้องเผชิญ Glenn O’Donnell ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Forrester ได้กล่าวกับ CNBC ว่า “บริษัทเทคโนโลยี และองค์กรใน Sillicon Valley ยังขาดคนที่มีทักษะขั้นสูงในการผลิตฮาร์ดแวร์ เพราะตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา Sillicon Valley ให้ความสำคัญกับคนในองค์กรที่มีความรู้ด้านซอฟต์แวร์เป็นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับชื่อของสถานที่ที่หมายความถึงหุบเขาแห่งส่วนประกอบชิปอย่างซิลิคอน”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด