ใครจะมา win ? เปิดกรุผลงาน 6 ผู้บริหาร เข้าชิงตำแหน่ง CEO ปตท. คนใหม่ | Techsauce

ใครจะมา win ? เปิดกรุผลงาน 6 ผู้บริหาร เข้าชิงตำแหน่ง CEO ปตท. คนใหม่

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธุรกิจพลังงานข้ามชาติชั้นนำ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท  โดยเป็นบริษัทที่ถือว่ามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการบริหารงานจึงต้องมุ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก เมื่อไม่นานมานี้ จากการที่ CEO คนปัจจุบัน คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร กำลังจะครบวาระในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ดังนั้น ทาง ปตท. จึงได้ประกาศรับสมัครประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 4-26 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มีผู้สนใจยื่นใบสมัครทั้งสิ้น 6  คน ดังนั้นแน่นอนว่าผู้ที่จะมารับหน้าที่ต่อนั้นคงต้องมีวิสัยทัศน์ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ และสามารถขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

CEO

ในบทความนี้ Techsauce ได้รวบรวมผลงานที่สำคัญ และวิสัยทัศน์ในการทำงานที่น่าสนใจของผู้บริหารที่เข้าชิงตำแหน่ง CEO คนที่ 10 ของปตท. มาให้ผู้อ่านได้ร่วมกันลุ้นว่าผู้บริหารท่านใด จะมารับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป 

คนที่1 คุณชวลิต ทิพพาวนิช

 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และได้ปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ซึ่งถือเป็นแกนนำธุรกิจไฟฟ้าของเครือ ปตท. โดยประกอบธุรกิจหลัก คือการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม

สำหรับคุณชวลิต ทิพพาวนิช ปัจจุบันอายุ 56 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (โทรคมนาคม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ใน GPSC เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 

ด้านประวัติการทำงานเมื่อปี 2556 - 2558 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อมาในปี 2558 - 2559 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และปฏิบัติงานในตำแหน่ง President บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด

และล่าสุดเมื่อปี 2560 - 2561 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และปฏิบัติงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ - ด้านบริหารศักยภาพองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

หลังจากที่คุณชวลิตได้เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว GPSC ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยการสามารถควบรวมบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ได้สำเร็จ ส่งผลให้ภายหลังการรวมกิจการ GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น  4,726 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

โดยล่าสุดไตรมาสที่ 3/2562 ที่ผ่านมา GPSC ได้มีการประกาศผลการดำเนินงาน รายได้รวมอยู่ที่ 19,226 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12,565 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งมาจากการเข้าซื้อกิจการของโกลว์พลังงาน

และแน่นอนว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป เมื่อการควบรวมเข้าที่เข้าทาง และบริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้ว  GPSC จะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่อง 

 

คนที่2 คุณวิรัตน์ เอื้อนฤมิต

 ประธานเจ้าหน้าที่ ประจำ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายปตท. และปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีธุรกิจหลักคือ การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับคุณวิรัตน์ ปัจจุบันอายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จาก Pennsylvania State University ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้เข้าอบรมในหลักสูตร Advanced Management Program (AMP) ของ Harvard Business School, สหรัฐฯ และ AMP ของ INSEAD Business School ประเทศฝรั่งเศส

โดยได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ในไทยออยล์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน2562 หลังจากที่คุณอธิคม เติบศิริ สิ้นสุดการปฏิบัติงาน  

ด้านประวัติการทำงานคุณวิรัตน์ ถือเป็นบุคคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจพลังงานด้วยประสบการณ์ทำงานกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติอย่าง เชลล์ (ประเทศไทย) มาก่อน รวมถึงประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่งก่อนเข้าร่วมงานกับกลุ่ม ปตท.

โดยเมื่อปี 2548 - เมษายน 2557 ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินองค์กร บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2557 - เดือนกันยายน 2559 ได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นเดือนตุลาคม 2559 - สิงหาคม 2562 ได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สำหรับไทยออยล์ ถือเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการ transform ธุรกิจไปเป็นบริษัทพลังงานและเคมีที่มีความยั่งยืนด้วยการประกอบธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือไปจากธุรกิจหลัก ซึ่งโครงการสำคัญที่จะช่วยให้ไทยออยล์ต่อยอดได้สำเร็จ คือ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ซึ่งได้มีการลงทุนก่อสร้างไปกว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

หากโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโรงกลั่น โดยจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงถึง 400,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิด Economies of scale ลดต้นทุนวัตถุดิบ ตลอดจน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้ ซึ่งก็ถือเป็นภารกิจสำคัญของไทยออยล์ไม่น้อยเลยทีเดียว

คนที่ 3 คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. (Downstream Petrochemical ) ซึ่งเป็นส่วนท่ีนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีตั้งต้นและขั้นกลางมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นสุดท้ายเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น เม็ดพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ หรือแม้กระทั่งสารเคลือบผิวและกาว เป็นต้น

สำหรับคุณอรรถพล ปัจจุบันอายุ 54 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท พัฒนาการเศรษฐกิจมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2561

ด้านประวัติการทำงานคุณอรรถพล ได้ร่วมงานกับปตท. ในหลายตำแหน่งและหลายภาคส่วน นับตั้งแต่ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ฝ่ายการตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ ฝ่ายการตลาดค้าปลีก ฝ่ายบริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการจนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2558 - เดือนกันยายน 2560 ได้มาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท.

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2560 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย อีกหน้าที่หนึ่ง 

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสนใจกับอีกหนึ่งตำแหน่งของคณอรรถพล คือ การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ซึ่งตามที่ทราบกันดีว่าดำเนินธุรกิจในส่วนของสถานีบริการน้ำมันปตท. และร้านคาเฟ่ Amazon ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาหลังจากที่ได้มีการ spin off ออกจากบริษัทแม่อย่างปตท. เพื่อเตรียมตัวระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันค่อนช้ากว่าแผนเดิม แต่อย่างไรก็ตามจากการขยายการเติบโต และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ ก็เชื่อได้ว่าคงเข้าจดทะเบียนในตลาดแน่นอน ไม่นานเกินรอ

คนที่ 4 คุณนพดล ปิ่นสุภา

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมตำแหน่งกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทฯ พร้อมสาธารณูปโภคที่สนับสนุนการดำเนินอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร เช่น ท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า

สำหรับคุณนพดล ปัจจุบันอายุ 55 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวของIRPC เมื่อวันที่ 1  กุมภาพันธ์ 2562 

ด้านประวัติการทำงาน คุณนพดลถือเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ผ่านธุรกิจด้านต่าง ๆ ของปตท.มากว่า 29 ปี ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติด้านสายงานระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและสายงานก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศด้านการค้าน้ำมันดิบต่างประเทศและบริหารความเสี่ยง รวมทั้งบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย (ปิโตรนาส) และเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในช่วงที่บริษัทเตรียมจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

 ต้องบอกว่าการเข้ารับตำแหน่งบริหาร IRPC สำหรับปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว เพราะประสบกับความท้าทายโดยเฉพาะปัจจัยภายนอกทั้งในเรื่องของสงครามการค้า หรือจะเป็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ IRPC โดยตรง  จึงเป็นเหตุผลให้คุณนพดลปรับแนวทางการบริหารงานใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการทำ Digital Transfomation สร้างนวัตกรรมในองค์กร รวมถึงการสร้าง Culture ในการทำงานใหม่ด้วยการปลูกฝัง IRPC DNA ให้กับคนในองค์กรที่จะร่วมพัฒนาไปด้วยกัน (สามารถติดตามวิสัยทัศน์เพิ่มเติมของผู้บริหาร IRPC ร่วมแชร์กับ Techsauceในคอลัมน์ Exec Insight ได้ที่ https://techsauce.co/exec-insight/dna-transformation-irpc   ) 

นอกจากนี้แล้วคุณนพดลยังได้มีการหาแนวทางใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงของการพึ่งพาธุรกิจหลักด้วยการมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่เป็น specialty product มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่านโยบายดังกล่าวสามารถช่วยฟื้นฟู IRPC ให้ลดความผันผวนของผลประกอบการได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่น่าจับตามองกับการลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำองค์กรใหญ่ในครั้งนี้ 

คนที่ 5 คุณเพียงพนอ บุญกล่ำ

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย ปตท. ถือเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว กับการลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำองค์กรใหญ่ในครั้งนี้ ด้วยประสบการณ์ของการเป็นนักกฎหมายแนวหน้าของประเทศไทย 

สำหรับคุณเพียงพนอ ปัจจุบันอายุ 54 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท Master of Law (LL.M.) Columbia University School of Law, U.S.A. ปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายธุรกิจ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้คุณเพียงพนอยังดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท East Mediterranean Gas Company S.A.E. (“EMG”) ประเทศอียิปต์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชมรม / วิทยากร ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย) คณะกรรมการนโยบายการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์พิเศษ วิชา Corporate Organization and Governance หลักสูตร The Executive MBA Program และ MBA สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษ วิชาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับธุรกิจ หลักสูตรปริญญาโท คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

คนที่ 6 คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกในฐานะเป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ของกลุ่ม ปตท ซึ่งก็มีทั้งในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ร้านคาเฟ่ Amazon และธุรกิจในต่างประเทศ 

สำหรับคุณจิราพร  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  วิทยาศาสตร์บัณฑิต (การบัญชี) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การบริหารการเงิน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท บัญชีมหาบัณฑิต (การต้นทุน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้านประวัติการทำงาน เมื่อปี 2555-2559 ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน หน่วยธุรกิจน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต่อมาในปี 2559-2560 เข้ารับการดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หลังจากนั้นในปี 2560 - 2561 ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบัน PTTOR อยู่ระหว่างเตรียมตัวที่จะเข้าระดมทุน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการแยกตัวออกจากการดูแลขอบริษัทแม่ อย่าง ปตท. ใหญ่เต็มตัว ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกถือเป็นธุรกิจเสรีที่มีผู้ค้ามากราย และมีการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น ปตท. จึงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการในหน่วยธุรกิจน้ำมัน spin off ออกมา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานและขยายการเติบโต 

โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้มา PTTOR ได้มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของสถานีให้บริการน้ำมัน และ ร้านคาเฟ่ Amazon ซึ่งถือเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการบริหารงานของคุณจิราพร ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ PTTOR ให้ขยายต่อไปอีก และเป็นที่น่าเฝ้ารอ และติดตามเป็นอย่างยิ่งกับการเตรียมตัวเพื่อระดมทุน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างที่ได้กล่าวไปในส่วนของคุณอรรถพล ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ 

อย่างไรก็ตามการเข้าชิงตำแหน่งซีอีโอคนที่ 10 แทนคุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่กำลังจะหมดวาระในปี 2563 ครั้งนี้ มีผู้หญิงเข้ามาลงสมัครด้วย ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่แว่วมาว่าตัวเต็งของการลงสมัครท้าชิงครั้งนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสี่ของผู้บริหารผู้ชาย ที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานที่เป็น ‘ลูกหม้อ’ อยู่กับปตท.มาจนเข้าอกเข้าใจกันทุกสถานการณ์ 

โดยผู้สมัครทั้งหมดจะต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์กับคณะกรรมการสรรหา ที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยเฉพาะในการร่วมคัดเลือกอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท.อนุมัติ ซึ่งทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ 

งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้สมัครท่านใดจะแสดงวิสัยทัศน์ได้ตรงใจคณะกรรมการสรรหา รวมถึงมีนโยบายที่สามารถขับเคลื่อนปตท. ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเติบโตในภาพใหญ่มากที่สุด ต้องมารอลุ้นกัน...


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Willow ชิปควอนตัมจาก Google แรงทะลุจักรวาล ประมวลผลเรื่องยากได้ในเวลา 5 นาที เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ล้านล้านเท่า

Willow คือชื่อชิปควอนตัมใหม่ที่ Google พัฒนาสำเร็จ โดยแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้ง ชิปตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้เร็ว...

Responsive image

ไทยตื่นตัวเซมิคอนดักเตอร์ ปิดดีลไปแล้วกว่า 22,000 ล้าน ภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนสิ้นปี

ไทยก้าวสู่ยุคเซมิคอนดักเตอร์เต็มตัว! 4 เดือนก่อนสิ้นปี ปิดดีลลงทุนไปกว่า 22,000 ล้านบาท เสริมฐานการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมผลักดันบุคลากรสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต...

Responsive image

ลิซ่า ซู จาก AMD คว้า CEO แห่งปี 2024 จากนิตยสาร TIME

ลิซ่า ซู ซีอีโอ AMD ได้รับเลือกให้เป็นซีอีโอแห่งปี 2024 จากนิตยสาร TIME โดยได้รับการยกย่องในวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำที่สามารถพลิกฟื้น AMD จากการเกือบล้มละลายเมื่อ 10 ปีก่อน กลายเ...