มข. เปิดตัว “เว้าจา” AI เว้าอีสาน หวังอนุรักษ์ภาษาถิ่นด้วยเทคโนโลยี | Techsauce

มข. เปิดตัว “เว้าจา” AI เว้าอีสาน หวังอนุรักษ์ภาษาถิ่นด้วยเทคโนโลยี

มาทำความรู้จักกับ “เว้าจา” AI ตัวใหม่สุดล้ำจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่แปลงข้อความเป็นเสียงพูดอีสาน อนุรักษ์ภาษาถิ่นด้วยเทคโนโลยี

ในยุคที่ AI กำลังมาแรงและมีการพัฒนาสุดล้ำเพื่ออำนวยความสะดวกสบายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแปลงเสียงเป็นข้อความ แปลงข้อความเป็นเสียง แปลงข้อความเป็นภาพ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้งานด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาไทย อ.ดร.พงษ์ศธร จันทร์ยอย อาจารย์วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเริ่มทำวิจัยพัฒนา “เว้าจา” AI แปลงข้อความเป็น “เสียงพูดอีสาน” ขึ้นมา

เด็กอีสานสมัยนี้ บางคนแทบจะพูดภาษาอีสานไม่ได้ เราอยากจะใช้เทคโนโลยีที่วิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้คงอยู่

จุดเริ่มต้นของ “เว้าจา”

แนวคิดนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนุ่มเลือดอีสานชาวขอนแก่นอย่าง อ.ดร.พงษ์ศธร เจ้าของงานวิจัย “เว้าจา” ตัดสินใจศึกษาค้นคว้า และวิจัยการประมวลผลภาษาธรรมชาติและเสียง (Natural Language and Speech Processing : NLSP) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษามนุษย์หรือภาษาธรรมชาติได้ จนเกิดเป็น AI แปลงข้อความเป็นเสียงภาษาอีสานขึ้นเพื่ออนุรักษ์รากทางวัฒนธรรมและภาษาถิ่นให้คงอยู่ด้วยเทคโนโลยี

การวิจัยเริ่มต้นจากการเก็บฐานข้อมูลเสียงภาษาอีสานตอนกลางจากเจ้าของภาษา (Native Speaker) มากกว่า 5,000 ประโยค ความยาวรวมกว่า 6 ชั่วโมง แล้วนำมาสู่การแทนเสียงด้วยแบบจำลองทางสถิติ เพื่อให้ AI มีเสียงที่เป็นธรรมชาติ

ต่อมาพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ 2 หรือ เว้าจา ในปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยี Deep Learning ให้ AI สามารถแปลงข้อความเป็นการออกเสียงภาษาอีสานได้สมบูรณ์ ถูกต้อง และสมจริงมากขึ้น และเพิ่มเสียง AI ผู้หญิงเข้ามาด้วย

วิธีการใช้งานเว้าจา 

เว้าจา มีวิธีใช้งานง่าย ๆ เพียงพิมพ์คำอ่านภาษาอีสานลงไป AI จะสังเคราะห์เสียงภาษาอีสานทันที สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย 

ซึ่งรถขอนแก่นซิตี้บัส รถขนส่งสาธารณะในตัวเมืองขอนแก่น ก็ได้นำเว้าจาไปใช้เป็นเสียงประกาศแจ้งจุดจอดตลอดเส้นทาง กลายเป็นจุดเด่นของระบบขนส่งสาธารณะของขอนแก่น ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้บริการประทับใจ

ทาง ผศ.ดร.พุธษดี กล่าวเสริมว่า งานวิจัยการประมวลผลภาษาธรรมชาติและเสียงที่วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาขึ้นนั้นไม่ได้มีเฉพาะเว้าจาที่เป็น AI สังเคราะห์เสียงเท่านั้น แต่ยังมีการแปลภาษาด้วยเครื่องมือการสืบค้นสารสนเทศ การสังเคราะห์เสียง การรู้จำเสียงพูด การรู้จำตัวอักษรโบราณ รวมไปถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่น ๆ ได้

การแปลงข้อความสังเคราะห์ออกมาเป็นเสียงนั้นเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็น ที่จะสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้จากการฟัง 

เว้าจายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว งานประชาสัมพันธ์ หรือการแพทย์ เพื่อรักษารากวัฒนธรรมอีสานให้อยู่คู่คนรุ่นหลังต่อไป

ในอนาคตคาดว่าจะมีการพัฒนา “เว้าจา” ให้มีฟังก์ชั่นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการพิมพ์คำภาษาไทยให้สามารถออกเสียงเป็นภาษาอีสานได้ หรือแปลงเสียงเป็นข้อความ รวมถึงการแปลภาษาไทยเป็นอีสาน หรือแปลภาษาอีสานเป็นไทย รวมไปถึงการสร้าง VOICE BOT คล้าย Siri แต่เป็นภาษาไทยและอีสาน เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ก่อนจะพัฒนาไปสู่ภาษาพื้นถิ่นอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจนำ AI “เว้าจา” ไปใช้งาน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


อ้างอิง: kku

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอปจีนครองสหรัฐฯ Temu และ TikTok ยอดดาวน์โหลดสูงสุดในหมู่ Gen Z ประจำปี 2024

ข้อมูลจาก Appfigures เผยแอปยอดนิยมในกลุ่มผู้ใช้อายุ 18-24 ปีในสหรัฐฯ หรือ Gen Z ที่สะท้อนพฤติกรรมการใช้งานได้อย่างน่าสนใจ...

Responsive image

เผย Apple พัฒนาแท็บเล็ตติดบ้าน มี Apple Intelligence สั่งทุกอย่างในบ้านจากปลายนิ้ว

Mark Gurman จาก Bloomberg เผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Apple ที่เตรียมเปิดตัวให้เห็นในเวลาอันใกล้ ซึ่งไม่ใช่ iPhone, iPad หรือ Macbook รุ่นใหม่ แต่เป็นแท็บเล็ตรุ่นใหม่ที่สามาร...

Responsive image

วาติกันจับมือ Microsoft เนรมิตวิหารนักบุญเปรโตด้วย AI ยกระดับการเยี่ยมชมออนไลน์ได้ทั่วโลก

นครรัฐวาติกันจับมือ Microsoft สร้างวิหารนักบุญเปรโตจำลองด้วย AI และเปิดให้รับชมแบบออนไลน์ได้ ยกระดับประสบการณ์การเข้าชมรูปแบบใหม่ พร้อมรับมือกับปริมาณผู้แสวงบุญ ควบคู่กับอนุรักษ์มห...