KBank จับมือ จุฬาฯ และ Nectec พัฒนา ‘NLP ภาษาไทย’ เข้าใจภาษาไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ | Techsauce

KBank จับมือ จุฬาฯ และ Nectec พัฒนา ‘NLP ภาษาไทย’ เข้าใจภาษาไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

กสิกรไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย NECTEC และ KBTG ทำวิจัยเรื่องการประมวลผลภาษาธรรมชาติซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารภาษาธรรมชาติระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ซึ่งการวิจัยในเรื่องนี้มีความโดดเด่นในการสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้ และวิเคราะห์ภาษาที่ซับซ้อนต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ ตั้งแต่ระดับคำ ระดับประโยค จนถึงระดับข้อความที่เราใช้สื่อสารกัน และหวังเป็นต้นแบบให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค (NECTEC) และบริษัท กสิกรไทย บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พัฒนาโปรแกรมการประมวลผลทางภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) หรือ NLP ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมการประมวลผลภาษาไทยซึ่งเรียกว่า Thai NLP ในส่วนของภาษาทางการเงินการธนาคารและธุรกิจ ทั้งนี้คอมพิวเตอร์ AI จะฉลาดไม่ได้เลยถ้าไม่มีเทคโนโลยี NLP ที่แปลภาษามนุษย์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว องค์ประกอบหลักจึงเป็นเรื่องของภาษาและคอมพิวเตอร์ และสำหรับภาษาไทยนั้นคงไม่มีใครเข้าใจได้ดีเท่าคนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากรที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านภาษาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ เนคเทค เป็นสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทำการวิจัยเรื่องนี้มายาวนาน ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็เป็นผู้นำด้านธุรกิจการเงินการธนาคารที่พร้อมสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้งานวิจัยออกมาใช้ได้จริงกับภาคธุรกิจ เกิดเป็นความสำเร็จในการพัฒนา Thai NLP ครั้งนี้ ซึ่งธนาคารได้มีการทดลองใช้งานระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงได้เห็นความก้าวหน้าของความสามารถในการแปลความหมายของภาษาไทยในเชิงลึกได้แม่นยำมากขึ้น อันจะเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาต่อยอดใช้งานสำหรับธุรกิจธนาคารและองค์กรอื่น ๆ ต่อไป 

สำหรับธนาคารกสิกรไทย ได้มีการนำ Thai NLP นวัตกรรมการประมวลภาษาไทยเข้ามาใช้เพื่อสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำความเข้าใจข้อความที่ลูกค้าพิมพ์เข้ามาในระบบต่าง ๆ เพื่อการให้บริการและตอบคำถามลูกค้าโดยแชทบอทบนช่องทางโซเชียลมีเดียให้มีความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (Customer Insight) จากการเก็บความเห็นลูกค้าซึ่งแต่ก่อนธนาคารต้องจ้างบริษัทภายนอกดำเนินการเพื่อทำการวิจัยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาทและได้ความเห็นลูกค้าในปริมาณไม่มาก ปัจจุบันธนาคารสามารถเก็บความเห็นลูกค้าได้ครอบคลุมทั้งฐานของธนาคารในช่องทางต่าง ๆ ในเวลาอันรวดเร็วและนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า

เมื่อ Thai NLP สามารถพัฒนาให้คอมพิวเตอร์ฉลาดได้ ธนาคารจะมี Virtual Assistant ที่จะสามารถเป็นเพื่อนกับลูกค้าคอยช่วยเหลือลูกค้าให้ได้รับบริการที่เกินความคาดหวัง และได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เราเห็นว่าในอนาคต NLP จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งของธนาคารและธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยวิเคราะห์และจัดการเอกสารและองค์ความรู้ของธนาคารช่วยคัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานกับธนาคาร สรุปเนื้อหาสำคัญที่จำเป็นต่อการอนุมัติสินเชื่อออกมาจากเอกสารประกอบการขอสินเชื่อรวมถึงยังสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบเอกสารสัญญาและธุรกรรมต่างๆได้ในอนาคต

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า งานวิจัย Thai NLP เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ต่างจากภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะลักษณะภาษาไทยมีความซับซ้อน ทั้งสระ วรรณยุกต์ ความหมายในการใช้งานก็มีความแตกต่างกัน รวมถึงมีคำใหม่เกิดขึ้นเสมอตามการใช้งานแต่ละสมัย โดยเฉพาะปัจจุบันภาษาไทยที่ใช้ในโซเชียลมีเดีย เช่น ภาษาไทยที่ใช้ในทางการเงินการธนาคารก็มีความเฉพาะแตกต่างจากภาษาในภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงภาษาทางราชการก็ต่างจากภาษาที่เราใช้ในชีวิติประจำวัน

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการศึกษาเกี่ยวกับงานวิจัย Thai NLP ในไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีความสนใจเรื่องนี้ ปัจจุบันคนที่สนใจ Thai NLP และ AI ในไทยเริ่มมีมากขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นงานที่เติบโตทั่วโลก แต่ถึงเราจะมีคนสนใจมากขึ้นกว่าเดิมมากแต่เมื่อเทียบกับสากลแล้วนักวิจัยไทยในด้านนี้ก็ยังน้อยอยู่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเน้นสร้างนักวิจัยใหม่ ๆ กระตุ้นให้มีคนมาสนใจงานด้านนี้มากขึ้น ซึ่งทางจุฬาฯ มีการสอนเรื่องนี้อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานวิจัยหลายคน ธนาคารเองก็ให้ความสนับสนุนในเรื่องทุนการศึกษากับทางมหาวิทยาลัย รวมถึงให้นักศึกษาได้ใช้ข้อมูล และ Open API ที่เกิดจากงานวิจัยนี้

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ก่อตั้งเนคเทคขึ้นมา เนคเทคให้ความสำคัญและพัฒนางานวิจัยด้าน Thai NLP มาตลอด การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญระหว่างองค์กรภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐในการสร้างความเข้มแข็งของ Thai NLP ให้เป็นนวัตกรรมที่ทันต่อยุคสมัย AI ในปัจจุบัน หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่นำ Thai NLP มาประยุกต์ใช้ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลหลากหลายและมีภารกิจสำคัญในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและต้องมีความรวดเร็ว เนคเทค-สวทช. ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศ มีนโยบายและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเพื่อสร้างงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง  

ล่าสุดเนคเทค-สวทช. ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการ AI ในชื่อว่า AI FOR THAI รองรับการประมวลผลภาษาไทย เสียง และรูปภาพ อาทิ การวิเคราะห์ความคิดเห็น (Sentiment Analysis) การสร้างแชทบอท (chat bot) การแปลเสียงพูดให้เป็นข้อความ (Speech To Text) การแปลข้อความให้เป็นเสียงพูด (Text To Speech) การวิเคราะห์ภาพ ใบหน้าและวัตถุ (Face & Object Recognition) นักพัฒนาโปรแกรมสามารถเข้ามาทดลองใช้งานและร่วมพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อมาวางบนแพล็ตฟอร์ม AI FOR THAI ต่อไปได้ และแน่นอนว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่ทาง KBTG วิจัยพัฒนาร่วมกับเนคเทค-สวทช. ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะโดยผ่านแพล็ตฟอร์ม AI FOR THAI เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทยต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มองศึก Virtual Bank ไทย เทียบชั้นผู้เล่นบนเวทีโลกได้หรือไม่

หลังจาก ธปท. เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank ยื่นขอเข้ามา ส่งผลให้ธุรกิจการเงินในไทยกลับมาคึกคักมากขึ้น...

Responsive image

Google Workspace อัปเกรดครั้งใหญ่ ! ดึงพลัง AI พลิกโฉมการทำงาน

Google Workspace บริการชุดแอปพลิเคชันผ่านระบบคลาวด์ ได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่ด้วยการผสานความสามารถของ Generative AI ในหลากหลายแอปพลิเคชันยอดนิยม เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นเรื่องที่...

Responsive image

จาก ลี เซียงลุง สู่ ลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 4

ลี เซียนลุง ได้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 16 เมษายน 2024 ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรั...