Nikei Asia รายงานถึงสถานการณ์ในญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นกำลังขาดตลาดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home appliances) ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะงักงันอย่างต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทานการผลิต และนโยบาย Zero-COVID ที่เคร่งครัดของปักกิ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานผลิตหรือประกอบชิ้นส่วนรวมถึงบริษัทขนส่งหลายรายในจีนต้องหยุดดำเนินการหรือชะลอการผลิตและส่งมอบสินค้าที่มายังญี่ปุ่นล่าช้ากว่าปกติ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบมหภาคที่มีต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อเนื่องจากสินค้าประเภทสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ ที่ขาดตลาดและลดกระบวนการผลิต และอุตสาหกรรมยานยนตร์
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางการจีนต้องบังคับใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวด ส่งผลให้หน่วยการผลิตหลักและท่าเรือต้องปิดตัวลง ข้อมูลจาก GlobalData บริษัทชั้นนำด้านข้อมูลได้ทำการสำรวจและกล่าวว่า นโยบายเชิงรุก Zero-COVID ของจีนจะส่งผลระยะยาวต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก Gargi Rao นักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจจาก GlobalData ระบุว่า “จีนเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตและการส่งออกวัตถุดิบ เศรษฐกิจหลายประเทศจะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดที่เข้มงวดนี้”
โดยสถานการณ์ในญี่ปุ่นนั้นสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงได้แก่ เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โดยเว็บไซต์ร้านค้าปลีกแห่งหนึ่งได้เปิดเผยว่าความล่าช้าในการจัดส่งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ตู้เย็น 30% และเครื่องซักผ้ากว่า 70% ในตอนนี้ขาดสต็อคต่อเนื่อง
Panasonic ได้ระงับการผลิตของโรงงานในจังหวัดชิซูโอกะ ทางตะวันออกของญี่ปุ่นตั้งแต่กลางเดือนเมษายน เนื่องจากการปิดตัวของโรงงานผลิตชิ้นส่วนในจีนและเซี่ยงไฮ้ ทำให้การส่งมอบไมโครเวฟบางรุ่นไปยังร้านค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล่าช้า ในด้าน Mitsubishi Electric ที่ต้องเลื่อนการเปิดตัวหม้อหุงข้าวรุ่นใหม่ เพราะ การส่งมอบชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ในเซี่ยงไฮ้ล่าช้า เช่นเดียวกับ Hitachi ได้ระงับการขายเครื่องซักผ้าบางรุ่นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน และคาดว่ากำหนดจะจัดกลับมาจัดส่งอีกครั้งในเดือนสิงหาคมหรือหลังจากนั้น ผลกระทบได้แพร่กระจายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สำหรับเครื่องปรับอากาศนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤตชิปขาดแคลน และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงฤดูร้อน ทำให้สินค้าบางรุ่นมีกำหนดจัดส่งอีกครั้งในเดือนกันยายนหรือไตรมาสที่ 4 จากรายงานระบุว่า ผู้จัดจำหน่ายในญี่ปุ่นต้องทำการชี้แจงถึงการจัดส่งแบบสมบูรณ์อีกครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน 2022 ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะสูญเสียรายได้ในช่วงฤดูร้อนทั้งหมด
Joshin Denki หนึ่งในเจ้าของร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้บริการจัดจำหน่ายในโอซาก้า กล่าวว่า “ผลกระทบของการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ซ้ำเติมห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยสำคัญ” การซ่อมแซมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการเพิ่มจำนวนการผลิตถูกระงับ เนื่องจากวัสดุชิ้นส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอกับกระบวนการผลิตได้ทันท่วงที
Yuji Miura นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยญี่ปุ่นซึ่งคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมการผลิตของจีนกล่าวว่า การรักษานโยบายปลอดโควิดของจีน จะทำให้อุปทานยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป โดยการสำรวจโดยบริษัทวิจัย Teikoku Databank ระบุว่าบริษัทในญี่ปุ่นจำนวน 48% ร้องเรียนว่า การปิดเมืองของจีนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อพวกเขา “ตราบใดที่รัฐบาลจีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero-COVID ก็ไม่มีโอกาสที่ห่วงโซ่อุปทานจะกลับคืนสู่สภาพปกติ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องระบุความเสี่ยงในจีน รวมถึงจุดสิ้นสุดของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อจัดหาทางเลือกอื่น ๆ ในกรณีฉุกเฉิน”
ที่มา
Japan consumers wait months for washing machines, air conditioners
China's 'zero-COVID' curbs may hurt global growth, says BOJ policymaker
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด