SVB Financial Group ยื่นล้มละลาย ย้อนอ่าน Timeline วิกฤต Silicon Valley Bank | Techsauce

SVB Financial Group ยื่นล้มละลาย ย้อนอ่าน Timeline วิกฤต Silicon Valley Bank

ทำความรู้จัก Silicon Valley Bank คือใคร จากจุดเริ่มต้นก่อนล่มสลาย

Silicon Valley Bank

จุดเริ่มต้น Silicon Valley Bank (SVB) 

ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 โดยมีชื่อมาจากย่านที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากอย่าง Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลกเทคโนโลยีชั้นสูง และนวัตกรรมส่วนใหญ่ของโลก และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple เป็นต้น 

โดย Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารที่ร่วมทุนและลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ หรือที่เรียกว่า Venture Capital (VC) โดยแลกกับหุ้นหรือสิทธิประโยชน์บางอย่าง  เมื่อปีที่แล้วบริษัทถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทปล่อยกู้ที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์ประมาณ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และได้จัดหาเงินทุนให้กับบริษัทสตาร์ทอัพมากมาย เช่น Shopify, Pinterest, Fitbit, Roku และสตาร์ทอัพอีกหลายพันราย 

นอกจากนี้ SVB ยังมีความสัมพันธ์กับทางธุรกิจกับบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีหลายแห่ง เช่น Castle Island, Dragonfly, Pantera แม้แต่ BlockFi ที่ล้มละลายไปก่อนหน้านี้ก็ฝากเงินกว่า 227 ล้านดอลลาร์ไว้ที่ SVB ขณะที่ Circle บริษัทผู้ออกเหรียญ Stablecoin อย่าง USDC เผยว่ามีเงินทุนสำรองประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์ที่ยังคงอยู่กับ SVB ทำให้ราคาเหรียญ USDC หลุดการตรึงมูลค่าจากความกังวลเรื่องการปิดกิจการ

ผู้บริหารปัจจุบันมีใครบ้าง

Greg Becker ประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ล้มเหลวของ Silicon Valley Bank ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการบริหารที่ Federal Reserve Bank of San Francisco ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม อีกทั้งยังมีการขายหุ้นเป็นมูลค่า 3.6 ล้านเหรียญฯ 11 วันก่อนจะเกิดเหตุการณ์ปิดตัวของธนาคาร

บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญในการจัดการบริหารความเสี่ยงอย่าง Joseph Gentile ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (Chief Financial Officer) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง CFO บริหารธนาคาร Lehman Brothers ที่ล้มละลายเมื่อปี 2008 มาก่อน

เหตุการณ์การล่มสลาย

ผลพวงจากการล้มของ SVB กำลังจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อบริษัทต่างๆ เนื่องจากเป็นบริษัทปล่อยกู้รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในวงการสตาร์ทอัพ ปัจจุบันสตาร์ทอัพมากกว่า 50% ล้วนมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ SVB ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม การล่มสลายของ SVB แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ตึงเครียดในธุรกิจจากต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งขึ้นเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูง แต่การเพิ่มดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาอย่างไม่คาดคิดต่อบริษัทมากมาย เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา SVB เสนอแผนระดมทุนจากนักลงทุนเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปพยุงบริษัทที่ขาดทุนอย่างหนักจากตราสารหนี้ ราคาหุ้น SVB ดิ่งลงทันที 60% ในวันที่ 9 มีนาคม และการซื้อขายหุ้นต้องหยุดเมื่อ 10 มีนาคม 

มาตรการคุ้มครองนักลงทุน 

หลังการปิดตัว SVB  ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ FDIC ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลาง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าธนาคารมีความแข็งแกร่งและมีความรับผิดชอบเพียงพอที่จะให้บริการลูกค้า

  • วันที่ 10 มี.ค. FDIC หรือหน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation) ประกาศปิดตัว SVB โดยกรมคุ้มครองการเงินและนวัตกรรมแห่งแคลิฟอร์เนียแต่งตั้งให้ FDIC เข้ามาดูแลจัดการสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของ SVB เพื่อปกป้องผู้ที่ฝากเงินที่มีประกัน 

  • FDIC ได้สร้าง Deposit Insurance National Bank of Santa Clara หรือ DINB มาเป็นธนาคารแยก โดย FDIC จะโอนเงินฝากประกันทั้งหมดของ SVB ไปยัง DINB ทันที

  • ผู้ฝากที่มีประกันทุกคนจะสามารถเข้าถึงเงินฝากที่ของตนได้เต็มที่ไม่เกินเช้าวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. โดย FDIC จะจ่ายเงินปันผลล่วงหน้าให้กับผู้ฝากที่ไม่มีประกันภายในสัปดาห์หน้า 

  • ผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันจะได้รับใบพิทักษ์ทรัพย์สำหรับจำนวนเงินที่เหลืออยู่ของเงินที่ไม่มีประกัน เนื่องจาก FDIC ขายสินทรัพย์ของ Silicon Valley Bank อาจมีการจ่ายเงินปันผลให้ในอนาคต 

  • สำนักงานใหญ่และสาขาของ Silicon Valley Bank จะเปิดทำการ และเปิดกิจกรรมการเงินอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. (ดำเนินการโดย DINB) เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าสามารถเข้าถึงกองทุนประกันของตนได้อย่างต่อเนื่อง

  • ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2022 ที่ผ่านมา SVB มีสินทรัพย์รวมประมาณ 209.0 พันล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากทั้งหมดประมาณ 175.4 พันล้านดอลลาร์

Silicon Valley Bank ล้ม กระทบ Startup อย่างไรบ้าง ?

จากเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดการเงินโลก ภายในสัปดาห์เดียวนั่นคือ การที่ธนาคารพาณิชย์ถึง 3 แห่งต้องปิดกิจการลง ได้แก่  Silvergate Bank, Silicon Valley Bank และล่าสุดตามมาด้วย Signature Bank

ซึ่งการที่ Silicon Valley Bank ธนาคารผู้ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังกลายเป็นต้นตอของวิกฤตนั้นปิดตัวลง ได้สร้างผลกระทบอย่างน้อยสองด้าน ด้านหนึ่งคือกลุ่มธนาคารที่มาจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอีกด้านคือ ผลกระทบที่มีต่อกลุ่มสตาร์ทอัพหลายรายที่ได้มีการฝากเงินไว้ที่ Silicon Valley Bank 

แล้วผลกระทบที่มีต่อ Startup นั้นเป็นอย่างไรบ้าง ? เห็นได้จากข้อมูลของ NVCA ที่ระบุว่า Silicon Valley Bank มีธุรกิจขนาดเล็กกว่า 37,000 แห่ง ที่มีเงินฝากมากกว่า 250,000 ดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้ยอดคงเหลือเหล่านี้ไม่สามารถถูกถอนออกมาได้ และใน Community ของ Y Combinator มีจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของ Startup ที่ใช้ SVB เป็นบัญชีธนาคารเพียงบัญชีเดียวเป็นผลให้พวกเขาจะไม่สามารถมีเงินสดเพื่อดำเนินการจ่ายเงินเดือนในอีก 30 วันข้างหน้า

จากการคาดการณ์ระบุว่า เหตุการณ์นี้จะกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กและ Startup มากกว่า 10,000 บริษัท หากแต่ละบริษัทมีจำนวนการจ้างงานเฉลี่ยบริษัทละ 10 คน สิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน หรือการปิดตัวลง ซึ่งจะกระทบกว่า 100,000 ตำแหน่งด้วยกัน

ขณะที่ TechCrunch ได้ทำการรวบรวมสถานการณ์ของสตาร์ทอัพหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ SVB เช่น บริษัท Polymath Robotics ที่ Co-founder และ CEO ตัดสินใจถอนเงินของบริษัทจำนวน 50% ที่อยู่ใน SVB และเคลื่อนย้ายไปยัง Mercury Bank ทันที หลังเห็นข้อความใน WhatsApp กลุ่มของ Y Combinator 

ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อธนาคาร SVB ถูกปิดตัวลง ดังนั้นบรรดาผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีของตนได้ รู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน เนื่องจากจะส่งผลในระยะสั้นต่อการจ่ายเงินเดือนพนักงาน

อีกทั้งในกรณีของ Camp สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซขายของเล่น ที่ได้รับผลกระทบจากการล้มของ SVB เช่นกัน โดยได้มีการประกาศลดราคาของทุกอย่างบนเว็บไซต์ลงกว่า 40% ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการกระแสเงินสดที่จำให้กับบริษัทเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป

หรือแม้กระทั่ง Zach Tratar ผู้ก่อตั้ง Embra สตาร์ทอัพด้าน AI ที่มีบริการคล้าย ChartGPT เผยว่า การปิดกิจการของ SVB ส่งผลกระทบต่อวงการสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก  เช่น สตาร์ทอัพที่อยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการ ดีลเหล่านั้นก็จะล่าช้า หรืออาจจะมีการเลื่อนออกไป และหากอยู่ในขั้นตอนการระดมทุนก็ต้องหยุดชั่วคราวเช่นเดียวกัน ส่วนสตาร์ทอัพที่มีเงินฝากในนั้นและไม่สามารถเข้าถึง 95% ของเงินทุนได้ มีแนวโน้มที่จะพลาดการจ่ายเงินเดือนของพนักงานตามกำหนด 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน (Systemic risk) ที่ส่อแววระส่ำระส่าย ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจากการที่ คณะกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กระทรวงการคลัง และองค์กรคุ้มครองเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการปกป้องเงินฝากของลูกค้าใน Silicon Valley Bank โดยลูกค้าของ Silicon Valley Bank จะได้เงินฝากคืนเต็มจำนวน หลังธนาคารประสบปัญหาล้มละลาย 

และจะปล่อยกู้ผ่านโปรแกรม Bank Term Funding Program พร้อมกับตั้งกองทุนช่วยเหลืออีก 25,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท) จะช่วยเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพและคืนความมั่นคงให้กับตลาดการเงินในครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และหากการดำเนินงานนี้สามารถช่วยให้บรรดาสตาร์ทอัพไม่เผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้ายได้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ดังนั้นเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าแผนที่ Fed และ FDIC ได้ประกาศออกมานั้นจะสร้างผลลัพธ์ออกมาในทิศทางใด ปลายทางของบทสรุปจะเห็นแสงสว่างหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป….

SVB กับผลกระทบฝั่งคริปโตฯ

ส่วนทางฝั่งคริปโตเกิดความตื่นตระหนกกันมากเนื่องจากเจอวิกฤติหลายอย่างมาก่อนหน้าแล้ว เช่น กรณีของ Silvergate ธนาคารที่มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มคริปโต และ BUSD ที่เป็น Stablecoin ของ Binance และ Paxos ก็เจอปัญหาเรื่องการกำกับดูแล ทำให้เมื่อเกิดข่าว Circle บริษัทเจ้าของ Stablecoin USDC มีเงินบางส่วนฝากอยู่ 8% จากกองคลังทั้งหมดในธนาคารสายสตาร์ทอัพที่เจอปัญหาสภาพคล่องและปิดตัวลง ทำให้นักลงทุนและแวดวงคริปโตเกิดการแพนิคและมีการโยกย้ายถอนเงินเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการ depeg หรือการหลุดการตรึงมูลค่าของเหรียญฯ มากสุดที่ 0.87 ดอลล่าห์ (จากปกติ 1 USDC ควรจะแลกได้ 1 USD) 

ล่าสุด (13 มีนาคม) ดูเหมือนสถานการณ์จะเริ่มกลับมาดีขึ้นแล้วหลังทางฝั่งธนาคาร Silicon Vally Bank ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น FDIC ประกอบกับการที่ Jeremy Allaire ผู้บริหาร Circle ได้ออกมาทวีตพร้อมข่าวจาก Circle ว่าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว ลูกค้าสามารถแลกคืนเป็นเงินดอลล่าห์ได้ตามปกติพร้อมมูลค่าที่เริ่มกลับมาตรึงราคาแบบ 1:1 พร้อมทั้งเสริมข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของธนาคารที่เพิ่งเจอปัญหาและถูกปิดตัวอย่าง Signature Bank ว่า Circle ไม่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารนั้นแต่อย่างใด เหตุการณ์นี้ทำให้ Stablecoins หลายตัวเกิดความผันผวนไม่ว่าจะเป็น USDC BUSD USDD USDT และ DAI แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายตลาดคริปโตก็ดีดตัวบวกกลับขึ้นมาอย่างรุนแรง

HSBC ปิดดีลเข้าซื้อกิจการ Silicon Valley Bank UK ในราคา 1 ปอนด์

เมื่อธนาคารใหญ่อย่าง HSBC ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ทำการเข้าซื้อกิจการ Silicon Valley Bank สาขาราชอณาจักร (SVB UK) ที่ราคา 1 ปอนด์ (1.21 ดอลลาร์) เป็นที่เรียบร้อย พร้อมคำยืนยันจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) ว่าเงินของผู้ฝากทุกคนปลอดภัยแล้ว เรียกได้ว่าธนาคาร Silicon Vallay สาขา UK รอดพ้นจากการล้มละลายแล้วในที่สุด 

“การเข้าซื้อครั้งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีในแง่ของธุรกิจเราใน UK ทำให้เราเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธนาคารและเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้โตเร็วขึ้น รวมไปถึงฝั่งเทคโนโลยีและวิทยาศาตร์ใน UK และทั่วโลก” - Noel Quinn ผู้บริหารกลุ่มธนาคาร HSBC

โดย HSBC จะออกมาอัปเดตรายละเอียดผู้ถือหุ้นอีกครั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 

ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม  FDIC ( Regulators at the U.S. Federal Deposit Insurance Corp) ขอให้ธนาคารที่สนใจเข้าซื้อกิจการของ Silicon Valley Bank  และ Signature Bank ยื่นประมูล ภายในวันที่ 17 มีนาคม  

ซึ่ง FDIC ต้องการขายทั้งสองธนาคาร โดยผู้ประมูลที่มีกฎบัตรของธนาคารเท่านั้นถึงจะได้รับอนุญาตศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเงินของธนาคารก่อนยื่นข้อเสนอได้

ทั้งนี้วันที่ 14 มีนาคม มีการประกาศจาก CEO คนใหม่ Tim Mayopoulos ที่ได้ส่งจดหมายถึงลูกค้าเก่าว่าได้เปิดทำการธนาคารตามปกติ โดยทาง FDIC ได้โยกย้ายทรัพย์สินและเงินฝากจาก SVB ไปที่ Silicon Valley Bridge Bank, N.A ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเงินต่อเนื่องที่อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบสถาบันการเงิน

อ้างอิง Reuters, Reuters, CNBC, FDIC, The Hill, Techcrunch, Reuters

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CHANGAN Automobile เปิดตัว NEVO E07 : SUV พร้อมฟังก์ชันกระบะเปิดท้ายในงาน “ปักกิ่ง ออโต้ โชว์ 2024”

CHANGAN เปิดตัว NEVO E07 ในงานแสดงรถยนต์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นยานพาหนะแปลงโฉมคันแรกของโลก ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก NEVO E07 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่คันแรกของบริษัทในโฉม SUV ...

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...