จากเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เริ่มสั่งอาหารมารับประทานกันมากกว่าทำเองที่บ้าน ทำให้ผู้ให้บริการ Food Delivery เริ่มพิจารณาถึงการ Optimize ปรับจูนให้การส่งอาหารนั้นรวดเร็ว ฉับไว ตอบสนองลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะอาหารชื่อดังบางร้านก็อาจจะอยู่ไกลจากที่พัก หรือบางทีก็เป็นร้านยอดนิยมจนทำให้ผู้รับส่งอาหารต้องไปต่อคิวยาวและเสียเวลาเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของโมเดล Cloud Kitchen โมเดลธุรกิจที่เปิดสถานที่พร้อมอุปกรณ์ให้เป็นห้องครัวสำหรับร้านอาหารต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาทำอาหารสำหรับกระจายส่งต่ออีกที โดยที่ผู้สั่งไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขาทำอาหารมาจากที่ไหน คล้ายกับแนวคิด Cloud Service ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าโฮสอยู่ไหน
เทรนด์นี้จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่เยอรมันก็มีผู้ให้บริการอย่าง Keatz , ในสหรัฐก็มีผู้เล่นอย่าง Cloud Kitchens ที่มีนักลงทุนอย่าง Travis Kalanick (ผู้ร่วมก่อตั้ง Uber) เปลี่ยนพื้นที่อสังหาฯ ที่ซบเซามาทำเป็นครัว และในอินเดียก็มีผู้เล่นอย่าง Rebel Foods ซึ่ง GoJek พึ่งลงทุนไปนั้น ทั้งคู่เตรียมนำ Cloud Kitchens มาเปิดในอินโดนีเซียกว่า 100 แห่งในช่วง 18 เดือนข้างหน้านี้ โดยมีอาหารที่หลากหลายตั้งแต่อาหารจีน อาหารท้องถิ่น Nasi Goreng อาหารมุสลิมต่างๆ เป็นต้น สำหรับ GoJek โมเดลนี้ยังเริ่มต้นที่อินโดนีเซียก่อน แต่ฟากของ Grab ที่ไทยเราแว่วๆ ว่าจะทำ Cloud Kitchen เองด้วย
ธุรกิจ Food Delivery หลายคนยังสงสัยว่าระยะยาวจะเป็นเช่นไร เพราะต้องทุนหนา สายป่านยาวจริงๆ เลยไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นการระดมทุนกันอยู่เรื่อยๆ ของธุรกิจสายนี้ นอกจากต้องสู้ทั้งเรื่องราคา โปรโมชั่น นำเสนอบริการที่ดี และการควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด โมเดลของ Cloud Kitchen แม้ต้องลงทุนช่วงแรกพอสมควร แต่อาจมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
ที่มา: Straitstimes
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด