Infofed บริษัทด้านการพัฒนานวัตกรรมด้าน VR และ AR เปิดตัว Thailand E-Sports Arena สนามประลองกีฬาอีสปอร์ตทุกรูปแบบครบวงจร แห่งแรกในประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ด้วยเงินลงทุนจำนวน 50 ล้านบาท หวังเป็นเวทีสร้างโอกาสและส่งเสริมเยาวชนนักกีฬาอีสปอร์ตสู่เวทีสากล มุ่งสนับสนุนเด็กติดเกมให้กลายเป็นนักกีฬาและบุคลากรคุณภาพของชาติ ขานรับนโยบายหลังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกาศรับรองกีฬาอีสปอร์ตตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ด้วยแนวคิดลบภาพ “เด็กติดเกม” ให้กลายเป็น “โอกาสของชาติ” พร้อมจับมือภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรอีสปอร์ตหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง พัฒนาบุคลากรต่อยอดวงการและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองความต้องการธุรกิจเกมที่เติบโตก้าวกระโดด เติบโตต่อเนื่องปีละ 30-40 เปอร์เซ็นต์
ระบุนักกีฬาอีสปอร์ตอนาคตสดใส เพราะจะทำให้ผู้เล่นเกิดทักษะการวางแผนกลยุทธ์ การสื่อสาร การมีประสาทสัมผัสชั้นเยี่ยม สามารถมีอาชีพที่ดีและมั่นคงในหลายสาขา ทั้งโค้ชฝึกสอน นักพัฒนาเกม นักพากย์เกม ออแกนไนเซอร์จัดการแข่งขัน นักบริหาร ชูศักยภาพสนาม รองรับการแข่งขันทุกรูปแบบด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด ครบวงจรที่สุด ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก ใกล้สถานีรถไฟใต้ดิน MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และสามารถรองรับการแข่งขันได้ 24 ชั่วโมง
คุณจิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโฟเฟด จำกัด (Infofed) และผู้ก่อตั้ง Thailand E-Sports Arena ระบุว่า จากผลสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทยปี 2559 จาก depa หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ารวม 16,328 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.8 เปอร์เซ็นต์ ทางกระทรวงฯ จึงมองเห็นโอกาสของการส่งเสริมกีฬาอีสปอร์ต เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกีฬาต่างๆ ให้เติบโตยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังได้ช่วยสร้างโอกาสให้กับนักกีฬาให้สำเร็จในระดับมืออาชีพอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ตลาดอีสปอร์ตโลกนั้นมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มูลค่าตลาดเกมในเมืองไทยมีมูลค่าสูงถึง 9,700 ล้านบาท จากการสำรวจยังระบุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) นับเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางอีสปอร์ตที่เร็วและก้าวกระโดดมากที่สุด ส่งผลให้กีฬาอีสปอร์ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันได้บรรจุอยู่ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก เช่น การแข่งขัน The International DOTA2 Championship ในปี 2560 ที่มีเงินรางวัลสูงถึง 24 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยในปัจจุบันนั้นได้เริ่มมีนักกีฬาอีสปอร์ตไทยเข้าไปติดอันดับ Top 10 ของโลกในหลายชนิดเกมหลากรายการ ยกตัวอย่างเช่น งานแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ กลุ่มนักกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทยส่วนมากจะออกไปเป็นนักกีฬาประจำทีมต่างชาติ เนื่องด้วยยังขาดโอกาสและสถานที่ที่รองรับความสามารถของคนกลุ่มนี้ภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี ในแง่การตลาด ด้วยกลุ่มเป้าหมายกีฬาอีสปอร์ตซึ่งเป็นกลุ่มคนช่วงวัย 15-30 ปี ทำให้สปอนเซอร์ต่างให้ความสนใจเข้ามาให้การสนับสนุน โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าไอทีต่าง ๆ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ส่งสนใจเข้ามาในตลาดนี้แล้ว
ซึ่งอีสปอร์ตก็เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าสื่อเก่าๆ อย่าง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่เริ่มบริโภคน้อยลงในทุกๆ ปี เรียกได้ว่า E-Sports is the new marketing แปลเป็นไทยก็คือ E-Sports ถือเป็นการตลาดรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มจับตาและให้ความสนใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คุณอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยในงานเปิด Thailand E-Sports Arena อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ว่า จากนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ในฐานะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานของภาครัฐจึงได้กำหนดแผนงานที่สอดคล้องกับนโยบาย โดยการรับรองให้กีฬาอีสปอร์ตตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและต่อยอดเพื่อความสำเร็จในระดับมืออาชีพ และยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยกีฬาอีสปอร์ตได้รับการจัดให้เป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขัน “เอเชียนเกมส์” ในปี 2561 นี้ และในอีก 4 ปีข้างหน้าก็จะได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาที่เหล่าสมาชิกประเทศสามารถเข้าชิงเหรียญให้กับประเทศได้
“ทั้งนี้ การลงทุนหรือการสนับสนุนจากทางภาคเอกชน นับเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวทัดเทียมนานาชาติ และการที่ บริษัท อินโฟเฟด จำกัด ได้ลงทุนเปิด Thailand E-Sports Arena สนามกีฬาอีสปอร์ตที่รองรับการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตได้ทุกรูปแบบ แห่งแรกของประเทศไทย ที่ศูนย์การค้า The Street แห่งนี้ซึ่งจะเป็นสนามสำคัญในการพัฒนานักกีฬา และวงการกีฬาอีสปอร์ตได้อย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม” คุณอิทธิพลกล่าวทิ้งท้าย
คุณจิรยศ เล่าต่อว่าจุดประสงค์หลักของการสร้าง Thailand E-Sports Arena คือการร่วมพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา และวงการกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทยให้มีศักยภาพไปถึงเวทีการแข่งขันระดับโลก และเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อ “เด็กติดเกม” ให้กลายเป็น “โอกาสของชาติ” รวมทั้งให้ Thailand E-Sports Arena เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยการเชื่อมต่อกับสถานศึกษา ทั้งในและต่างประเทศมาเป็นกำลังสนับสนุนแลกเปลี่ยนความรู้
ทั้งนี้ Thailand E-Sports Arena ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,000 ตร.ม. บนชั้น 5 ศูนย์การค้า THE STREET รัชดา ซึ่งพร้อมรองรับการขยายตัวถึง 5,000 ตร.ม. ในอนาคต และสามารถรองรับการแข่งขันหรือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ 24 ชั่วโมง โดยสนามรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตได้ครบทุกเกม ทุกรูปแบบ และสามารถรองรับการแข่งขันทั้งรูปแบบ Mobile และ PC รวมไปถึงการจัด Event หรืองานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอีสปอร์ต ภายในสนามมีการออกแบบเพื่อรองรับการแข่งขันตามมาตรฐานสากล โดยมี อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 400/400 Mbps ขยายสูงสุดได้ถึง 1,000 Mbps จอ LED ความละเอียดสูง มีพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความทันสมัยและประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานในอนาคต และใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมเพียง 200 เมตร
“ไฮไลท์ของเวทีคือ เวทีอัฒจรรย์ที่สามารถปรับเปลี่ยน Function การใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ สามารถปรับเปลี่ยนการวางโต๊ะและเก้าอี้ โดยผู้เข้าแข่งขันจะหันหลังให้กับผู้ชมเมื่อแข่งขันบน PC และจะหันหน้าเข้าหาผู้ชมเมื่อแข่งขันบน MOBILE นอกจากนี้ยังสามารถจัดเรียงโต๊ะแบ่งตามการแข่งขันของแต่ละเกมได้อีกด้วย โดยรองรับการแข่งขันพร้อมกันสูงสุดถึง 80 เครื่อง โปรแกรมการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตที่จะเกิดขึ้นภายใน Thailand E-Sports Arena ได้แก่ การแข่งขันระดับ Pro Player, การแข่งขันระดับ Semi-Pro Player, การแข่งขันระดับ Amateur Player, E-Sports Academy, การถ่ายทอดสดการแข่งขัน และ Event เกมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ” คุณจิรยศ กล่าว
คุณจิรยศกล่าวต่อว่า การสร้างสนามแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตที่ใหญ่และทันสมัยเต็มรูปแบบที่สุดแห่งแรกของไทย ยังไม่เพียงพอ เพราะมีจุดประสงค์จะเป็นศูนย์กลางการสร้างนักกีฬาและส่งเสริมวงการอีสปอร์ตในประเทศให้เทียบชั้นระดับสากล โดยจะสามารถดึงเด็กที่สังคมมองว่าเป็น "เด็กติดเกม" เข้ามาฝึกฝนยกระดับตัวเองเป็น "นักกีฬาอีสปอร์ต" ด้วยการแข่งขันระดับลีกและทัวร์นาเมนต์ เช่นเดียวกับกีฬาประเภทฟุตบอลและกอล์ฟ
“เยาวชนที่เข้ามาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต อาจจะไม่ได้ประสบผลสำเร็จเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพทุกคน แต่เมื่อผ่านการบ่มเพาะฝึกฝนทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการวางแผน กลยุทธ์ และคิดอย่างเป็นระบบ การสื่อสารและภาษา การทำงานเป็นทีม การเพิ่มทักษะประสาทสัมผัสต่าง ๆ การฝึกปฏิภาณไหวพริบ และความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา จะสามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นบุคลากรคุณภาพในสายอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โค้ชฝึกสอนนักฬาอีสปอร์ต นักพัฒนาเกม นักพากย์เกม ออแกนไนเซอร์จัดการแข่งขัน นักบริหารธุรกิจที่เกี่ยวกับกีฬาอีสปอร์ต เป็นต้น” คุณจิรยศอธิบาย
โดยในครึ่งปีหลังนี้ ตั้งเป้ามีรายได้ราว 15 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์มาจากค่าเช่าสถานที่ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์มาจากสปอนเซอร์ ในการจัดทำ Tournament หรือ League
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด