SCB EIC เผยเศรษฐกิจไทย Q1 2020 โตขึ้นแต่ผันผวน แย้มการลงทุนโครงสร้าง-ประมูล 5G ช่วยกระตุ้นได้ | Techsauce

SCB EIC เผยเศรษฐกิจไทย Q1 2020 โตขึ้นแต่ผันผวน แย้มการลงทุนโครงสร้าง-ประมูล 5G ช่วยกระตุ้นได้

SCB EIC คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2020 เติบโตที่ 2.7% ฟื้นตัวเล็กน้อยจากปี 2019 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ตามภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากภาวะการค้าโลกที่น่าจะปรับดีขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งเกิดจากการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Phase 1) ที่จะนำไปสู่การยกเลิกและลดภาษีสินค้านำเข้าบางส่วนที่ขึ้นไปก่อนหน้า รวมถึงแนวนโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศทั่วโลกที่มีทิศทางผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าสะสมกว่า 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง นอกจากนั้นแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน

ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2020 มี 3 ปัจจัย ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ด้านสงครามการค้า แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Phase-1 deal) แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ อาทิ การเจรจากับจีนในระยะต่อไป การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป และการพิจารณาของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ของหลายประเทศ ขณะที่ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ คือ ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (technology disruption)  และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ด้านอุปสงค์ในประเทศของภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยแม้ว่าภาคส่งออกจะมีโอกาสฟื้นตัว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องตามหลายปัจจัยกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว ส่วนรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนในระยะต่อไป ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชน นอกจากจะมีแนวโน้มชะลอลงตามกำลังซื้อในประเทศแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่อยู่ในระดับต่ำ และระดับสินค้าคงคลัง (inventory) ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ก็จะส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์เพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ในช่วงก่อนหน้า ก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันภาคอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจปี 2020 ทั้งในรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลกลุ่มเปราะบางระยะสั้น  การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  และการกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน (Enabler) โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการ 5G ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ประกอบกับการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าจากเมื่อปลายปี 2019 จึงทำให้หลายโครงการมีการเลื่อนเบิกจ่ายมาในปี 2020

สำหรับภาวะการเงินในประเทศ อัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่เงินบาทจะมีแรงกดดันให้อยูในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดยอีไอซีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังใช้นโยบายการเงินในระดับผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อช่วยสนับสนุน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย กนง. มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ตลอดทั้งปี 2020 และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 1 ครั้งหากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่า อัตราแลกเปลี่ยน ณ 
สิ้นปี 2020 จะอยู่ในช่วง 29.5 – 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามแรงกดดันของดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังจะเกินดุลในระดับสูง ขณะที่การเปิดเสรีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมทั้งด้านการทำธุรกิจและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะมีส่วนลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น และคงต้องใช้เวลาในการลดข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่น การเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การยกระดับความสามารถ
ในการลงทุนต่างประเทศ ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค จึงจะทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในระดับสูงและสามารถลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทอย่างมีนัย

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2020 ประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายที่ต่อเนื่องจากปี 2019 แต่ยังคงมีการเติบโตที่ดีอยู่ สิ่งที่ต้องระวังคือผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าทั้งการส่งออกที่ลดลง ผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว รวมถึงลดความน่าสนใจของการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ EIC มองว่าภาครัฐจะเป็นกำลังสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 2020 จากการเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้ที่เป็นการลงทุนโครงสร้างซึ่งคาดว่าอาจมีมูลค่ารวมกันถึง 770,000 ล้านบาท รวมถึงการประมูล 5G ที่ EIC ประเมินว่าจะมีการลงทุนรวมกัน 4 ปี มูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท ด้านภาคเอกชนสามารถใช้โอกาสนี้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งหลายหน่วยงานมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศแล้ว ส่วนภาคครัวเรือนยังจำเป็นต้องรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อลดความเปราะบางทางการเงินต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จับตา 18 อุตสาหกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้กว่า 48 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2040

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดกว่าเดิม มีอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่กำลังมาแรง และเติบโตแบบก้าวกระโดด เราเรียกอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า 'Arenas' ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็ต้...

Responsive image

Gemini 2.0 คืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง ? สรุปของใหม่กับ AI ที่เก่งที่สุดของ Google

หลังจาก Google เปิดตัว Gemini 1.0 ซึ่งเป็น AI แบบ Multimodal และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ใช้มากถึง 2 พันล้านคนทั่วโลก ล่าสุดได้มีการอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ในชื่อ Gemini 2.0 ซึ่งเป็น...

Responsive image

พลังงานจากหลุมดำ พุ่งชนวัตถุลึกลับในกาแล็กซี เกิดรอยปริศนารูปตัว V

NASA พบร่องรอยแปลกประหลาดจากการพุ่งชนของลำแสงพลังงานสูงที่มาจากหลุมดำขนาดมหึมาในกาแล็กซี Centaurus A (Cen A) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 12 ล้านปีแสง การค้นพบนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ...