มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ร่วมกับ GC พัฒนาเครื่องฟอกอากาศติดตั้งพื้นที่สาธารณะ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะยาว

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศให้กับประชาชน

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการนำองค์ความรู้ของคนไทยมาต่อยอดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เองในประเทศ อันเป็นวิถีทางในการพัฒนาพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เล็งเห็นถึงปัญหาหมอกควันจากไฟป่าทางภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมากซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประชาชน โดยการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าว ซึ่งเดิมมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนในพื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ ด้วยการแจกหน้ากากอนามัย N95 เพื่อใช้แก้ปัญหาในเบื้องต้น พบว่าใช้งบประมาณสูงกว่าการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ใช้งบประมาณไม่เกิน 300,000 บาท ต่อเครื่อง โดยตัวเครื่องเป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียก อากาศจะถูกดูดเข้ามาในเครื่องบำบัดด้วยพัดลมดูดอากาศ ผ่านเข้ามาจะถูกทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เวนทูรีสครับเบอร์” โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ ซึ่งรูปแบบการใช้น้ำออกแบบไว้ 2 รูปแบบ คือ

  1.  แบบเป็นฟิล์ม ไหลเคลือบผิวท่อเวนทูรี ซึ่งน้ำส่วนนี้จะถูกอากาศที่อัดเข้ามาด้วยความเร็วและแรงดันสูงทำให้ฟิล์มน้ำกลายเป็นละอองฝอยขนาดเล็ก 
  2. แบบพ่นเป็นละอองฝอย ละอองฝอยน้ำทั้งหมดจะทำหน้าที่ดักจับโดยการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้ออากาศให้เข้ามาอยู่ในเนื้อละอองน้ำแทน กระบวนการนี้เรียกว่า “การสครับ”จากนั้นทั้งอากาศและละอองน้ำจะถูกบังคับให้ไหลลงไปด้านล่างยังถังน้ำหมุนวน ที่ 1 ซึ่งละอองน้ำส่วนใหญ่จะเกิดการควบแน่นและถูกจัดเก็บอยู่ในถังน้ำ มวลอากาศทั้งหมดและละอองน้ำบางส่วนที่ยังไม่ควบแน่นจะไหลต่อไปยังถังดักจับละอองน้ำ โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “demist vane” ซึ่งละอองน้ำจะควบแน่นและไหลไปรวมตัวกันที่ก้นถังในส่วนที่เรียกว่า “ถังน้ำหมุนวนที่ 2” อากาศที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดจะไหลออกกลับคืนสู่ด้านนอกทางปล่องปล่อยออก โดยออกแบบเป็นรูปตัวที (T) ที่มีฝาปิด-เปิดเพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบการปล่อยออกแบบทิศทางเดียวหรือสองทิศทางได้ และฝาปิด-เปิดสามารถปรับระดับองศาการปิด-เปิดได้ เพื่อให้สามารถกำหนดมุมองศาการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้ว ออกไปยังจุดพื้นที่และระดับความสูงที่ต้องการได้ 

โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดให้เครื่องมีประสิทธิภาพสูง จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งให้ความสำคัญในด้านการวิจัย โดยจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

ในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ สนับสนุนบุคลากรนักวิจัย วิศวกร และองค์ความรู้ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2563 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1  GC มอบเงินสนับสนุนให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อสร้างเครื่องบำบัดอากาศต้นแบบจำนวน 7 เครื่อง โดยจะมีการทดสอบเครื่องบำบัดอากาศ นำร่องใน 2 พื้นที่ ได้แก่

(1) บริเวณโดยรอบวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร

(2) บริเวณโดยรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน หรือพื้นที่ตามที่มูลนิธิฯ กำหนด

ระยะที่ 2 GC จะพัฒนาต่อยอดจากเครื่องต้นแบบ โดยการสนับสนุนนักวิจัย วิศวกร พนักงานและนวัตกรรมของบริษัทฯ ร่วมกันวิเคราะห์ผล และศึกษาแนวทางเพื่อปรับปรุงพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ขั้นตอนและหลักการทำงานของเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ

ภาพแสดงลักษณะโครงสร้างและส่วนประกอบต่างๆของเครื่องบำบัดอากาศฯ

  • ลักษณะโครงสร้างและส่วนประกอบต่างๆของเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ เครื่องเป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียก อากาศจะถูกดูดเข้ามาในเครื่องบำบัดด้วยพัดลมดูดอากาศ (หมายเลข 1)
  • อากาศที่ผ่านเข้ามาจะถูกทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เวนทูรีสครับเบอร์” (หมายเลข 3) น้ำถูกใช้เป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ 
  •  จากนั้นทั้งอากาศและละอองน้ำจะถูกบังคับให้ไหลลงไปด้านล่างยังถังน้ำหมุนวนที่ ๑ (หมายเลข 4) ที่ถังน้ำหมุนวนที่ 1 ละอองน้ำส่วนใหญ่จะเกิดการควบแน่นและถูกจัดเก็บอยู่ในถังน้ำ มวลอากาศทั้งหมดและละอองน้ำบางส่วนที่ยังไม่ควบแน่นจะไหลต่อไปยังถังดักจับละอองน้ำ (หมายเลข 16) ที่ถังดักจับละอองน้ำถูกออกแบบให้ทำหน้าที่หลักในการดักจับละอองน้ำโดยอุปกรณ์ ที่เรียกว่า “demist vane” (หมายเลข 7) ซึ่งละอองน้ำจะควบแน่นและไหลไปรวมตัวกันที่ก้นถังในส่วนที่เรียกว่า “ถังน้ำ  หมุนวนที่ 2” (หมายเลข 20) 
  • อากาศที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดจะไหลออกกลับคืนสู่ด้านนอกทางปล่องปล่อยออก (หมายเลข 6) ปล่องปล่อยออกถูกออกแบบเป็นรูปตัวที (T) ที่มีฝาปิด-เปิดเพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบการปล่อยออกแบบทิศทางเดียวหรือสองทิศทางได้ และฝาปิด-เปิดสามารถปรับระดับองศาการปิด-เปิดได้เพื่อให้สามารถกำหนดมุมองศาการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้ว ออกไปยังจุดพื้นที่และระดับความสูงที่ต้องการได้
  • นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้สามารถนำท่อยืด-หดมาสวมต่อกับปลายท่อตัวทีได้ทั้งสองด้าน ทำให้สามารถนำอากาศที่บำบัดแล้วปล่อยออกไปยังพื้นที่แคบ จุดจำเพาะ หรือจุดอับได้ รวมทั้งได้ออกแบบให้ท่อตัวที (T) สามารถหมุนได้ 360 องศา
  • จากการศึกษาสภาพอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ชุมชนเมืองส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางด้านการปนเปื้อนของมลพิษอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสภาพความเป็นกรด-ด่างร่วมด้วย การออกแบบและจัดสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 (ต้นแบบ) ครั้งนี้ จึงได้ออกแบบจัดสร้างระบบบำบัดมลพิษความเป็นกรด-ด่างของอากาศควบคู่ไปพร้อมกันด้วย โดยน้ำที่ใช้หมุนวนจะถูกตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างด้วยหัววัด (หมายเลข 8) อยู่ตลอดเวลา ค่าที่วัดได้ จะถูกส่งไปยังตัวควบคุมค่าความเป็นกรด-ด่าง ซึ่งมีการกำหนดตั้งค่าความเป็นกรด-ด่างควบคุมอิงตามค่ามาตรฐาน
  • น้ำทิ้งอุตสาหกรรม ถ้าค่าที่วัดได้มีความเป็นกรดเกินค่าควบคุม ตัวควบคุมจะส่งคำสั่งไปยังปั๊มฉีดด่าง (หมายเลข 21) ให้ทำการเติมด่างลงในถังน้ำหมุนวนที่ 1 อย่างต่อเนื่องจนกว่าค่าที่วัดได้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปั๊มด่างจะหยุดทำงาน 
  • และในทำนองเดียวกัน ถ้าค่าที่ตรวจวัดได้เกินค่าด่างที่ควบคุม ปั๊มฉีดกรด (หมายเลข 22) จะถูกสั่งให้เติมกรดลงในถังน้ำหมุนวนที่ ๑ จนกว่าค่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุม ที่ท่อน้ำหมุนวนจะมีการติดตั้งตัวกรองตะกอนฝุ่นไว้ด้วย ดังนั้นน้ำใช้หมุนวนสามารถปล่อยทิ้งได้ตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรมระบบได้ถูกออกแบบและจัดสร้างเพื่อใช้งานในพื้นที่เปิดให้เป็นแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นในการเข้าสู่พื้นที่ที่เกิดปัญหาได้เป็นอย่างดี และสามารถปฏิบัติภารกิจตามหลักการสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของวิธีการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เปิด ที่โครงการนี้ได้คิดค้นพัฒนาขึ้นเป็นโมเดล 
  • หลักการของโมเดลนี้มีแนวคิดกำหนดแบ่งอากาศที่จะทำการบำบัดเป็นระดับชั้น โดยความสูงของระดับชั้นเลือกออกแบบกำหนดจากระดับความสูงในแนวดิ่งที่วัดจากระดับพื้นขึ้นไปในอากาศ  ทั้งนี้ระดับชั้นเพื่อทำการบำบัดดังกล่าวสามารถเลือกกำหนดได้ตามความเหมาะสมของวัตถุประสงค์  เช่น วัตถุประสงค์ของการบำบัดที่ออกแบบไว้ครั้งนี้ เพื่อคืนสภาพอากาศที่ปลอดภัยสำหรับใช้ในวิถีการดำรงชีวิตเป็นปกติสุขให้กับประชาชนทั่วไปสามารถปฏิบัติภารกิจพื้นฐาน เดินทางสัญจรไปมา ค้าขาย ทำงาน ได้ตามปกติ เป็นต้น ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ระดับความสูงชั้นอากาศเพื่อการบำบัดจึงถูกเลือกกำหนดที่ 3-5 เมตร จากพื้นดิน ดังนั้น ปริมาตรอากาศที่เครื่องจะต้องทำการบำบัดเท่ากับ (พื้นที่แนวระนาบX ระดับความสูง) เครื่องที่ออกแบบสร้างครั้งนี้มีขีดความสามารถดูดอากาศเข้าได้ 2.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
  • ปริมาตรอากาศที่ปล่องปล่อยออกคำนวณจากค่าความเร็วอากาศขาออกที่วัดได้เท่ากับ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประสิทธิภาพในการบำบัด PM 2.5 จากการทดสอบอยู่ระหว่าง 85-90 % 

เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5

ช่วงเวลาบำบัด ตั้งแต่ 6.00-18.00 น. ดังนั้น เครื่องที่จัดสร้างขึ้นมีขีดความสามารถบำบัดอากาศที่ระดับชั้น 3 เมตรได้ เท่ากับ 0.086 ตารางกิโลเมตร ต่อ 12 ชั่วโมง ถ้าอากาศที่จะบำบัดมีค่าความเข้มข้น PM 2.5 เท่ากับ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุก ๆ 1 วินาที เครื่องจะปล่อยอากาศที่บำบัดแล้วได้ 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ค่าความเข้มข้น PM 2.5 เท่ากับ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (คิดประสิทธิภาพการบำบัดที่ 85 %) ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานอนามัยโลกที่กำหนดระดับดีมากไว้ที่ 35ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

นอกจากนี้ เมื่อนำอากาศที่บำบัดแล้วนี้ปล่อยไปยังอากาศที่ยังไม่ได้บำบัด จะได้ว่าอากาศที่ยังไม่ได้บำบัดจะถูกอากาศที่บำบัดแล้วไปเจือจางความเข้มข้นของอากาศที่ยังไม่ได้บำบัดลดลงจาก 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลืออยู่ที่ 57.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ดังนั้น ในการดูดอากาศเข้าบำบัดหนึ่งครั้ง อากาศจะได้รับการบำบัดสองส่วน คืออากาศที่ได้รับการบำบัดจากเครื่องและอากาศที่ได้รับการบำบัดจากการเจือจาง ทำให้ทุกวินาทีอากาศได้รับการบำบัดเป็น 4 ลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่เปิดขนาดใหญ่ โมเดลได้กำหนดรูปแบบการบำบัดอากาศโดยตีเส้นกริดโซน หนึ่งหน่วยกริดโซนจะใช้เครื่องบำบัด 4 เครื่อง ตั้งจุดบำบัดที่มุมทั้งสี่ของตารางกริด ขนาดหน่วยตารางกริดสามารถกำหนดได้ตามวัตถุประสงค์ 

 ทั้งนี้ โมเดลการบำบัดที่คิดขึ้นได้พัฒนารูปแบบทิศทางและจุดของการดูดอากาศที่จะบำบัดและการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้วให้เหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขทางกายภาพของพื้นที่ที่จะบำบัด เช่น พื้นที่ในเมือง เขตโรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน พื้นที่แอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ เป็นต้น การเลือกกำหนดรูปแบบการดูดและปล่อยออกนี้สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพการบำบัดได้อย่างมาก เครื่องขนาดเล็กแต่เมื่อนำหลักการของโมเดลไปประยุกต์ใช้จะทำให้สามารถบำบัดอากาศได้ในพื้นที่เปิดที่มีเงื่อนไขทางภาพที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี และสามารถรวมกำลังเครื่องจากเขตหรือจังหวัดต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันปฏิบัติงานในกรณีเกิดวิกฤติที่รุนแรงในที่ใดที่หนึ่งได้ อันเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าอีกทางหนึ่งด้วย





No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI วาดสไตล์ Ghibli : OpenAI แอบดึงข้อมูลมาเทรนด์หรือเปล่า ประเด็นที่โลกไม่ควรมองข้าม

ฟีเจอร์ใหม่จาก ChatGPT ที่สร้างภาพสไตล์ Ghibli ทำเอาโลกอินเทอร์เน็ตสะเทือน แต่คำถามใหญ่คือ...นี่คือวิวัฒนาการของเทคโนโลยี หรือการทำลายจิตวิญญาณของศิลปะที่ Ghibli ยึดถือมาทั้งชีวิต ...

Responsive image

สมาคมเฮลท์เทคไทยจัดงาน Health Tech Thailand Executive Dinner 2025 ยกระดับสาธารณสุขด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

สมาคมเฮลท์เทคไทย จัดงาน “Health Tech Thailand Executive Dinner 2025” เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) กับหน่วยงานภาครัฐแล...

Responsive image

Noland Arbaugh มนุษย์คนแรกที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยความคิดผ่าน Neuralink

Noland Arbaugh วัย 30 ปี เป็นผู้ป่วยรายแรกของ Neuralink ได้ออกมาเล่าถึงประสบการณ์หลังการฝังชิปลงสมองในพอดแคสต์ของ Joe Rogan พอดแคสเตอร์ผู้โด่งดังในสหรัฐฯ...