'แจ็ค หม่า' พูดอะไร ในวันที่เยือนไทยเพื่อนำ Alibaba มาจับมือกับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ | Techsauce

'แจ็ค หม่า' พูดอะไร ในวันที่เยือนไทยเพื่อนำ Alibaba มาจับมือกับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

เมื่อวานนี้ (19 เมษายน 2561) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ เพราะเป็นวันที่รัฐบาลไทยลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับบริษัทสัญชาติจีนยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่างอาลีบาบา (Alibaba) ซึ่งทำให้เห็นว่าวันนี้บริษัท E-Commerce จากแดนมังกรรายนี้กำลังจะเข้ามามีบทบาทในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

Photo: Thaigov.go.th

อ่านประกอบ


หากต้องการจะทำความเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คงต้องลองฟังสิ่งที่ 'แจ็ค หม่า' (Jack Ma) Co-Founder และ Chairman Executive ของ Alibaba Group พูดในงานลงนาม MOU ว่าเขาพูดอะไรบ้าง โดยคำพูดที่น่าสนใจจะอยู่ในช่วงการตอบคำถามกับสื่อมวลชน ซึ่งทาง Techsauce ได้คำพูดโดยสรุปของ 'แจ็ค หม่า' มาให้ได้อ่านกันครับ

ช่วงขึ้นกล่าวในพิธีลงนาม MOU

Photo : Techsauce

Alibaba ต้องการที่จะนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยให้ SME ในประเทศไทยพัฒนาผลิตภัณท์ไปสู่ตลาดระดับโลกได้ เราเชื่อว่าในอีกไม่กี่ข้างหน้า 80 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจบนโลกใบนี้จะขึ้นไปอยู่บน Online Platform หรือบน Digital Infrastructure ซึ่งประเทศจีนก็มองเห็นการสร้างโอกาสนี้ให้กับประเทศไทยในการนำผลิตภัณฑ์ของไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้

ภายใต้การเริ่มต้นนโยบาย Thailand 4.0 ทาง Alibaba จะนำเอาประโยชน์จากการสร้าง Infrastructure ด้านเทคโนโลยี และความรู้ความสามารถสามารถในด้านดิจิทัล (Digital Capabilities) มาช่วยพัฒนา SMEs ในเอเชียให้เทียบเท่าหรือดีกว่า SMEs ในสหรัฐฯ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคแรกที่เกิดขึ้นครั้งแรก จะเห็นว่ายุโรปเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและนำเอาเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ต่อมาในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคต่อมา สหรัฐฯ เติบโตขึ้นมากจากการเริ่มใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำงานแทนมนุษย์ โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคถัดไปได้เดินทางมาถึงแล้ว นั่นคือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) และ Machine Learning ซึ่งจะมาจากฝั่งของเอเชียบ้างแล้ว ซึ่งในเอเชียก็มีความพร้อมด้าน Cloud Infrastructure และด้านการค้นพบ-พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ (Technological Breakthroughs) ซึ่ง Alibaba ได้ทำให้ทุกคนเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Alibaba มีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยื่น พวกเราหวังจะให้โลกดีขึ้นจากการให้ความรู้และนำเทคโนโลยีเข้ามาโลกพัฒนาไปยิ่งขึ้น ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลไทยและผมต้องใช้เวลานานถึง 8 เดือนเพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันช่วยให้คนไทยและเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ผมมักบอกกับทีมของผมอยู่เสมอว่า ความเชื่อมั่นในประเทศไทย และการลงทุนของเราจะทำอย่างจริงจังและทำในระยะยาว และผมเชื่อว่าหากมองลึกลงไปกว่านั้น พวกเรามีเป้าหมายหลักอันเดียวกัน นั่นคือเราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นจากการสร้างความร่วมมือเพื่อเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน

ในอดีต ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่าง ๆ มักถูกมองอย่างแบ่งแยกกัน เช่น สินค้านี้ถูกแปะป้ายว่า "Made in Thailand" หรือ สินค้านี้ถูกแปะป้ายว่า "Made In China" ซึ่งในอนาคตสินค้าต่าง ๆ จะรวมกันกลายเป็น " Made in the Internet" แทน

นอกจากนี้ เมื่อก่อนการทำธุรกิจมักแบบเป็น B2C (Business to Consumer) แต่ในอนาคตการทำธุรกิจจะกลายเป็นแบบ C2B (Consumer to Business) นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและชาวไทยจะได้นำเสนอบริการ (Services) ที่ยอดเยี่ยมในแก่ชาวโลก ซึ่งบริการของชาวไทยมีการมองถึงความต้องลูกค้าเป็นหลัก (Customer-centric) อย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ยังมีข้อจำกัดและความท้าทายเกิดขึ้นมาอีกหลายอย่าง เพราะหลายคนก็ยังสร้างนวัตกรรมและคิดอะไรใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาในวันนี้คงมาจากหลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตที่ยังรอการแก้ไขอยู่ และยังรอให้เราแก้ไข ยังรอให้เราช่วย SME ให้เติบโตขึ้น ซึ่งอนาคตเป็นของผู้ที่สามารถจินตนาการมันขึ้นมาได้ ไม่กลัวภาพของอนาคตในอุดมคติ ซึ่งอนาคตที่ว่ามานี้จะเป็นของยุคถัดไปที่มีแรงบันดาลในการเป็นผู้ประกอบการ และ Startup รุ่นใหม่ต่อไป

วันนี้ประเทศไทยมีรายได้หลักจากภาคเกษตรกรรม แต่ในอนาคตผมมีความฝันและแรงบันดาลใจว่ารายได้ของประเทศไทยจะมาจากทุกสิ่งที่อยู่ในประเทศไทย ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นจะเป็นสิ่งยากอยู่เสมอ แต่เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ประเทศไทยเกิดความภูมิใจ ซึ่งถือว่า Alibaba ได้รับเกียรติและได้รับสิทธิ์ที่สำคัญในการร่วมมือกันพัฒนาประเทศไทย ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 หลังจากนี้ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะไม่ทำให้ประเทศไทยหรือคนไทยผิดหวังแน่นอน

ช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน

'แจ็ค หม่า' ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังงานลงนามความร่วมมือ (MOU) กับรัฐบาลไทย จำนวน 4 ฉบับ | Photo: Techsauce

คุณจะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย (WIN-WIN Solution)?

Jack Ma: ผมเชื่อว่ามันเป็น WIN-WIN-WIN Solution สำหรบัทุกฝ่าย โดย WIN แรกคือผู้บริโภค WIN ที่ 2 คือ Partner ของเรา (รัฐบาลไทย) และ WIN ที่ 3 คือ Alibaba นี่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม Alibaba ถึงประสบความสำเร็จ ก็เพราะมาจากความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ ซึ่งรัฐบาลไทยก็กำลังทำสิ่งเดียวกันกับที่เรากำลังทำอยู่ เมื่อรัฐบาลไทยพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ทุกคนต่างเป็นห่วงว่า Alibaba จะเข้ามาช่วยธุรกิจขนาดและคนรุ่นใหม่อย่างไร

นอกจากนี้ผู้คนก็ยังกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของ Alibaba ในประเทศไทย และตั้งคำว่า "เรากำลังจะมายึดครองประเทศไทยหรือเปล่า?" หรือ "เรากำลังจะมา Take Over ประเทศไทยหรือเปล่า?" คำตอบคือไม่ใช่ครับ พวกเราไม่ได้สนใจในประเด็นนั้น พวกเราสนใจว่าเราจะเข้ามาช่วย เข้ามาเปิดทาง ให้รัฐบาลไทยและผู้ประกอบการในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

โดย Alibaba เชื่อว่า เมื่อรัฐบาลไทยประสบความสำเร็จ พวกเราก็จะถือว่าเราประสบความสำเร็จด้วย

'ความร่วมมือของ Alibaba ที่มาเลเซีย' นำอะไรมาใช้กับ 'ความร่วมมือของ Alibaba ที่ไทย' ได้บ้าง?

Jack Ma: ผมคิดว่าผู้คนจำนวนมากเริ่มเข้ามาในไทยมากขึ้น รวมไปถึงคนจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ก็มีชาวจีนมากกว่า 11 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย และนี่ทำให้เราเชื่อว่าทำไมพวกเขาถึงอยู่ที่นี่ เพราะสิ่งที่มีอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง เพราะมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างในภาคเกษตรกรรมที่สามารถส่งออกได้

โดยจุดประสงค์ของเราในการเข้ามายังประเทศไทย ก็มี 2 เหตุผลหลัก ๆ นั่นคือ "Go to China" และ "Go to Thailand"

"Go to China" หมายความว่า เราต้องการให้สินค้าและผลิตภัณฑ์จากไทยส่งออกไปยังประเทศจีนที่มีกำลังจะมีชนชั้นกลาง (Middle Class) มากกว่า 500 ล้านคนใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความต้องการสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมจากประเทศไทย

ส่วนการ "Go to Thailand" ก็หมายถึงการนำนักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเมื่อพวกเราพูดว่าเราต้องการเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อสร้างนักพัฒนาให้กับประเทศไทย  เรากำลังจะสร้างโรงเรียนสำหรับสอน Startup เพื่อให้คนไทยสามารถมีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลจาก Alibaba ดังนั้นคนไทยจึงสามารถมีส่วนร่วมในการสร้าง Digital Economy สำหรับประเทศไทยในอนาคต

นโยบายเปิดประเทศด้านเศรษฐกิจของจีน (China’s open-door policy) จะมีผลต่อความร่วมมือระหว่างอาลีบาบากับรัฐบาลไทยอย่างไร?

Jack Ma: ผมคิดว่ามันค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ดี นโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่าง Alibaba กับรัฐบาลไทยมากขึ้น โดย Alibaba จะเป็นเหมือนสะพานให้กับประเทศไทยสามารถเข้าถึงตลาดในต่างประเทศได้ รวมไปถึงจะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดประเทศจีน ซึ่งเป็นในตลาดที่ใหญ่และมีพลังมากที่สุดในโลกได้อีกด้วย

อะไรทำให้คุณตัดสินใจทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย?

Jack Ma: เราต้องการร่วมทำงานกับ SME และธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงคนตัวเล็ก ๆ ที่ต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ซึ่ง Alibaba รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย โดยสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่เงิน เงินไม่ใช่ประเด็น

แต่สิ่งที่พวกเราต้องการคือความร่วมมือและวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ซึ่งนโยบายต่าง ๆ ควรจะช่วยให้ SME สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ ไม่ใช่การให้ Alibaba ส่งออกผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้กับทุกคน และพวกเราจะไปพบปะในสถานที่ที่มีคนรุ่นใหม่และ SME เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ได้ต้องการพวกเรา ซึ่งสำหรับบริษัทเล็ก ๆ เราคิดว่าเราช่วยพวกเขาได้

จะทำอย่างไรถ้า eWTP (Electronic World Trade Platform) ที่ Alibaba สร้างขึ้นนั้นถูกคุกคาม ในขณะเดียวกัน Alibaba อาจต้องลงเอยด้วยการแทรกแซงทางการค้าในประเทศอื่น?

Jack Ma: เป็นเรื่องยากที่ "สงครามทางการค้า" (Trade War) จะยุติลง แต่สงครามนั้นไม่เป็นผลดีต่อใคร เราเชื่อมั่นในการค้าเสรี (Free Trade) เราเชื่อมั่นในการเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางการค้า เราต้องการทำให้คนมั่นใจได้ว่าการค้าจะเกิดความครอบคลุมมากขึ้น ส่วนตัวผมไม่คิดว่าสงครามทางการค้าจะเกิดขึ้น

นักธุรกิจทั้งหลายต่างต้องการให้เกิดการค้าแบบยั่งยืน นักการเมืองมากกว่าที่ต้องการสร้างสงครามทางการค้า คุณสามารถแก้ปัญหาการเมืองด้วยการค้าได้ แต่คุณไม่สามารถแก้ปัญหาการค้าด้วยการเมืองได้

ผมออกตัวก่อนเลยว่าผมไม่ชอบสงครามทางการค้าเลย สิ่งที่คุณทำไม่ว่าอะไรก็ตาม ผู้คนจะสงสัยในตัวคุณอยู่เสมอ เช่นเดียวกันหากคุณอยู่ในการทำธุรกิจ ผู้คนจะทั้งวิจารณ์และสงสัยในตัวคุณอยู่เสมอ แต่เป็นเรื่องดีที่ Jack Ma และทีมของเขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้ สิ่งที่เราแคร์คือโลกที่เราสร้างวิสัยทัศน์ไว้ในอนาคต โลกที่พวกเราทำงานร่วมกันเพื่อก้าวไปข้างหน้าและทำให้สิ่งวิสัยทัศน์ต่าง ๆ เป็นจริง

ซึ่ง eWTP (Electronic World Trade Platform) เป็นสิ่งที่จะทำให้โลกมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เราต้องการแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับโลก เราต้องการให้โลกใบนี้สนุกสนานด้วยฝีมือของพวกเราเอง และทำให้ผู้อื่นรู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เขาอยู่ด้วย

เราจึงสนับสนุนการค้าเสรีต่อไป เราจะสนับสนุนโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ต่อไป

จะมีสร้างพันธมิตรหรือสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ หรือภูมิภาคอื่นอีกหรือไม่?

Jack Ma: อันดับแรกเลยต้องบอกก่อนว่าเป้าหมายของ Alibaba คือ การทำให้โครงพื้นฐาน (Infrastructure) ของ E-Commerce มีความเป็นสากล เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่ทุกคนมั่นใจว่าสามารถใช้ประโยชน์จาก E-Commerce ได้ เมื่อตอนที่เราไปมาเลเซีย เราเห็นว่ามาเลเซียมีวิสัยทัศน์ในเรื่องของการสนับสนุนชาวนาเหมือนกับเรา จึงเป็นโอกาสของเราได้การสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น

ซึ่งในเอเชีย รัฐบาลแต่ละประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง ชาวยุโรปมักมองว่ารัฐบาลในเอเชียอ่อนแอมาก ซึ่ง Alibaba เกิดขึ้นมาในเอเชีย แต่เรากลับช่วยสร้างโลกนี้ขึ้นมาได้ ฉะนั้นเรื่องเงินจึงไม่ใช่ปัญหาของเรา โดยเราร่วมมือกับไทยในหลายเรื่อง เช่น Logistics, Infrastructure, Payment, การส่งออกสินค้า, การนำเข้าสินค้า, การท่องเที่ยว

ส่วนเรื่องของกรอบเวลาความร่วมมือ หลายคนมองเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับ Alibaba แต่เรามองว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องของเวลา แต่ต้องมองว่าเรามีความร่วมมือกับไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วน่าจะดีกว่า

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB EIC เผยผลกระทบจาก Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความท้าทายด้านการค้า การผลิต และการลงทุน

ในปี 2568 โลกจะเริ่มเผชิญกับความท้าทายจากผลของนโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกว่า “Trump 2.0” ซึ่งถือเป็นการกลับมาใหม่ในเวอร์ชันที่มีอำนาจบริหารที่แข...

Responsive image

“Betagro Ventures” ร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มุ่งสร้างระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม Rubi Protein® ตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคต

“BETAGRO Ventures” หน่วยงานด้านการลงทุนและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้ “บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ “BTG” ประกาศความสำเร็จในการร่วมลงทุน “Plantible” รอบ Series B มูลค่า 30 ล้านเหรีย...

Responsive image

ยกเลิกแบน iPhone 16 ไม่ง่าย อินโดฯ ยังไม่พอใจข้อเสนอลงทุน Apple ชี้ยังไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศ

เรื่องราวระหว่าง Apple และอินโดนีเซียดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแบน iPhone 16 ห้ามวางจำหน่ายในประเทศ ใครใช้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย...