หากจะพูดถึงรากฐานที่สำคัญของประเทศอีกกลุ่มคงจะหนีไม่พ้นเหล่าเยาวชน นิสิตนักศึกษา ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญเราจะต้องมีรากฐานที่ดีและมั่นคงมีความพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้จัดโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2T เดินหน้าสร้างรากแก้วที่แข็งให้แก่ประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาวิกฤต COVID-19 ไม่ได้มีเพียงปัญหาด้านสาธารณะสุขเท่านั้น แต่อีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลควรหาแนวทางแก้ไขควบคู่ไปพร้อมกันคือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลให้นักศึกษาจบใหม่หลายรายเข้าสู่ภาวะการว่างงาน รวมถึงเหล่าชุมชนในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ยังไม่สามารถหาทางออกจากปัญหานี้ได้เอง ดังนั้น อว.จึงได้จัดโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2T ภายใต้งบลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยจะส่ง บัณฑิตและนักศึกษารวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย จำนวน 60,000 ราย โดยแบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี 30,000 ราย นักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 จำนวน 15,000 ราย จากมหาวิทยาลัย 76 แห่ง และประชาชนอีก 15,000 ราย เข้าไปให้ความรู้แก่ประชาชนตามตำบลต่างๆ 3,000 แห่งทั่วประเทศ จากทั้งหมด 7,900 แห่ง
ประการแรก
สำหรับโครงการส่งนักศึกษาลงสู่ตำบลมีมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งวันนี้เราจะมาสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ โดยคณะอาจารย์จะต้องลงพื้นที่ไปกับ บัณฑิตและนักศึกษาเพื่อให้ความรู้และการต่อยอดความรู้ในอนาคตด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน พูดง่ายๆคือเราจะไม่สอนให้ประชาชนสามารถจับปลาได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสอนให้เลี้ยงปลาชั้นดี และหาแหล่งขายปลาให้ด้วย และหากโครงการนี้สามารถประสบความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 1 ปี ทาง อว.ก็มีแผนที่จะนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่พื้นที่ในตำบลต่างๆเพิ่มอีก 4,900 แห่ง เพื่อให่ครบทั้ง 7,900แห่งทั่วประเทศ
ประการที่ 2
สำหรับโครงการดังกล่าวจะให้บัณฑิต นักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างปฏิบัติงานลงพื้นที่โดยจะเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อทำ Big Data ของประเทศเพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ให้ถูกต้อง โดยจุดนี้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม หรือแพลตฟอร์มต่างๆ
ประการที่ 3
หลังจากจบโครงการในระยะเวลา 1 ปีแล้ว บัณฑิตและนักศึกษาจะต้องมีความรู้และทักษะเพิ่มเติมเพื่อพร้อมรองรับต่อตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการเงินการลงทุน ทักษะภาษาอังกฤษ รวมถึงฝึกฝนการเข้าสังคมด้วยเช่นกัน
' ตอนนี้บอกเลยว่าเราได้พามหาวิทยาลัยออกจากหอคอยงาช้างแล้ว เราจะต้องทำงานแบบท้าทายตัวเอง ไม่ใช้เช้าชามเย็นชาม ผมมองว่าแบบนั้นมันง่ายเกินไป ซึ่งความท้าทายและความกดดันต้องมีอย่างสร้างสรรค์ หรือ Positive Thinking มีความคิดเชิงบวกไม่กลัวปัญหามองวิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง ' ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด