ถือเป็นเรื่องราวที่ร้อนระอุเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมที่จะเซ็นสัญญาข้อตกลงทางการค้า หรือการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ของ CPTPP โดยไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการในภาคส่วนต่าง ๆ หรือนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลต่างก็ออกมาแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านการเข้าร่วมดังกล่าว และล่าสุดคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะออกคำสั่งด่วนถอนวาระเรื่อง CPTPP ออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2563 แล้ว
CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับความตกลงดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006 ภายใต้ชื่อว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ต่อมาในปี 2017 สหรัฐอเมริกาได้ขอถอนตัวออกไป ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม พร้อมใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP แม้ว่าการเดินหน้าต่อโดยไม่มีสหรัฐอเมริกาจะทำให้ขนาดเศรษบกิจและการค้าของความตกลงดงกล่าวเล็กลง แต่ก็ตามมาด้วยการมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากการที่ไม่ต้องขึ้นกับอำนาจการต่อรองของสหรัฐที่เป็นประเทศขนาดใหญ่
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) สรุปไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
CPTPPจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ
การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป
CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ เพราะ CPTPP มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนขึ้นกว่า TPP ทำให้ไทยได้ประโยชน์ในส่วนนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมยา TPP เคยบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับการผูกขาดด้านยาเพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าถึงยาสามัญเป็นเรื่องยากสำหรับภาครัฐและประชาชนทั่วไป ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็จะยิ่งสูงตาม แต่สุดท้ายข้อตกลงนี้ถูกระงับไป ไทยจึงไม่จำเป็นต้องเสียประโยชน์ส่วนนี้แล้วหากต้องการเข้าร่วมกับ CPTPP
สำหรับภาคบริการ CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป
ประเทศไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น
หากลองคำนวนขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยจาก GDP แล้ว เมื่อปี 2562 สภาพัฒน์เผยว่าประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท โดยมาจากการส่งออกมูลค่ากว่า 7.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าการเกษตร ขณะที่การท่องเที่ยวมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งธุรกิจบริการก็เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวด้วย
ขณะที่ด้านความเห็นจากนักวิชาการ และนักการเมืองจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้านเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้
คุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า รู้สึกกังวลหากไทยต้องเข้าเป็นประเทศในสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV1991 ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดด้านสิทธิบัตรการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ ๆ รวมถึงอาจทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไปเพาะปลูกต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรพบุรุษพัฒนาสายพันธุ์ตามวิถีธรรมชาติ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ปรับปรุงพันธุ์ขึ้น ซึ่งพันธุ์ข้าวไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของโลก
ทั้งนี้ เกรงว่าหากรัฐบาลลงนามเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ ต้องการทราบว่า การที่จะนำมาให้ ครม.พิจารณาตอนนี้มีเหตุผลพิเศษใด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีความพยายาม แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงต้องดูให้รอบคอบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงว่าสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณาในอดีตเป็นเพราะอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรอย่างไร ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการจดทะเบียนคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชไทยมาตลอด ซึ่งจะรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรจะทำอย่างเต็มที่
คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงฯ และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีประเทศไทย จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูล และพิจารณากันหลายประเด็นที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ และการคุ้มครองพันธุ์พืช
ภายหลังการประชุม นายอนุทิน ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงฯ ทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทยตัดสินใจเป็นสมาชิกของ CPTPP โดยให้มีการระบุให้ชัดว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP
“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจะนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเต็มไปด้วยข้อห่วงใยและความกังวลที่จะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพของคนไทย ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 28 เม.ย.ทราบ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าคณะรัฐมนตรี จะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร แต่ข้อห่วงใยและความกังวลใจของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องผลกระทบต่อการผลิตยา ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญ สำหรับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี”
คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน facebook แสดงจุดยืนของพรรคก้าวไกลว่า สืบเนื่องจากการที่ ครม.กำลังจะหารืออนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง โดยรวมแล้วเห็นได้ชัดว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย และเรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐควรต้องฟังเสียงประชาชนมากกว่านี้ ใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ
ประการแรกคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปแล้ว หากไทยเข้า CPTPP ตลาดที่ไทยจะได้เพิ่มหากเป็นสมาชิก คือประเทศเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ขณะที่อีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือนั้น ไทยมีข้อตกลงการการค้าเสรี FTA แล้วทั้งหมด ผมอยากให้พิจารณาว่าเพราะเหตุใดไทยถึงต้องเข้าร่วมในลักษณะนี้ ควรจะพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าจะดีกว่าหรือไม่ถ้าทำ bilateral agreement กับเม็กซิโกและแคนาดา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขี่ช้างจับตั๊กแตน
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แจงว่า หากไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP คาดว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 0.12% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าน้อยมาก เทียบกับการเข้าเป็นสมาชิกครั้งอื่นๆ ผมคิดว่าครั้งนี้จะได้ไม่คุ้มเสีย การดึงจีดีพีขึ้นมีหลายวิธี ตกลงกันได้หลายแบบ ไม่ควรจะต้องยอมให้ประเทศไทยเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้
และหากเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว มีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา รวมถึงว่าการที่นักลงทุนต่างชาติจะสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอื่นๆ อีกมากมาย
ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่มีข้อบังคับให้รัฐบาลต้องการขออนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาเพื่อไปเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ขาดการตรวจสอบจากนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเพียงกลไกให้รัฐสภาเห็นชอบเมื่อเจรจาแล้วเสร็จ เพื่อลงนามรอการอนุมัติตามเท่านั้น ทำให้เรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้ จะได้รับการอนุมัติไปง่ายๆ นี่คือหนึ่งในปัญหาที่เป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาอย่างไร
ผมและพรรคก้าวไกล ขอย้ำว่า รัฐควรต้องมารับฟังเสียงจากภาคประชาชนให้มาก และเปิดให้สภาได้ถกเถียงกันในรายละเอียด ในสถานการณ์ชุลมุนเช่นนี้ รัฐอย่าฉวยโอกาสเพื่อที่จะได้ “อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย”
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า หากพิจารณาเนื้อหาของข้อบทของ CPTPP จะพบว่ามีหลายแห่งที่เขียนชัดว่า ข้อผูกพันใน CPTPP นี้ไม่มีผลกระทบต่อพันธกรณีของภาคีที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายอื่นและ CPTPP สามารถอยู่ร่วมไปพร้อมกันกับข้อตกลงอื่นที่ภาคีเป็นสมาชิกอยู่
ลองมาดูตัวอย่างกันหน่อยครับ
หมวด A ข้อกำหนดเบื้องต้น (Initial Provisions)
ข้อ 1.2 ความสัมพันธ์กับข้อตกลงอื่น (Relation to Other Agreements) เขียนไว้อย่างนี้ครับ
Article 1.2: Relation to Other Agreements
1. Recognising the Parties’ intention for this Agreement to coexist with their existing international agreements, each Party affirms:
(a) in relation to existing international agreements to which all Parties are party, including the WTO Agreement, its existing rights and obligations with respect to the other Parties; and
(b) in relation to existing international agreements to which that Party and at least one other Party are party, its existing rights and obligations with respect to that other Parties, as the case may be.
จะเห็นว่า เป็นหลักการที่สวยหรู คือ ให้ยอมรับกันนะว่า สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่ก่อนแล้วก็มีไป CPTPP ก็จะมาอยู่ด้วยกันเพิ่มอีกฉบับหนึ่ง แค่นั้น...จริงหรือ
เพราะข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทำไว้ก่อน จะไม่มีที่ขัดกับที่เขียนใน CPTPP เลยหรือ
“ถ้าไม่มีอะไรขัดกันเลย แล้วจะดิ้นรนมาทำ CPTPP เป็นอีกข้อตกลงหนึ่งเพิ่มขึ้นมาให้เมื่อยตุ้มทำไม... จริงไหม”
แสดงว่าต้องมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมแน่ ซึ่งอาจจะเกิดได้สองทาง
ทางแรก ของเดิมไม่เคยมีกำหนด ไม่เคยบังคับเรื่องนี้ไว้ หรือเคยมีบังคับไว้ แต่ไม่ชัด ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
ทางสอง ของเดิมกำหนดไว้หนักไป ขอแก้ให้เบาลง
อ้าว... แล้วถ้าข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ขัดกับที่เขียนใหม่ใน CPTPP ละจะทำยังไง ไม่ต้องกลัวครับ CPTPP เขากรุยทางไว้แล้วครับ เขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ
Article 1.2 (2) If a Party considers that a provision of this Agreement is inconsistent with a provision of another agreement to which it and at least one other Party are party, on request, the relevant Parties to the other agreement shall consult with a view to reaching a mutually satisfactory solution. This paragraph is without prejudice to a Party’s rights and obligations under Chapter 28 (Dispute Settlement).
คือ ถ้าหากภาคีฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เจ้าข้อตกลงระหว่างประเทศที่ภาคีนั้นเป็นภาคีอยู่ด้วย ขัดแย้งกับที่เขียนอยู่ใน CPTPP ภาคีฝ่ายนั้นมีสิทธิที่จะขอเจรจาเพื่อหาความเห็นที่เป็นข้อยุติร่วมกัน ที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้
ก็ดูสมกับเป็นผู้มีสกุลรุนชาติดีครับ เห็นไม่ตรงกันก็มาคุยหาทางออกร่วมกัน
แต่ในโลกของความเป็นจริง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะเห็นด้วยกันนี่ออกจะยากไหม ใน WTO ก็เห็นฟ้องกันโครม ๆ ประเทศไทยก็โดนตอกหน้าหงายมาหลายเรื่องล่ะ ล่าสุดถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรื่องมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ
แล้วถ้าเห็นไม่ตรงกัน หาทางออกที่เห็นตรงกันไม่ได้จะทำไง ตรงนี้ละครับี่เป็นทีเด็ดที่ผมเห็นว่า CPTPP สอดไส้ไซยาไนด์ไว้
ในประโยคสุดท้ายของข้อ 1.2(2) นั่นเอง คือ เจ้าอาวุธลับอันนี้
“… This paragraph is without prejudice to a Party’s rights and obligations under Chapter 28 (Dispute Settlement).”
แสดงว่า ถ้าตกลงกันไม่ได้ ต้องไปหาทางระงับข้อพิพาทตามที่กำหนดในข้อ 28 ไว้มีเวลาจะมาขยายความวิธีการระงับข้อพิพาทใน CPTPP ให้อ่าน เท่าที่อ่านผ่าน ๆ กระบวนการคล้ายกับอนุญาโตตุลาการครับ
จึงเห็นได้ว่า ที่บอกมาตั้งแต่ไก่โห่ ตั้งแต่ Article 1 เลย ว่า เราอยู่ด้วยกันนะ (หมายถึง CPTPP อยู่ด้วยกันกับข้อตกลงอื่น) แต่เอาเข้าจริง ๆ ถ้าขัดกัน ภาคีจะถูกลากให้เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท
ลองคิดดูต่อว่า ผลของการระงับข้อพิพาทจะเป็นไงก็ยังไม่แน่ใจ แต่สิทธิและหน้าที่เดิมที่เรามีอยู่ เราเคยทำได้สบาย ๆ ตามข้อตกลงเดิม ไม่เคยมีใครมาโต้แย้ง ตอนนี้อยู่ในสถานะล่อแหลม หมิ่นเหม่ และสิทธิพวกนั้นอาจมลายหายไปกับสายลม(ผาย)ของ CPTPP ได้
แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าอยู่ร่วมกัน (Coexist) ได้อย่างไร น่าจะเรียกว่า “ข้ามาอยู่ด้วย (เหนือ) เอ็งเสียมากกว่า” 555
ลองคิดดูว่า ต่อไปข้าราชการไหนจะกล้า ถ้าเสี่ยงว่าจะทำให้ประเทศไทยต้องถูกลากเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทใน CPTPP
เผลอ ๆ นกม. ที่มีตำแหน่งในขณะนั้นก็อาจจะขวัญผวาไปด้วยก็ได้ จะเสี่ยงให้เสียชื่อเสียงและต้องพลาดตำแหน่ง สส ครั้งหน้าไปทำไม เรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้
คำถามน่าคิดคือ แล้วเราจะเข้าเป็นภาคี CPTPP ไปหาสวรรค์ชั้นอื่นทำไม
แน่ใจหรือว่า CPTPP เป็นสวรรค์!!!!
แน่ใจหรือว่า CPTPP ไม่ใช่ขุมนรกชั้น 7 แทนที่จะเป็นสวรรค์ชั้น 7 !!!
พูดกันให้เฉพาะคือ ถ้าจะเป็นสวรรค์ชั้นเจ็ดของใครบางคน ใครบางคนคนนั้นคือ “ใคร”
ถ้า CPTPP เป็นนรกขุมที่เจ็ด คนที่จะเดือดร้อนแสนสาหัส ที่ผมเห็นชัดว่าน่าจะถูกรางวัลที่หนึ่งแน่นอนแล้วคือ “เกษตรกรไทย” ครับ ด้วยผลของการที่ CPTPP บังคับให้ต้องเข้าเป็น ภาคี UPOV 1991 ซึ่งจะหาเวลามาวิแคะเจ้า UPOV ให้ฟังอีกที
ทำให้คิดไปได้ว่า วิธีเขียนข้อตกลงระหว่างประเทศ จะเป็นผลจากการเจรจาต่อรองในชั้นจัดทำร่าง ซึ่งบางเรื่องเราไม่อยากให้ก็อาจเขียนแบบให้ข้างหน้า ริบข้างหลัง แบบนี้ละครับ มันช่างยอกย้อนซ่อนเงื่อนจัง
CPTPP จึงเปรียบเสมือนลูกกวาดที่มีสีสรรสวยงาม น่าหลงใหล แต่อมไปสักพัก ไซยาไนด์ที่สอดไส้อยู่มันจะละลายแทรกซึมออกมากัดกินตับไตไส้พุงของเรา
ถึงตอนนั้น คนที่คิดทำเรื่องให้เข้าเป็นทาส CPTPP ก็คงมองบนแล้วเดินเลี่ยง ทำตัวโลว์โปรไฟล์ เหมือนตอนนี้ที่ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผลของการทำ JTEPPA โดยไม่รับผิดชอบอะไร (เจ้าหมอนั่นคงคิดในใจว่า งานข้าเสร็จแล้ว อะไรจะเกิดกับชีวิตของเอ็ง เอ็งต้องช่วยตัวเอง ข้าไม่มีหน้าที่ต้องช่วย...)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด