พวกเราเริ่มต้นจากการพูดคุยกันว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราจะใช้ความรู้และความสามารถของเราให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง? เราทั้งคู่สอนองค์กรต่าง ๆ ในเรื่องของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking และคิดว่าแนวคิดนี้น่าจะเป็นรากฐานสำคัญในการที่คนและองค์กรจะเริ่มต้น “ออกแบบ” ทางเดินไปข้างหน้าเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน
“มนุษย์โควิด” เริ่มต้นจากความร่วมมือกันของ Skooldio LUKKID และ Eureka Global เป็นโครงการที่ต้องการชวนให้คนในสังคมร่วมกันระดมสมองออกแบบการใช้ชีวิตในช่วงภาวะที่ไม่ปกติให้กับกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคนตกงาน คนที่กังวลกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ครูและนักเรียน หรือ กลุ่มคนเปราะบาง เราเชื่อว่าการที่เราทำให้ภาพของ “มนุษย์โควิด” ชัดขึ้น น่าจะช่วยให้ผู้ที่กำลังคิดหาไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา สามารถมองปัญหาผ่านมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ครบถ้วนชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เราพยายามดึงกลุ่มผู้นำทางความคิดมาร่วมช่วยกันคิด และพยายามผลักดันให้ไอเดียต่าง ๆ ออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์กับสังคม หนึ่งในงานที่พวกเราเข้าไปช่วยต่อยอดคือการร่วมระดมสมองเพื่อออกแบบรูปแบบการบริการเพื่อเปิดกิจการของร้านค้าขนาดเล็ก (informal business sector) ร่วมกับสสส. และหอการค้า
ในการออกแบบการทำงานและการใช้ชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอนนั้น พวกเราคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ (1) การ “ถอยหลัง” มาทำความเข้าใจสถานการณ์ (2) การ “ตั้งคำถาม” ใหม่ ๆ จากความเข้าใจผู้เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง และ (3) การ “กล้า” เรียนรู้ผ่านการทดลองทำ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ Design Thinking
วิกฤติครั้งนี้คงจะยังไม่จบลงเร็วๆ นี้ พวกเราทุกคน ทุกธุรกิจ ยังคงต้องเดินหน้าปรับตัวเข้าหา The New Normal นอกจากการช่วยเหลือองค์กรในภาคสังคมระดมความคิดอย่างที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเราตั้งใจจะทำต่อจากนี้ คือการนำประสบการณ์ของพวกเราในเรื่อง Design Thinking และ Data Science เข้าไปช่วยองค์กรในภาคเอกชน มองปัญหาผ่านเลนส์ของ “มนุษย์โควิด” เพื่อออกแบบธุรกิจและวางกลยุทธ์ให้สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนไป เพราะเรายังเชื่อว่าในวิกฤตินี้ ยังมีโอกาส ถ้าธุรกิจถอยกลับมาเข้าใจปัญหา ตั้งคำถามใหม่ๆ และกล้าเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มนุษย์โควิด ตอน: เปิดเมืองให้ป(ล)อด ได้ที่นี่
บทความโดย
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้ง ลูกคิด
ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ก่อตั้ง skooldio
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด