จากกรณีก่อนหน้านี้ที่มีรายงานว่า กรมสรรพากรจะดำเนินการเก็บภาษีจากรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยเงินฝากมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ล่าสุด ทางกรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงชัดเจนว่าจะไม่มีการดำเนินการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาท แต่ต้องรักษาสิทธิ์ด้วยการยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยที่ได้รับให้กรมสรรพากร
เมื่อวันที่ 19 เมษายน กรมสรรพากรออกประกาศชี้แจงกรณีที่มีการระบุว่า กรมสรรพากรไม่มีมาตรการเก็บภาษีจากรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยเงินฝากตั้งแต่บาทแรก และยังคงยืนยันมาตรฐานเดิมที่จะจัดเก็บภาษีจากรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่มีมูลค่ามากกว่า 20,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลสงสัย เนื่องจากอัตราที่เป็นข่าวลือกระทบประชาชนเป็นจำนวนมาก
แต่ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ชี้แจ้งว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจ้งข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก จากเดิมที่เจ้าของบัญชีจะต้องแจ้งธนาคารเมื่อมูลค่าดอกเบี้ยมากกว่า 20,000 บาท เพื่อให้ธนาคารหักเป็นภาษีเงินได้ เป็นการยินยอมอนุญาตให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากตรงไปยังกรมสรรพากร
ซึ่งหากพบมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกินกว่า 20,000 บาทต่อปี ก็จะดำเนินการเก็บภาษีตามอัตราปกติที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประชาชนที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า 20,000 และดำเนินการยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูล ก็ได้รับสิทธิ์ "ยกเว้น" ภาษีตามเดิม
แต่ทั้งนี้ ในประกาศของกรมสรรพากร ข้อ 3 (๓) ว่าด้วยคุณสมบัติผู้ได้รับยกเว้นภาษี ระบุว่า ผู้มีเงินได้จากดอกเบี้ยหรือปันผลต้องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร
ดังนั้น หาก "ไม่ดำเนินการยินยอม" ให้ธนาคารส่งข้อมูล ก็จะถูกเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากตามอัตรา 15 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึงเกณฑ์ก็ตาม
ผู้ที่ประสงค์จะให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากไปยังกรมสรรพากร สามารถแจ้งกับธนาคารที่ตนมีบัญชีอยู่ ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อรักษาสิทธิ์ และเพื่อดำเนินการทันตามรอบการคำนวณภาษีจากการจ่ายดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ของครึ่งปีแรก
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด