ในปัจจุบันเรามักเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว และเริ่มขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารในองค์กรต่างๆ แต่เพื่อส่งเสริมการสร้างผู้นำให้มีความสมบูรณ์แบบ ที่ไม่ได้เป็นเพียงคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนดีและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ต้องมีกระบวนการบ่มเพาะ แนะแนวจากผู้มีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับของสังคม ที่จะสามารถโน้มน้าวเพื่อก่อให้เกิดความเชื่อของการเป็นคนดี ที่จะตอบแทนสู่สังคม ซึ่งจะสร้างสังคมที่ดี ที่สะท้อนสู่ประเทศชาติและเท่าทันนานาชาติได้
โดยครั้งนี้มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย หรือ IMET สานต่อโครงการ “อุทยานผู้นำ” หรือ “IMET MAX” เป็นปีที่ 5 เพื่อพัฒนานักบริหารชั้นนำรุ่นใหม่ที่ทั้งเก่งและดี สนับสนุนการพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ พร้อมร่วมส่งเสริมจิตสำนึกการสร้างคุณค่าเพื่อตอบแทนสังคม หลังประสบความสำเร็จมีผู้นำคุณภาพสำเร็จโครงการจาก 4 รุ่นรวมกว่า 132 คน ผ่านกระบวนการ Mentoring หรือ กระบวนการช่วยคิด และ ชวนคิด อันเป็นกระบวนการเสริมสร้างปัญญาด้วยการสร้างมุมมอง “สะท้อนย้อนคิด” (Reflection) และการถ่ายทอดความรู้ แนวคิด และประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่ได้สะสมมายาวนานจากเมนเทอร์ (Mentor) ที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม มาสู่ เมนที (Mentee) ซึ่งเป็นผู้บริหารชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและตอบแทนสังคม โดยดึง 12 ผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) ในปีนี้
คุณธนพล ศิริธนชัย กรรมการมูลนิธิ IMET และประธานโครงการ IMET MAX กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ว่า ผู้นำรุ่นใหม่ล้วนแล้วแต่มีความเก่ง และมีความสามารถสูงทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบัน จะเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนดีและมองถึงการตอบแทนให้กับสังคมด้วย โดยโครงการ IMET MAX ได้เล็งเห็นว่า กระบวนการเรียนแบบ Mentoring ที่เป็นการชวนคิด และช่วยคิด เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้เมนที (Mentee) ได้พบปะพูดคุยกับเมนเทอร์ (Mentor) และสามารถเรียนรู้อย่างใกล้ชิดแบบกลุ่มย่อย โดยโครงการได้รับเกียรติจากผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศมาร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) ทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้มีโอกาสรับรู้ประสบการณ์อันมีค่าของแต่ละท่านได้ ต้องขอบคุณเมนเทอร์ (Mentor) ทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการฯ ล้วนมีจิตสาธารณะพร้อมเสียสละเวลาอันมีค่า และทุ่มเททำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ (Mentor) เปิดโอกาสพูดคุย และแลกเปลี่ยนมุมมองกันกับเมนที (Mentee) เพื่อใช้บริหารจัดการปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม Wisdom for Life and Social Values ที่ช่วยสร้างคุณค่าและความสมดุลของชีวิต ทั้งในเรื่องงาน การใช้ชีวิตและการตอบแทนสังคม
“ทางมูลนิธิ IMET มีวิสัยทัศน์ในการสร้างอุทยานผู้นำ เพื่อเป็นศูนย์รวมผู้นำของชาติและเป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่แค่คนเก่ง แต่ต้องเป็นผู้นำที่เป็นคนดี รู้จักการเป็นผู้ให้ ยึดมั่นในความถูกต้อง และการตอบแทนสังคม โดยทางมูลนิธิฯ นำร่องการเป็นผู้ให้ ด้วยการสร้างโครงการ IMET MAX และสนับสนุนค่าใช้จ่ายหลักให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด” คุณธนพล กล่าว
คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และในฐานะเมนเทอร์ (Mentor) ของโครงการ IMET MAX กล่าวว่า ตนเองและเมนเทอร์ (Mentor) ทุกท่านที่อาสาเข้าร่วมโครงการล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการตอบแทนสังคม และการพัฒนาเมนที (Mentee) ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงพลังและทรงคุณค่าของสังคม โดยผู้นำรุ่นใหม่ของสังคมล้วนเป็นบุคคลที่มีศักยภาพสูง และเป็นความหวังของคนไทยทั้งชาติ ดังนั้น การได้มีส่วนในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้เพียบพร้อมด้วยคุณค่าและคุณธรรม รู้จักตอบแทนสังคม จึงเป็นภารกิจที่ท้าทาย แต่คุ้มค่าและน่าภูมิใจอย่างยิ่ง
“ตั้งใจเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ให้ คือ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลับได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะ มุมมอง และความคิดของผู้นำรุ่นใหม่ จึงทำให้เมนเทอร์ (Mentor) และเมนที (Mentee) ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราคิดว่าเราส่งพลังใจให้เขา แต่กลายเป็นเขาส่งพลังใจมาให้เรามากกว่า เห็นชัดเลยว่า อนาคตของชาติอย่างน้องๆ มีไฟมาก ไฟนี้ไม่ใช่เพียงแค่จะเติบโตแล้วเก่งอย่างเดียว แต่เป็นไฟที่อยากจะทำความดีให้กับผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ และเราได้เข้าใจมากขึ้นว่า ณ วันนี้คนรุ่นใหม่เขาต้องอะไร เขามองอะไร เขาทำอะไรอยู่ อะไรที่เป็นสิ่งที่เขาคิดว่ามีความสำคัญในชีวิตเขา” คุณกอบกาญจน์ กล่าว
ด้าน คุณปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ในฐานะเมนที (Mentee) รุ่นที่ 1 และคณะทำงานโครงการ IMET MAX กล่าวว่า การตั้งเป้าหมายและสร้างแผนทั้งกับชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระบวนการชวนคิดของพี่ๆ เมนเทอร์ (Mentor) ทำให้เราในฐานะเมนที (Mentee) เห็นเป้าหมายของตัวเอง และมีเจตนารมณ์ในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น บางปัญหาที่เราไม่สามารถปรึกษาคนรอบข้างหรือคนในองค์กรได้ กลับได้รับการปลดล็อกจากกระบวนการ Mentoring ที่พี่ๆ Mentor ได้ชวนคิดและช่วยคิด ทำให้เรามีมุมมองในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้แหลมคมขึ้น และหลังจากที่ผมได้เข้าร่วม IMET MAX รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นรุ่นแรกของโครงการ ทำให้ผมมีความเชื่อในศักยภาพของตัวเราเอง และพร้อมส่งต่อศักยภาพนี้ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก นับเป็นโอกาสสำคัญที่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้มุมมองความคิดเห็น เรียนรู้ประสบการณ์ของผู้นำระดับประเทศเหล่านี้
“การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ IMET MAX โดยมูลนิธิ IMET เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลักให้ทั้งหมดนั้น ทำให้ เมนเทอร์ (Mentor) ที่เข้าร่วมโครงการรู้สึกซาบซึ้งในโอกาสที่ได้รับ และอยากส่งต่อพลังบวก และพลังความดี ออกไปสู่สังคมในวงกว้างยิ่งๆ ขึ้นไป” คุณปิยะดิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสมัครเป็นเมนที (Mentee) ในโครงการ IMET MAX สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.imet.or.th/imetmax และ YouTube Channel: IMET MAX Thailand และสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มกราคม 2566
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด