เปลี่ยนมุมมองนักออกแบบนโยบายว่านวัตกรรมเป็นเรื่องทางสังคม | Techsauce

เปลี่ยนมุมมองนักออกแบบนโยบายว่านวัตกรรมเป็นเรื่องทางสังคม

Thailand Policy Lab หรือห้องปฏิบัติการนโยบายของประเทศไทยมองว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ถูกจุดที่สุด คือการปรับทักษะของนักวางแผนนโยบายทั่วประเทศ ที่เป็นคนกำหนดและวางแผนนโยบายซึ่งมีผลต่อชีวิตทุกคนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ จึงได้จัดงาน Policy Innovation (PIX) โดยนำนักออกแบบนโยบายตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงระดับผู้บริหารกว่า 800 คนทั่วประเทศ มาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทักษะใหม่ๆ กับแล็บทั่วโลก ที่อยู่ในแวดวงการออกแบบนโยบายและสร้างนวัตกรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมและเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำนโยบายของไทยทั้งระบบ

เวลาได้ยินคำว่า “นโยบาย” หลายคนคงรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของนักการเมือง และเป็นเรื่องชวนฝันที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ นั่นอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไม่ได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายมากนัก 

การมีส่วนร่วมและเสียงของประชาชนอันหลากหลายจึงนำไปสู่สร้างการรับฟังที่ดีและสร้างการรับรู้ถึงความแตกต่างที่มีอยู่ในสังคมได้ในทุกมิติ เช่น ถ้าไม่มีผู้พิการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบนโยบายเรื่องขนส่งสาธารณะ พวกเขาก็อาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบซึ่งส่งแรงกระเพื่อมต่อไปอีกมาก ไม่ได้หยุดอยู่ที่พวกเขากลุ่มเดียว ดังที่นักออกแบบนโยบายเหล่านี้เล่าให้เราฟัง

ความสำเร็จเพิ่มได้เมื่อมองนวัตกรรมให้เป็นเรื่องทางสังคม

อาจมีบางครั้งที่เรารู้สึกว่านวัตกรรมคือประดิษฐกรรมเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะต้องใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเป็นตัวตั้งและสร้างสรรค์กระบวนการการแก้ไขตรงประเด็น โดยมีวิทยาศาสตร์เป็นตัวช่วย เช่น วิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ แต่ถ้าหากลองปรับมุมคิดสักนิดก็จะรู้ทันทีว่าการมองนวัตกรรมให้เป็นสังคมศาสตร์นั้นลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรได้มาก และเพิ่มความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

Gina Belle ผู้อำนวยการมูลนิธิ Chôra ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาและสนับสนุนด้านนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์หรือการเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรม เธอมีโอกาสร่วมงานกับ UNDP ตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาโดยใช้แนวคิดใหม่ในการสร้างนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ สำหรับรัฐบาลในประเทศต่างๆ และพันธมิตรด้านการพัฒนา นั่นก็คือกระบวนการ “Portfolio”

“ก่อนที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ หมายถึงปัญหาเกิดมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งแปลว่าปัญหาเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนไปแล้วในทุกๆ ด้าน และมักไม่หยุดอยู่กับที่ ซึ่งถ้าหากเรามีข้อมูลของปัญหานั้นไม่มากนัก ก็จะเกิดการแก้ไขที่ไม่มีวันสิ้นสุด” Gina พูดถึงกระบวนการคิดและที่มาของ Portfolio

“Portfolio จะช่วยคัดกรองความซับซ้อนและแก้ไขความไม่แน่นอนได้ผ่านการเรียนรู้ที่ต้องเข้าใจและคิดให้ได้” เธออธิบายต่อ “อย่างแรกก็คือต้องต่อต้านอคติเล็กๆ น้อยๆ ของมนุษย์ เพราะนั่นเป็นความรู้สึกที่ห้ามได้ยาก ซึ่งเมื่อเราเข้าใจปัญหาไม่ว่าในระดับองค์หรือระดับประเทศ ก็จะสามารถกำหนดแนวทางมาตรฐานในการดำเนินงาน ซึ่ง Portfolio เป็นเหมือนกระดานปาเป้าที่ทุกคนพยายามจะบรรลุเป้าหมายโดยมีการประเมินผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอ พวกเราจึงเชื่อในการลงมือทำที่ต้องดึงทั้งองค์ความรู้เดิมและมองหาองค์ความรู้ใหม่เข้ามาประยุกต์ ผลลัพธ์ที่ได้คือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่มีคุณค่าของทุกคน และยังสร้างต้นแบบจากการทดลองก่อนเริ่มต้นจริง”

Gina ยกตัวอย่างโครงการหนึ่งซึ่งทำร่วมกับ UNDP นั่นก็คือการพัฒนามนุษย์ในประเทศมาลาวีซึ่งเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ถูกพัฒนาน้อยที่สุด “เราได้สร้าง Portfolio ขึ้นมา 2 ชุดโดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องธรรมาภิบาล และเราได้เข้าช่วยสนับสนุนการกำกับดูแลและสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อการพัฒนา ความสำคัญคือเราต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร และทำไมถึงอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น เพราะการทำงานกับปัญหาที่ซับซ้อนต้องอาศัยความคิดจากหลายปัจจัยและมองเป็นภูมิทัศน์ของการกระทำ”

หลังจากประชุมเชิงปฏิบัติ พวกเขาชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไตร่ตรองเอกสารระดับประเทศและเอกสารเชิงกลยุทธ์อื่นๆ สำหรับประเทศมาลาวี เพื่อแยกและค้นพบปัญหาและองค์ประกอบหลักของปัญหาจากความซับซ้อนทั้งหมดซึ่งพบว่ามีตัวเลือกมากกว่า 6 ทางเลือกหลังจากการพูดคุย ไม่ว่าจะเริ่มแก้ไขในแนวทางใดก่อน แต่ 6 ทางเลือกนี้ถือว่าเป็นพลวัตใหม่ๆ ในพื้นที่ของปัญหา และยังเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในการออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ Portfolio “เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญและจำเป็นต้องมีการพูดคุยด้านกลยุทธ์ระดับต่างๆ ของระบบโครงสร้างเพื่อค้นหาจุดแทรกแซงที่สามารถเร่งการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี และจำเป็นต้องออกแบบนโยบายเชิงรุกที่ต้องเดินหน้าให้สุดทางเพื่อสร้างความสามารถใหม่ๆ และแนวทางการแก้ไขใหม่ๆ กับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น อนาคตของการท่องเที่ยวในโลกที่ยังคงมีโควิด 19 อยู่ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ดูเหมือนว่าจะเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที และควรให้ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ปฎิบัติงานตามระบบก็ตาม” Gina ย้ำประโยคสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม

แนวคิดเชิงนวัตกรรมทางสังคมเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือหลายภาคส่วน

“ผู้คนในชุมชนไม่ได้ต้องการเพียงแค่สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต แต่พวกเขาคิดว่าสิ่งอำนวยความสะดวกแต่ละอย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างไร” หนึ่งในคำพูดจากการบรรยายของ Warren Luk ประธานเจ้าหน้าที่ The Good Lab ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรผู้ทำหน้าที่สร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบนเกาะฮ่องกง และดำเนินโครงการนวัตกรรมทางสังคมเพื่อค้นหาและทดลองแนวทางต่างๆ ในการพัฒนาชีวิตผู้คนในชุมชน

แน่นอนว่า The Good Lab ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นลำดับแรก งานที่ถนัดของพวกเขาคืออำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างภาคประชาสังคม รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และบริษัทเอกชนบางแห่ง Warren เล่าตัวอย่างโปรเจกต์ที่เขากับทีมเคยทำเพื่อชี้ให้เห็นภาพของงานที่พวกเขากำลังทำอยู่ว่า “ตอนปี 2012 The Good Lab ได้มีโอกาสไปร่วมออกแบบและสร้างพื้นที่ในชุมชนที่ชื่อ “เชิงสุ่ย” ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฮ่องกง ปัญหาก็คือมีโรงบำบัดน้ำเสียไปตั้งอยู่ตรงนั้นจนส่งกลิ่นเหม็นและทำให้น้ำสกปรกซึ่งส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นมากๆ ไม่ใช่เพิ่งจะเกิด แต่ชาวบ้านต้องทนอยู่กับมลพิษแบบนี้มาไม่น้อยกว่า 30 ปี”

ภารกิจของพวกเขาไม่ใช่เรียกให้คนมาคุยกันแล้วจบไป แต่มีการตั้งเป้าหมายไว้กับโปรเจกต์นี้คือ ปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลเกี่ยวกับจุดบกพร่อง และทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่กินระยะเวลามาเนิ่นนานนั้นยากที่จะแก้ให้สำเร็จในเวลาอันสั้น หากแต่ไม่เริ่มก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ “เราผลักดันกันอย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2019 โดยรวบรวมพันธมิตรในทุกภาคส่วนและใช้แนวทางการคิดเชิงออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” 

“พวกเราเริ่มจากการติดต่อผู้คนในท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจประเด็นและปัญหาที่พวกเขาต้องประสบ ค้นหาว่าความต้องการแท้จริงที่มีต่อชุมชนของพวกเขาคืออะไร อยากให้ชุมชนพัฒนาไปในทิศทางไหน โดยจะเอาคำตอบที่ได้มาสร้างสรรค์วิธีการแก้ไขปัญหากับกลุ่มพันธมิตรผ่านการเวิร์กช้อปและสร้างต้นแบบขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้คนในชุมชนได้เห็นว่าสิ่งนี้จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับโรงบำบัดน้ำเสียในอนาคต”

จากการร่วมทำกระบวนการของหลายฝ่าย พวกเขาพบว่า “ผู้คนในชุมชนไม่ได้ต้องการเพียงแค่สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต แต่พวกเขาคิดว่าสิ่งอำนวยความสะดวกแต่ละอย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างไร ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องสถานที่อย่างเดียว แต่มันเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของคนในท้องถิ่นด้วย จึงควรคำนึงถึงวิธีการเชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้คนด้วยความใส่ใจ และเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา”

จากกรณีศึกษานี้ The Good Lab ใช้เวลาอีก 6 เดือนในการสร้าง “แนวคิดเชิงนวัตกรรมทางสังคม” ขึ้นมาโดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายๆ ฝ่ายมาคุยกัน เพราะพวกเขาเชื่อว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบจากทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเขายังสร้างชุดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อสร้างต้นแบบชุมชนให้มีระบบนิเวศน์ที่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้ สิ่งที่ The Good Lab เชื่อคือการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มตามคำพูดที่ Warren ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าอยากเดินเร็วให้เดินคนเดียว ถ้าอยากเดินให้ไกล จงเดินไปด้วยกัน”

การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมในประเทศไทยต้องการการผลักดัน

เมื่อมองกลับมาที่เมืองไทย การจัดวงเสวนาเพื่อพูดถึงปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในทุกที่ แต่บ่อยครั้งมักจะเป็นเพียงร่างนโยบายหรือแนวความคิดเท่านั้นเพราะขาดการผลักดันจากผู้มีอำนาจซึ่งเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้แนวทางเหล่านั้นเป็นจริงได้ วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และการจัดการปัญหาที่ไม่ทันท่วงทีจึงเป็นโอกาสอันดีที่เราทุกคนจะได้กลับมาทบทวนและปรับปรุงนโยบายต่างๆ พร้อมเสริมนวัตกรรมร่วมสมัยเข้าไปเพื่อเสริมโครสร้างของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ให้กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตอย่างที่เคยเป็นมา

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ กรรมการบริหารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นอีกหนึ่งผู้บรรยายในงานที่จะมาทบทวนบทบาทและการมีอยู่ของหน่วยงานด้านนวัตกรรมระดับรัฐ เพื่อเน้นย้ำว่ายังคงมีองค์กรจากภาครัฐที่สนับสนุนและทำงานด้านนวัตกรรมอยู่ แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ ซึ่งเกิดจากลักษณะเฉพาะของสังคมไทย และทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เมืองไทยตกขบวนของการพัฒนาในศตวรรษที่ 21

“เรามองเห็นถึงโอกาสของการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมที่จะมาถึงในทศวรรษนี้ซึ่งต้องส่งผลต่อปัจจัยสำคัญต่างๆ ในการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยงานจึงมุ่งเน้นเรื่องการใช้แบบจำลองเส้นตรง (Linear Model) ของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลักซึ่งเรียกว่าการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิศวกรรมและนวัตกรรม ซึ่งมีความท้าท้ายและเจอกับปัญหาที่สร้างความยากลำบากอันยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี”

ดร.พันธุ์อาจ ยกตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่ 

  1. ความสามารถของระดับองค์กรเกี่ยวกับแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่ยังมีความแตกต่างกัน

  2. สมรรถภาพของมนุษย์ในวงการนวัตกรซึ่งยังต้องได้รับการผลักดันและสนับสนุนอยู่ในระบบปัจจุบัน

  3. การใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมที่หน่วยงานพบว่าประชาชนยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร

  4. การรวมศูนย์ของโอกาสด้านนวัตกรรมในเมืองเมืองใหญ่ซึ่งยังไม่ได้กระจายลงไปยังภูมิภาค

  5. การฝ่าฝืนกฎระเบียบและระบบนวัตกรรมที่เป็นมิตรที่สามารถนำนโยบายวิทยาศาสตร์มาลดความเสี่ยงด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ได้

  6. หลักสากลทางด้านนวัตกรรมจากประเทศไทยซึ่งต้องอาศัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาจากวิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหลักการ

  7. การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หมายถึงการหาหนทางและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบจากนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่จะนำพาไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ

ดร.พันธุ์อาจ เชื่อว่า “การพัฒนาและวิวัฒนาการทางด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อนวัตกรรมด้านธุรกิจ นวัตกรรมภาคพื้น และนวัตกรรมสังคม เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงด้านนวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของภาครัฐที่จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทร่วมทางด้านนวัตกรรม และมีวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่แตกต่างจากผู้กำหนดนโยบาย และใช้อำนาจที่มีอยู่ในการตัดสินใจและพัฒนาสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านของภาคสาธารณะ เพื่อทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น”

หลังจากได้ฟังผู้เชี่ยวชาญแบ่งปันประสบการณ์การออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายแล้ว เราน่าจะเห็นตรงกันว่า นโยบายที่ดีต้องมีอย่างน้อย 2 องค์ประกอบสำคัญ นั่นก็คือ การมองประชาชนเป็นหัวใจของนโยบาย และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้การออกนโยบายทันโลกและทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้จริงนั่นเอง




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...

Responsive image

Infineon เสริมแกร่งและกระจายฐานการผลิต ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย

Infineon Technologies AG ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend Production) แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพื่อเพิ่มประ...

Responsive image

Techsauce จับมือ KUMPUL เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย-อินโดฯ สู่เวทีโลก

Techsauce และ KUMPUL ได้ร่วมลงนาม MOU อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพข้ามพรมแดนและนวัตกรรมระดับโลก ผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศท...