เปิดกลไกการเงิน 300 ล้านบาทที่ NIA ปรับเพื่อซัพพอร์ต เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน | Techsauce

เปิดกลไกการเงิน 300 ล้านบาทที่ NIA ปรับเพื่อซัพพอร์ต เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน

ยิ่งประเทศไทยเร่งการเติบโตด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงเร่ง 'เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา' ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP และ 'การสร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์' ด้วยการปรับโฉมการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และวิสาหกิจชุมชน ผ่านกลไกการเงินภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท โดยมุ่งต่อยอดพัฒนาด้านการตลาด การนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน และสามารถดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ออกโรงพร้อม ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม NIA เผยกลไกการเงิน 300 ล้าน ที่จะเปิดทางให้ทั้งเอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ – วิสาหกิจเพื่อสังคม – วิสาหกิจชุมชน เร่งสร้างบริษัทนวัตกรรมทั้งในกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเร่งผลักดันให้โครงสร้างธุรกิจมีความแข็งแกร่ง โดยมี แหล่งเงินทุน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชน เข้าถึงได้ง่ายและได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึง ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากนวัตกรรมแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศก้าวไปสู่ 30 อันดับแรกของประเทศชั้นนำที่มีนวัตกรรมที่ดีที่สุดในโลกภายในปี 2570 อีกด้วย

การจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตด้านการวิจัยและพัฒนาในธุรกิจนวัตกรรม ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญอย่างมากกับบทบาทการเพิ่มสัดส่วนการลงทุน – ผู้กำหนดกลไกกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการใช้จ่ายและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ NIA เข้าใจดีว่ายังมีเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพบางส่วนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนเนื่องด้วยอุปสรรคหลากหลายประเด็น NIA จึงทบทวนและปรับเปลี่ยนกลไกการสนับสนุนให้สอดรับกับความต้องการของเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจนวัตกรรมให้มากขึ้น

ในด้านอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ที่ ผอ.NIA กล่าวถึง เช่น

  • การเขียนแผนธุรกิจ 
  • วัตถุประสงค์การขอรับเงินทุนหรือสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 
  • ความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี 
  • ความเป็นไปได้ด้านตลาด ฯลฯ 

โดยเฉพาะการปิดช่องว่างและเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรมมีความแข็งแรงตั้งแต่ก่อนขอรับทุนด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้คำปรึกษาตั้งแต่การเขียนข้อเสนอโครงการจนถึงการทำให้นวัตกรรมมีความสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบสำคัญทั้งด้านความพร้อมของเทคโนโลยี การตลาด รวมถึงการต่อยอดในอนาคต ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการกลไกใหม่นี้ทั้งในกลุ่มนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและกลุ่มนวัตกรรมเพื่อสังคม ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในทุกเครือข่าย

NIA

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA มีเป้าหมายในการเป็นผู้กำหนดทิศทางและอำนวยความสะดวกทางการเงินนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของสังคม สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านกลไกสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่และเชื่อมต่อกับพันธมิตรด้านการเงินนวัตกรรม การลงทุน และตลาดนวัตกรรม เพื่อการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้มีการปรับโฉมกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนไทยผ่านแพ็กเกจใหม่ โดยปรับเพิ่มการพัฒนาด้านการตลาดให้มากขึ้น ทั้งการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน การทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท

สำหรับการตั้งเป้าหมาย ผอ. NIA คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงในหลากหลายอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เงินทุนสนับสนุนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมของ NIA นอกจากจะได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว อีกส่วนหนึ่งได้มาจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในฐานะ Program Management Unit (PMU) สำหรับดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สนับสนุนเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการผลิตและสร้างต้นแบบนวัตกรรมเพื่อทดสอบหรือนำร่องเป็นหลัก

NIA ปรับแผนเดิม เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนด้วย 7 กลไก

NIA

ด้าน ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่า กลไกการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของ NIA ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เอื้ออำนวยให้ผู้รับทุนมีความสามารถและศักยภาพพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเป็นหลัก (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการสนับสนุนร้อยละ 95 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) โดยมีผู้รับทุนสนับสนุนในด้านการขยายผลนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้ผู้รับทุนส่วนหนึ่งมักประสบปัญหาที่ไม่สามารถขยายผลโครงการระดับเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ การที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นผู้บริหารและจัดสรรกองทุน ววน. มองเห็นศักยภาพและความสามารถของ NIA ในการทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้ NIA สนับสนุนการทำงานในด้านการผลักดันนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชยฺ์เพื่อนำมาซึ่งรายได้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม NIA จึงพัฒนากลไกการสนับสนุนของสำนักงานฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ในรูปแบบใหม่เพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนใหม่โดย NIA นี้ จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขยายตลาดใหม่ และเติบโตอย่างก้าวกระโดด อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และจะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA

ดร.สุรอรรถกล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ออกแบบและพัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงินทั้งสิ้น 7 กลไก โดยจะเพิ่มการสนับสนุนที่ช่วยให้สามารถนำนวัตกรรมไปสู่ตลาดให้มากขึ้น ทั้งการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน การทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง ดังนี้

1) กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์และฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 

2) กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายมากขึ้น การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุน 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA

3) กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Managing Innovation Development: MIND) 

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ 

4) กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (Standard Testing)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร การวิเคราะห์ทดสอบ การทวนสอบและประเมินผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือขอรับรองมาตรฐานที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ 

5) กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) 

เพื่อทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 100 ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานภาครัฐ และสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานเอกชน หรือไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับขยายธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์ของธุรกิจฐานนวัตกรรมในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายพร้อมกับการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

6) กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับเพิ่มสภาพคล่องเพื่อการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรม และ 

7) กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding) 

การสนับสนุนในรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สัดส่วนร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อโครงการ ร่วมกับแหล่งทุนภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการรับรอง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเพิ่มกำลังการผลิต การขยายทีม และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา 

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567 NIA จะนำร่องทดลองนำกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนใหม่นี้ไปใช้ในการดำเนินงานของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจก่อน และในปีงบประมาณต่อไปจะนำมาใช้เป็นกลไกการให้ทุนเพื่อดำเนินงานตามโปรแกรมการให้ทุนของ NIA ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CHANGAN Automobile เปิดตัว NEVO E07 : SUV พร้อมฟังก์ชันกระบะเปิดท้ายในงาน “ปักกิ่ง ออโต้ โชว์ 2024”

CHANGAN เปิดตัว NEVO E07 ในงานแสดงรถยนต์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นยานพาหนะแปลงโฉมคันแรกของโลก ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก NEVO E07 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่คันแรกของบริษัทในโฉม SUV ...

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...