กรุงศรีเผยสถานการณ์เศรษฐกิจหลัง Trade War ย้ำปัจจัยภายนอกทำให้เงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค แนะผู้ประกอบการชิงจังหวะลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว
ผ่านครึ่งปีแรกของปี 2019 ซึ่งถือเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ระดับโลกซึ่งกระทบเศรษฐกิจมากมาย โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลก ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงถือโอกาสนี้เชิญสื่อมวลชนมาร่วมฟังบทวิเคราะห์เศรษฐกิจทั่วโลกและผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยจากทีม Global Market ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
คุณตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สถานการณ์ Trade War ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในยุโรป ทั้งกรณี Brexit และการแต่งตั้งประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรปคนใหม่ โดยทั้ง 2 กรณีมีผลต่อมาตรการการเงินของยุโรป
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ส่งผลกับไทยมากที่สุดคือ Trade War เพราะทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าของไทยโดยตรง ซึ่งสิ่งที่สะท้อนสถานการณ์ล่าสุดคือ การแข็งค่าของเงินบาทที่สูงถึง 6.32 เปอร์เซ็นต์ การที่เงินบาทแข็งค่าเป็นการฉุดรั้งศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย แต่ทั้งนี้ก็มีสัญญาณที่ดีอยู่ เพราะการเก็บเงินบาทของบรรดา Fund Manager ต่างประเทศซึ่งมองว่าเงินบาทเป็น Safe Currency จากการมีเงินทุนสำรองสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจึงทำให้เงินบาทแข็งค่าสูงอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังประสบปัญหาชะลอตัวส่งผลให้การประมาณการตัวเลขส่งออกของไทยต่ำกว่าเป้าที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงปรับลดตัวเลขประมาณการ GDP เหลือเพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์ จากที่ตั้งไว้ต้นปีที่ 4 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ กรุงศรีคาดการณ์ว่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงปี 2020 และมีโอกาสที่จะลงต่ำกว่า 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงมีข้อแนะนำ 2 ข้อด้วยกัน ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ซึ่งทำให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นด้วยต้นทุนที่ตำกว่า และให้ผู้ประกอบการถือโอกาสนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่ออัพเกรดศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด