เปิดใจนักพัฒนา Thai NLP กับการพัฒนาให้ ‘ดิจิทัล’ เป็นฝ่ายเข้าใจ ‘คนไทย’ | Techsauce

เปิดใจนักพัฒนา Thai NLP กับการพัฒนาให้ ‘ดิจิทัล’ เป็นฝ่ายเข้าใจ ‘คนไทย’

ทุกวันนี้ Digital Disruption เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว ซึ่งปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการฝ่าคลื่น Disruption ไม่ใช่เรื่องของการเข้าถึงหรือขาดเทคโนโลยี แต่เป็นการปรับใช้เทคโนโลยีโดยคนที่ดีกว่าเดิม เห็นได้จากเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” แก้ปัญหาต่างๆ บนโลกได้มากกว่าและรวดเร็วกว่า ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์ก้าวไปได้ไกลมาจากการเข้าใจ “ภาษา” ต่างๆ บนโลกได้ใกล้เคียงกับคนนั่นเอง

ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารในทุกระดับ ตั้งแต่ทางการ ธุรกิจ ไปจนถึงชีวิตประจำวัน เพื่อปลดล็อกให้ปัญญาประดิษฐ์แก้ปัญหาต่างๆ ของคนไทยได้นั้น ก็จำเป็นต้อง “สอน” ให้ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจภาษาไทยเสียก่อน ซึ่งล่าสุด 3 หน่วยงานระดับประเทศอย่าง KBank, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ NECTEC ได้จับมือกันประกาศความสำเร็จของ Thai NLP เราจึงขอพาทุกท่านมาร่วมสำรวจแนวคิดการพัฒนาโครงการนี้ที่ผลลัพธ์คือ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่คนไทยสามารถใช้เพื่อ “ยกระดับ” ประเทศไทยไปด้วยกัน

Natural Language Processing เทคโนโลยีที่คนไทย “ต้องทำ” เพื่อคนไทย

เมื่อพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ หลายคนจะนึกถึงคำว่า AI แต่จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีนี้มีส่วนประกอบใต้ร่มของมันจำนวนมาก ซึ่ง NLP หรือ Natural Language Processing คือหนึ่งในนั้น โดยเทคโนโลยีนี้เป็นร่มของ AI มีการทำงานเกี่ยวกับการประมวลผลด้านภาษาแบบเป็นธรรมชาติ กล่าวแบบสรุปได้ว่า NLP ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกับที่มนุษย์เข้าใจนั่นเอง

NLP เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลมากสำหรับภาษาสากล โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ นำไปสู่การพัฒนา Service ใหม่ๆ ที่ลดการทำงานซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ของคน เช่น การตอบคำถามบริการ การตรวจสอบ Feedback ของบริการ เป็นต้น

ในประเทศไทย NLP เองก็เป็นที่สนใจของภาคธุรกิจและภาคการศึกษาอย่างมาก เป็นที่มาให้ KBank และ KBTG บริษัทเทคโนโลยีในเครือ KBank, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ NECTEC จับมือกับผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในโครงการชื่อ Thai NLP ที่เทคโนโลยีนี้สร้าง Impact ให้กับธุรกิจได้ทันที





 

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า KBank ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้อย่างมาก เพราะธนาคารเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเอกสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการใช้ Thai NLP ช่วยในกระบวนการทำผลสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า จากขั้นตอนเดิมที่เราจะได้แบบสอบถาม 30,000 รายต่อเดือน NLP เพิ่มจำนวนให้เราสามารถรับแบบสอบถามได้ทุกวันจนได้แบบสอบถามลูกค้า 600,000 รายต่อเดือน

ด้าน ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า การพัฒนานวัตกรรมใดๆ หากเกิดจากความร่วมมือที่ครบถ้วน ย่อมเกิดผลที่ดีต่อทุกฝ่าย มหาวิทยาลัยก็ได้พัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ผลงานก็ช่วยเพิ่มคุณภาพของบุคลากร ภาคธุรกิจก็ได้ผลิตภัณฑ์ไปต่อยอด และยังสนองนโยบายของภาครัฐเป็นอย่างดี





 

ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า การพัฒนา NLP ภาษาไทยนับเป็นความท้าทายของการค้นคว้าวิจัยคอมพิวเตอร์ เพราะภาษาไทยมีความซับซ้อนสูง การจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เข้าใจบริบทของภาษาไทยจึงไม่อาจลงมือทำด้วยหน่วยงานเดียวได้ การร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้จึงถือเป็นความสำเร็จสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยเป็นอย่างดี





 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

แก้วิกฤติ Campaign สุดฮอต KBank x BlackPink ด้วย Thai NLP ใน 30 นาที!

นอกเหนือจากการใช้ในแบบสอบถามแล้ว KBank ยังนำ Thai NLP ไปใช้ในงานทดลองต่างๆ เช่น การวัดผล Campaign ใหญ่ที่ผ่านมาอย่างการเปิดจองบัตรเดบิต KBank x BlackPink โดยใช้ Thai NLP สำรวจความคิดเห็นบน Social Network ต่างๆ อัตโนมัติ จนพบว่า ลูกค้าไม่ได้เลือกลายบัตรที่ตัวเองต้องการ ทีมงานจึงนำข้อมูลส่วนนี้ไปแจ้งนักพัฒนาและจัดการปรับปรุง User Interface การเลือกลายบัตรใหม่ ภายในเวลา 30 นาที ซึ่งหลังจากเปลี่ยนแบบแล้ว ก็ได้รับเสียงชื่นชมกลับมาไม่น้อย

พูดคุยกับหัวหน้าทีมพัฒนา Thai NLP จาก KBTG และ NECTEC

หลังจากที่เราได้เห็นตัวอย่างการใช้งานของ Thai NLP โดย KBank ไปแล้ว เราจึงชวนบุคคลที่มีส่วนสำคัญในโครงการนี้จาก KBTG บริษัทเทคโนโลยีในเครือ KBank ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเชิงเทคนิค และผู้บริหารของ NECTEC องค์กรที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย ประกอบด้วย ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Principal Visionary Architect, KASIKORN Labs ของ KBTG และ ดร. ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)





 

ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล (ซ้าย) ดร. ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ (ขวา)

ทำไมโครงการ Thai NLP ถึงต้องมีความร่วมมือกัน

ดร. ชูชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จะเกิดผลที่ดีได้ก็ต่อเมื่อมีโจทย์ที่เหมาะสม ซึ่งทาง KBank และ KBTG มีความต้องการใช้เทคโนโลยีนี้ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร อีกทั้งยังมี กรณีศึกษาการใช้งานเป็นจำนวนมาก ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาและเทคโนโลยี ส่วน NECTEC ก็มีความรู้ด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย รวมถึงยังเป็นผู้ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในไทยด้วย การร่วมมือกันระหว่าง KBank กับจุฬาฯ และ NECTEC จึงถือว่าลงตัว

ดร. ทัดพงศ์ กล่าวว่า NLP ภาษาไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนไทยมีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีนี้มานานมากแล้ว แต่ทั้งนี้ NLP ที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานการสื่อสารทั่วไป ไม่เหมาะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน เป็นที่มาให้ KBank และ KBTG ต้องทำเอง และเมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็เห็นโอกาสที่จะนำสิ่งที่ทำไปขยายต่อกับจุฬาฯ และ NECTEC จึงเกิดความร่วมมือที่เห็นกันในวันนี้

Thai NLP กับจังหวะการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี

ดร. ชูชาติ กล่าวว่า คนไทยมีความพยายามพัฒนา NLP ภาษาไทยมานานเป็นหลักสิบปีได้แล้ว เช่นเดียวกับทั่วโลก แต่จากปัจจัยต่างๆ ที่พร้อมสรรพในตอนนี้ เช่น ข้อมูลภาษาที่อยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้น พลังการประมวลผลของ Hardware ที่ดีขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพของ Network เป็นตัวผลักดันให้ NLP เกิดการก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ดร. ชูชาติ กล่าวเสริมว่า คนไทยกำลังเริ่มต้นใช้จังหวะนี้พัฒนาเทคโนโลยี AI ทั้งหมด ซึ่ง NECTEC เองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ตื่นตัวด้วยการเปิดเว็บไซต์ AI for Thai ให้นักพัฒนาที่สนใจเข้าไปศึกษาและใช้งานฟรี

ดร. ทัดพงศ์ เสริมว่า Thai NLP  ร่วมกันพัฒนากับทางจุฬาฯ และ NECTEC   ซึ่งเปิดให้ใช้งานแล้วโดยทำเป็น API เปิดให้ใช้งานฟรี ผู้ที่สนใจลองดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://kbtg.openservice.in.th/api/

ปัจจุบัน Thai NLP มีความสามารถเข้าใจภาษาไทยได้สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงทัดเทียมมาตรฐานของ NLP ต่างชาติในการเข้าใจภาษาอังกฤษ โดยลายทางของการพัฒนา Thai NLP ทั้งสองท่านมองตรงกันว่า จะต้องทำให้คอมพิวเตอร์สื่อสารโต้ตอบกับคนไทยได้เหมือนคน ซึ่งสิ่งที่กำลังต้องทำต่อไปคือการทำให้ NLP เข้าใจภาษาที่เป็นความรู้ (Knowledge) และสื่อสารโดยอิงกับบริบท (Context) ได้มากขึ้น

ทำไมคนไทยถึงต้องพัฒนา NLP ภาษาไทย 

ดร. ทัดพงศ์ กล่าวว่า NLP เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นมากในอนาคตที่เราจะใช้ AI จัดการ Data ต่างๆ ซึ่งการพัฒนาให้ AI เข้าใจ Data ภาษาไทยนั้น คงไม่มีใครเหมาะไปกว่าคนไทยแล้ว ทั้งนี้ ก็มีโอกาสเหมือนกันที่ต่างชาติจะเข้ามาศึกษา พัฒนา และออกผลิตภัณฑ์ให้คนไทยใช้ แต่หากคนไทยขยับตัวเร็ว ก็จะช่วยให้งานที่เหมาะกับคนไทยที่สุด ยังคงเป็นของคนไทย 

ดร. ทัดพงศ์ ย้ำว่า NLP ภาษาไทยเป็นที่ต้องการอย่างมากในทุกอุตสาหกรรม และมีโอกาสเติบโตไปเสริมกับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ มากมาย เพราะ Thai NLP จะ Tackle ทุกข้อมูลที่เป็นภาษาไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางดิจิทัลที่รออยู่มากมายมหาศาล

โอกาสของ Thai NLP คือข้อมูลทุกอย่างที่เป็นภาษาไทย

โอกาสและอุปสรรคของการพัฒนา NLP ภาษาไทย และเทคโนโลยี AI ในไทย

ดร. ชูชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ มีความต้องการใช้เทคโนโลยี AI ในบ้านเราอย่างมาก ความพร้อมด้านเทคโนโลยีก็อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับนานาชาติ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสนับสนุนการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดนักพัฒนาและ Platform กลางที่เอื้อต่อนักพัฒนา สิ่งที่ควรทำในตอนนี้จึงเป็นการเพิ่มจำนวนนักพัฒนาและดึงให้ผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมไปด้วยกัน ซึ่งวิธีที่ดีก็คือการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อนำสิ่งที่แต่ละคนมีมารวมและช่วยกันผลักดันให้เป็นจริง

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับคนไทยโดยเฉพาะเท่านั้น เชื่อได้ว่าความร่วมมือครั้งนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปยังผู้เกี่ยวข้องให้ร่วมสนับสนุนการพัฒนานักวิจัยไทยในเทคโนโลยีนี้และที่เกี่ยวข้องต่อไป

บทความนี้เป็น Advertorial


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple Vision Pro ขายไม่ดีอย่างที่คิด Apple ลดคาดการณ์ยอดขายกว่าครึ่ง ปรับแผนใหม่

Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สาย Apple เผยว่า Apple ได้ลดตัวเลขยอดขาย Apple Vision Pro ในปีนี้เหลือเพียง 400-450,000 เครื่องเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ (มากกว่า 700–800,000 เครื่อง)...

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

สร้างวิดีโอสมจริง ใช้แค่รูปนิ่งกับคลิปเสียง รู้จักโมเดล VASA-1 ที่ Microsoft กำลังวิจัย

แค่ใช้รูปถ่ายกับคลิปเสียง ก็สามารถสร้างวิดีโอของเราได้แบบสมจริง ด้วยโมเดล VASA-1 ตัวใหม่จาก Microsoft ที่ต้องบอกว่าทั้งน่าทึ่ง น่าประทับใจ และน่ากลัวด้วย...