KBank ผนึกกำลังพันธมิตร Tech Startup กว่า 20 ราย สนับสนุนคนขายออนไลน์เต็มรูปแบบ | Techsauce

KBank ผนึกกำลังพันธมิตร Tech Startup กว่า 20 ราย สนับสนุนคนขายออนไลน์เต็มรูปแบบ

  • ตลาดขายออนไลน์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนขายออนไลน์ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือที่สำคัญต่อการเติบโต KBank จึงประกาศกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของคนขายออนไลน์
  • ร่วมมือกับ Tech Startup กว่า 20 ราย เพื่อผนึกกำลังกันช่วยสร้างโอกาสด้านการเติบโตให้กับกลุ่มคนขายออนไลน์
  • เปิดตัว KOS พื้นที่ในการแบ่งปันความรู้ สร้างเครือข่าย และพบปะที่ปรึกษาสำหรับคนขายออนไลน์
  • เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจขายออนไลน์ ด้วยบริการสินเชื่อตัดขั้นตอนยุ่งยากบนแอป K PLUS

KBank เผยกลยุทธ์ในการเจาะกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มคนขายออนไลน์ ด้วยยุทธศาสตร์ “เปลี่ยนให้รู้ใจ ONLINE SELLER” โดย KBank ร่วมกับ Tech Startup กว่า 20 ราย ที่จะคอยช่วยเหลือสนับสนุน และให้คำปรึกษาแก่กลุ่มคนขายออนไลน์ในทุกระดับ พร้อมกับการเปิด KOS ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจออนไลน์ แหล่งอบรม สัมนาเสริมความรู้ด้านการทำธุรกิจดิจิทัล และเป็นพื้นที่ที่จะเปิดให้คนขายออนไลน์ทุกคนมีโอกาสได้เข้ามาเจอกับพาร์ทเนอร์ Tech Startup ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยให้กลุ่มคนขายออนไลน์สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมีระบบในยุคดิจิทัล

โดยนายพัชร  สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่บ่งบอกว่าการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีมูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ชในปี 2560 ทั้งสิ้น 2,812,592 ล้านบาท เป็นการขายสินค้าแบบ B2C มูลค่า 812,613 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 17% โดยมูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ 949,122 ล้านบาท มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียสูงสุดถึง 40% ผ่านช่องทาง e-marketplace 35% และซื้อขายผ่านออนไลน์ของโมเดิร์นเทรด หรือ Brand.com 25% ซึ่งมีสัดส่วนการทำธุรกรรมโอนเงินชำระผ่าน KBank อยู่ที่ 65% และการชำระผ่านช่องทางบัตรเครดิตที่ 35% จึงถือได้ว่าบัญชี Kbank เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในช่องทางการโอนชำระค่าสินค้า

ประเทศไทยมีมูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ชในปี 2560 ทั้งสิ้น 2,812,592 ล้านบาท เป็นการขายสินค้าแบบ B2C มูลค่า 812,613 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 17% โดยมูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ 949,122 ล้านบาท

ถึงแม้ว่ากลุ่มคนขายออนไลน์จะมีค่อนข้างหลากหลาย บางคนทำเป็นงานประจำ บางคนทำเป็นงานเสริม ทำให้การบอกตัวเลขที่แน่ชัดของผู้ทำธุรกิจขายออนไลน์ทำได้ยาก แต่ด้วยการประมวลผล Data ทาง KBank คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีลูกค้าที่ทำธุรกิจออนไลน์อยู่ 300,000 ราย แต่หลายๆ รายยังขาดปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นด้านการขาดความรู้ในตลาดออนไลน์ การบริหารจัดการ การจัดการบัญชี ไปจนถึงการขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้แข่งขันในตลาดได้ยาก หรือแม้แต่บางรายที่ยังเป็นเพียงผู้สนใจและยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงเป็นที่มาของกลยุทธ์ในการดูแลกลุ่มลูกค้าออนไลน์ ด้วย 5 ตัวช่วยจัดการธุรกิจแบบครบวงจร ได้แก่

  1. รับจ่ายเงินง่าย เสนอโซลูชั่นที่ช่วยในการจ่ายเงิน ได้แก่ K PLUS SHOP แอปพลิเคชั่นที่จะมาช่วยให้การรับเงินง่าย และมีฟีเจอร์ที่ช่วยด้านบริหารจัดการ เช่นการเปรียบเทียบราคา ติดตามสถานะการขนส่ง รายงานยอดขาย หรือ “บิลแมวเขียว” การชำระเงินผ่าน QR code และบริการ Pay with K+ ที่จะช่วยให้การปิดการขายบนแพลตฟอร์ม Facebook เป็นไปได้ง่ายขึ้น
  2. เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ บริการสินเชื่อเอสเอ็มอี บนแอป K PLUS ไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องยื่นเอกสาร สามารถรับสินเชื่อวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาทภายใน 1 นาที รวมถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มความคล่องในระยะสั้น ซึ่งเป้าสินเชื่อที่ทาง KBank ตั้งไว้คือ 2,000 ล้านบาท
  3. เพิ่มช่องการขาย ผ่าน K PLUS Market ซึ่งมีฐานลูกค้ากว่า 9.4 ล้านราย และช่วยพัฒนาทักษะการขายบน e-Marketplace Platform เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขาย
  4. เปิด K ONLINESHOP SPACE หรือ KOS แหล่งให้ความรู้และให้คำปรึกษาสำหรับกลุ่มคนทำธุรกิจออนไลน์ โดยจะเป็นพื้นที่ที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่าย และเปิดโอกาสให้คนขายออนไลน์มีโอกาสได้พบที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยเหลือในด้านต่างๆ ให้สามารถเติบโตได้ดีขึ้น โดย KOS จะตั้งอยู่ที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
  5. พัฒนา K DIGIBIZ แหล่งรวมตัวช่วยการจัดการธุรกิจ เครื่องมือการจัดการการขายไม่ว่าจะเป็นการเก็บ แพ็ค ส่ง ไปจนถึงการจัดการบัญชี

โดยในกลยุทธการสนับสนุนกลุ่มคนขายออนไลน์ของ KBank ในครั้งนี้ได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็น Tech Startup อีกหลายรายที่จะมาช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจขายออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Grab, LINE@, Flow Account, POS, Vision, Sellsuki, Zort, ITOPPLUS, PEAK, JUBILI, ARINCARE, BUILK, COMMERZY, COMANCHE, ORGANICE และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งด้วยความที่ธุรกิจเหล่านี้ค่อนข้างมีทักษะและประสบการณ์ที่ครอบคลุมในธุรกิจดิจิทัล จึงสามารถแบ่งปันความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มคนขายออนไลน์ได้อย่างตรงจุด ทั้งยังมีเครื่องมือที่ธุรกิจขายออนไลน์สามารถนำมาใช้พัฒนาธุรกิจของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘HoriXon T8' ธุรกิจใหม่ใต้ปีก TIPH x BE8 สู่ฮับ AI-Powered Insurance ภูมิภาค

TIPH จับมือ BE8 เปิดตัว HoriXon T8 หรือ 'T8' บริษัท ฮอไรซอน ที 8 จำกัด เพื่อปฏิวัติ Insurance Ecosystem ให้อุตสาหกรรมประกันภัย ด้วย AI-Powered Digital Transformation...

Responsive image

สรุปภารกิจนายกฯ บนเวทีโลก ในงานประชุม World Economic Forum 2025

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในงาน World Economic Forum (WEF) 2025 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 มกราคม 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในร...

Responsive image

อาเซียนร่วมใจ แสงแห่งความหวัง พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในเวทีโลก

ร่วมสำรวจเชิงลึกถึงศักยภาพ ความท้าทาย และวิสัยทัศน์ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ในการเสวนาหัวข้อ 'ASEAN: Even Stronger Together' หรือ อาเซียนยิ่งร่วมใ...