ธปท. เปิดทางให้เอกชนทำ "ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ" กับแบงก์ไม่ต้องโชว์เอกสาร | Techsauce

ธปท. เปิดทางให้เอกชนทำ "ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ" กับแบงก์ไม่ต้องโชว์เอกสาร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้บริษัทและกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified Company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมหลายรายการ เช่น ใบกำกับสินค้า สัญญาเงินกู้ หรือหลักฐานแสดงภาระอื่น ๆ แต่บริษัทดังกล่าวต้องมีนโยบายการกำกับดูแล และการตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่รัดกุมจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท

พร้อมได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท 5 ราย เป็น Qualified Company และให้มีศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 1 ราย ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้ครอบคลุมสิทธิที่ Qualified Company ได้ด้วย ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้กว้างกว่าขอบเขตที่ Treasury Center ได้รับในปัจจุบัน

และเตรียมปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ให้กลุ่ม SME และบุคคลรายย่อย สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น

Photo: rawpixel

ย้อนกลับไปในกลางปี 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. (แบงก์ชาติ) ได้เริ่มโครงการการปฏิรูปและผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulations Reform) ตั้งแต่ โดยเริ่มจากเพิ่มทางเลือกซื้อขายและโอนเงินรายย่อย เพิ่มทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศให้แก่นักลงทุนไทย ปรับลดเอกสารการโอนเงินออกนอกประเทศ ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการเตรียมเอกสาร ลดต้นทุน และลดระยะเวลาในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนสะดวกรวดเร็วมากขึ้น (Ease of doing business)

ล่าสุด ธปท. เผยการปฏิรูปที่สำคัญอีกด้าน ซึ่งระบุในแถลงการณ์ว่า "ถือเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ" คือ การอนุญาตให้บริษัทและกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified Company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมหลายรายการ เช่น ใบกำกับสินค้า สัญญาเงินกู้ หรือหลักฐานแสดงภาระอื่น ๆ ซึ่ง Qualified Company จะต้องมีนโยบายการกำกับดูแล และการตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่รัดกุมจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท

"ธปท. จะติดตามพฤติกรรมการทำธุรกรรมของ Qualified Company ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) แทนการพิจารณารายรายการ" แถลงการณ์จาก ธปท. ระบุ

สำหรับรายละเอียดการผ่อนคลายเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทและกลุ่มบริษัทที่สามารถยื่นขอความเห็นชอบเป็น Qualified Company ต่อ ธปท. มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

  1. ผ่อนคลายคุณสมบัติของบริษัทและกลุ่มบริษัทด้านปริมาณธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน จากไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่า
  2. ยกเลิกข้อกำหนดการทำธุรกรรมที่แต่เดิมบริษัทต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระสินค้าบริการและการลงทุนหรือกู้ยืมประกอบด้วย จึงจะสามารถดำเนินการได้ เป็นการทำธุรกรรมเพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ได้แก่ ค่าสินค้าบริการ การรับเงินลงทุนหรือการลงทุนในกิจการในต่างประเทศ การให้กู้ยืมหรือกู้ยืมจากกิจการในต่างประเทศ หรือธุรกรรมอนุพันธ์ที่มีการยื่นขออนุญาตจาก ธปท. กรณีหนึ่งกรณีใดที่กล่าวมาข้างต้น
  3. ขยายระยะเวลาการยื่นขอความเห็นชอบไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561
  4. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท 5 ราย เป็น Qualified Company และให้มีศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 1 ราย ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้ครอบคลุมสิทธิที่ Qualified Company ได้ด้วย ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้กว้างกว่าขอบเขตที่ Treasury Center ได้รับในปัจจุบัน

ธปท. ระบุในแถลงการณ์ว่าคำสั่งเห็นชอบข้างต้น "ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นมิติใหม่ของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนไทย" อีกด้วย

โดยทางนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ได้เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ภายใต้โครงการ Qualified Company เป็นกลุ่มแรก จำนวน 5 บริษัท และศูนย์บริหารเงิน 1 ราย ได้แก่

  1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด
  3. บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด
  4. บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  5. บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จากัด (มหาชน)
  6. บริษัท มิตรผล เทรชเชอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด

โดยทาง ธปท. กล่าวว่าจะกำกับดูแล Qualified Company โดยการวิเคราะห์ความสอดคล้องของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับแผนธุรกิจและนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของ Qualified Company

หากพบความไม่สอดคล้อง ธปท. จะมีการหารือกับบริษัท และพิจารณาทบทวนการให้ความเห็นชอบเป็น Qualified Company แก่บริษัทนั้น ๆ ตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ธปท. ยังระบุเชิญชวนในแถลงการณ์ว่า "บริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครได้จากธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการยื่นขอความเห็นชอบจาก ธปท. ต่อไป"

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับครึ่งหลังของปี 2561 ธปท. ระบุว่าการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (FX) จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งจะมุ่งเน้นที่กลุ่ม SME และบุคคลรายย่อย ให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น เช่น

  • การปรับปรุงหลักเกณฑ์และลดเอกสารประกอบการทำธุรกรรม
  • การรวมประเภทบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposits: FCD) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายประเภทเข้าด้วยกัน - การผ่อนคลายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุน
  • การผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changer) และธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Agent) ทั้งในด้านคุณสมบัติและรูปแบบการให้บริการ เพื่อรองรับการให้บริการรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ

ซึ่ง ธปท. จะได้นาเสนอแผนการผ่อนคลายเหล่านี้ต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...