ในช่วงที่คอมมูนิตี้ FinTech ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด อันเกิดจากแรงผลักดันของสตาร์ทอัพ ธนาคาร แม้แต่ภาครัฐฯ เองที่เดิมยังตั้งรับอยู่ แต่ตอนนี้ต้องกระโดดลงมาร่วมด้วย ล่าสุดธนาคารยักษ์ใหญ่สีเขียว ออกตัวประกาศแผนปี 2560 ก่อนเป็นรายแรก ลองไปดูกันว่าปีหน้าฟ้าใหม่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจปี2560 จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีนี้ คือ จีดีพีโต 3.3% มีปัจจัยหนุน คือ การใช้จ่ายและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่คาดว่าจะขยายตัว 8.5% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 2.8% ตัวเลขจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังเติบโตได้ที่ 4.8% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี แม้จะชะลอตัวลงจากฐานที่สูงในปี 2559 ด้านการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 0.8%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศ อาทิ อังกฤษจากเหตุการณ์ BREXIT และความเปราะบางภายในยุโรป การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า เศรษฐกิจจีนที่อาจยังคงชะลอตัว ส่วนปัจจัยในประเทศมาจากปัญหาการสะสมของหนี้ครัวเรือนที่จะจำกัดอำนาจการซื้อของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนจะยังฟื้นตัวในกรอบที่จำกัด คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนปีหน้าจะโต 2.2% อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.8%
ธนาคารกสิกรไทยได้ประเมินว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมีความต้องการบริการดิจิทัล แบงกิ้งเพิ่มขึ้น คู่แข่งใหม่ที่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (FinTech) รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการให้บริการของธนาคารในอนาคต จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนธุรกิจของธนาคารในด้านต่าง ๆ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวสู่การเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน
นางสาวขัตติยากล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยยังคงกำหนดทิศทางธุรกิจ โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและนำเสนอบริการที่ตรงจุด เพื่อเป็นธนาคารหลัก (Customer’s Main Bank) สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญปี 2560 ให้ธนาคารเติบโตอย่างเหมาะสม โดยมีการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ 4-6% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (Gross NPL Ratio)ที่ 3.3-3.4% โดยมีการกำหนดทิศทางธุรกิจของ 4 สายงานธุรกิจ และเตรียมงบ 5,000 ล้านบาทพัฒนาด้านไอทีโดยตรง ซึ่ง 4 สายงานธุรกิจประกอบด้วย
ทิศทางธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารจะมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยที่ได้มาตรฐานระดับโลก (World Best-in-Class Retail Bank) และยกระดับคุณภาพการเป็นที่ปรึกษาและการบริการผ่านสาขาเทียบเท่ามาตรฐานโลก (Best Experience & Advisory at Branch) นำเสนอนวัตกรรมบริการทางการเงินแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาช่องทางธนาคารบนโทรศัพท์มือถือเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า จากในปี 2559 มีฐานลูกค้าแอพพลิเคชั่น Mobile Banking ประมาณ 5 ล้านราย ตั้งเป้าหมายปี 2560 ธนาคารจะเพิ่มฐานลูกค้าแอพพลิเคชั่น Mobile Banking เป็น 7.1 ล้านราย พร้อมตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 5-7% และมีฐานลูกค้าบุคคลเพิ่มเป็น 14.1 ล้านราย เติบโต 5-6%
ทิศทางธุรกิจกลุ่มธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ (SME) ธนาคารตั้งเป้าหมายรักษาความเป็นผู้นำและการเป็นธนาคารหลักของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการดูแลเครือข่ายธุรกิจของลูกค้า (Value Chain) ช่วยให้ลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านดิจิทัลที่ทันสมัยสำหรับลูกค้า โดยตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 4-6% เน้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดนอาทิ ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ฮาร์ดแวร์
ทิศทางธุรกิจกลุ่มลูกค้าบรรษัท มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการให้บริการด้านการระดมทุนที่หลากหลาย (Best Funding Solution) ทั้งการออกตราสาร กอง REITs การควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อให้ลูกค้าได้ต้นทุนที่ดีที่สุด และเป็นผู้นำในบริการธุรกรรมครบวงจร (Best Transaction Banking Provider) รองรับการทำธุรกรรมจำนวนมากที่ครอบคลุมสกุลเงินในกลุ่ม AEC+3 และสกุลเงินหลักทั่วโลก ตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 4-6%
ทิศทางธุรกิจข้ามประเทศ มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการรับชำระเงินและการลงทุนแห่งภูมิภาค (Regional Settlement and Investment) ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการโอนเงินและชำระเงินข้ามประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน การสนับสนุนลูกค้าธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนใน CLMVI การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจการค้าชายแดน เพื่อสนับสนุนการทำการค้าชายแดน (Border Trade) สนับสนุนการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโรงไฟฟ้า ถนน และท่าเรือในกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทไทยและญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ในปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายในต่างประเทศ ได้แก่ การยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน การเพิ่มสาขาแห่งที่ 2 ของธนาคารท้องถิ่นในสปป.ลาว การเพิ่มปริมาณธุรกิจของสาขากรุงพนมเปญ และหาแนวทางเปิดสาขาในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา ภายในปี 2561
นางสาวขัตติยากล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2560 คือ ธุรกิจก่อสร้าง จากบรรยากาศการลงทุนที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว และโครงการของรัฐ ธุรกิจยานยนต์ จากการที่โครงการรถคันแรกทยอยสิ้นสุดลง น่าจะเป็นผลดีต่อยอดขายในประเทศ ขณะที่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนมีโอกาสฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย ธุรกิจบริการสุขภาพ ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้า Medical Tourism ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายประเทศในภูมิภาค และธุรกิจท่องเที่ยวที่บางตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น อาทิ รัสเซีย และสแกนดิเนเวีย
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมช่องทางและรูปแบบการทำธุรกรรมการเงินในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยคงความสามารถในการแข่งขันและนำไปสู่การขยายตลาดใหม่ได้อย่างทันท่วงทีสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไป (New Digital Lifestyle) ธนาคารจะพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ผ่านการสร้างพันธมิตร การสร้างนวัตกรรมพัฒนาบริการ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลูกค้าทุกกลุ่ม โดยในปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยตั้งงบประมาณด้านไอทีไว้สำหรับการพัฒนาด้านนวัตกรรมใหม่ ประมาณ 10% ของกำไรสุทธิ หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท และการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital (VC) เพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ อีกประมาณ 2% ของกำไรสุทธิ หรือ 1,000 ล้านบาท เดินหน้าแผนงานด้านเทคโนโลยี โดยมีกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่
ธนาคารจะนำเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการ โดยในปี 2560 จะออกบริการสำคัญ อาทิ การนำเทคโนโลยีบล็อคเชน มาใช้ในการให้บริการด้านการรับรองความถูกต้องของเอกสารด้วยระบบ OriginCert โดยจะนำร่องให้บริการด้านการออกเอกสารค้ำประกัน L/G (Letter of Guarantee) ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ ซึ่งจะให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบหนังสือค้ำประกัน แจ้งเตือนเมื่อหนังสือค้ำประกันหมดอายุ นับเป็นบริการที่จะช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง และสร้างระบบนิเวศน์ทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านหนังสือค้ำประกัน ทำให้เกิดฐานข้อมูลที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในความถูกต้องของเอกสารและสามารถเข้าถึงเพื่ออ้างอิงได้ง่ายขึ้น
การใช้แนวคิด World Class UI/UX Design ในการออกแบบ เพื่อให้ลูกค้าใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารให้ความสำคัญกับการให้บริการแก่กลุ่มคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยากกว่าลูกค้าทั่วไป จึงได้สนับสนุน “บีคอน อินเตอร์เฟส” ฟินเทค สตาร์ทอัพของไทย ในการพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางธนาคารบนมือถือได้สำเร็จ ตั้งเป้าหมายให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2560 นอกจากนี้ ธนาคารจะมีการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดในมิติด้านความปลอดภัย Cyber Security ด้วยเช่นกัน ประกอบด้วยการดูแลความปลอดภัยของระบบภายในธนาคาร โดยการพัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สามารถตรวจค้น ตรวจจับ และป้องกันข้อมูลสำคัญรั่วไหลได้
นอกจากการให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมแล้ว ธนาคารกสิกรไทยได้ใช้การสร้างพันธมิตรเป็นแนวทางหลักในการทำงาน โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดนิเวศน์ทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย (Digital Ecosystem) โดยเดินหน้าสร้างพันธมิตรทั้งกับกลุ่มที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน การร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ จัดทำห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมและสนับสนุนการบ่มเพาะแนวคิดเพื่อการพาณิชย์ การสนับสนุนฟินเทค และสตาร์ทอัพ ด้วยจุดแข็งของธนาคาร อาทิ การเปิด API เชื่อมฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อการพัฒนาบริการ การให้คำแนะนำด้านธุรกิจธนาคาร ระเบียบปฏิบัติ เทคโนโลยี รวมทั้งการให้ความสนับสนุนด้านเงินทุน
ในปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยจะขยายการลงทุนในฟินเทคและสตาร์ทอัพ ผ่านบริษัท Venture Capital โดยมีงบประมาณลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพของไทยและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมหรือโมเดลธุรกิจใหม่ และการลงทุนผ่านกองทุนเพื่อการระดมทุน (Fund of Fund) ช่วยให้ธนาคารได้เข้าถึงแนวคิดนวัตกรรมระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการระดมทุนระหว่างกัน สามารถสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มนักลงทุนและสตาร์ทอัพในทุกระดับ โดยธุรกิจที่เป็นเป้าหมายการลงทุน อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology), ธุรกิจที่สร้างความผูกพันและประสบการณ์กับลูกค้า (Customer Engagement & Experience), ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI/Machine Learning), ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี Big Data & Analytics, รวมถึงการลงทุนเพื่อการพัฒนาไอทีสำหรับองค์กร โครงสร้างพื้นฐาน และความปลอดภัย
นายธีรนันท์ กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยพร้อมสนับสนุนฟินเทคและสตาร์ทอัพ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการที่เป็นเลิศเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสูงสุดให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน พร้อมแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลก เพื่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด