Grab สตาร์อัพระดับ Decacorn แพลตฟอร์มผู้ให้บริการเรียกรถโดยสาร และเดลิเวอร์รีรายใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเทรดวันแรกในตลาด Nasdaq ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลังจากได้ประกาศควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC (Special Purpose Acquisition Company) อย่าง Altimeter Growth Corp. ซึ่งทำให้ Grab มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นดีล SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยราคาเปิดตลาดของหุ้น GRAB ในวันแรกอยู่ที่ 13.06 เหรียญต่อหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 21% ก่อนที่จะลดลงมา 23% อยู่ที่ราคา 8.51 เหรียญต่อหุ้น
แม้ว่าราคาหุ้นจะลดต่ำลง ด้าน Anthony Tan ผู้บริหารของ Grab มองว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับพวกเขา และพวกเขาก็จะยังฉลองให้กับความสำเร็จนี้ตามเดิม
การเข้าสู่ตลาดฯ ผ่านการควบรวมกับ SPAC ของ Grab ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Grab สตาร์ทอัพอายุเพียง 9 ปี จากสิงคโปร์ ที่ให้บริการไปแล้วใน 465 เมืองของ 8 ประเทศ มีผู้ใช้งานกว่า 187 ล้านคน และยังได้ขยายบริการจากแอปฯ เรียกรถโดยสาร และบริการเดลิเวอร์รี่ ไปสู่บริการชำระเงิน ประกันภัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน
(อ่านเพิ่มเติม ย้อนเส้นทางธุรกิจของ Grab ก่อนติดนามสกุล มหาชน ในตลาดหุ้นอเมริกา)
การเข้าตลาดในครั้งนี้ของ Grab ยังส่งผลดีต่อกลุ่มนักลงทุนที่สนับสนุน Grab มาตั้งแต่ช่วงปี 2014 อย่าง SoftBank Group และ Didi Chuxing บริการเรียกรถโดยสารของจีน รวมไปถึงนักลงทุนอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมในภายหลัง เช่น Toyota Motor, Microsoft, MUFG ธนาคารรายใหญ่ของญี่ปุ่น และ Uber (อ่านเพิ่มเติม นักลงทุนใน Grab)
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ไว้ว่า ด้วยระบบเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เอื้อต่อการเติบโตขิงกิจการดิจิทัลต่าง ๆ จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตไปกว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และคาดว่าคู่แข่งในภูมิภาคของ Grab อย่าง Sea และ GoTo เร่งขยายการเติบโตมากขึ้นอีก
อ้างอิง: Reuters, CNBC, Bangkok Post
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด