SCB เดินหน้ายุทธวิถี AI First Bank รับมือความท้าทายของอนาคต | Techsauce

SCB เดินหน้ายุทธวิถี AI First Bank รับมือความท้าทายของอนาคต

ธนาคารไทยพาณิชย์เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 เติบโตแข็งแกร่งทุกด้าน ทั้งผลกำไร รายได้ดิจิทัล และรายได้จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง โดยย้ำความมั่นใจในกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ที่จะนำพาองค์กรฝ่าคลื่นความท้าทาย พร้อมเผยแผนปี 2568 มุ่งสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ เร่งยกระดับประสิทธิภาพบุคลากรด้วยความสามารถด้านเทคโนโลยี ยกระดับบริการด้วย AI และพัฒนาองค์กรเพื่อรองรับการแข่งขันในยุค Virtual Bank

AI

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2567 โดดเด่น

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch สร้างผลลัพธ์ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (yoy) ไฮไลท์สำคัญประกอบด้วย

  • รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3.1% yoy
  • รายได้จากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% yoy
  • อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 12.1% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs)
  • ต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 36.7% ต่ำที่สุดในระบบ D-SIBs

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ตอกย้ำบทบาทพันธมิตรในการพาลูกค้าทุกกลุ่มเร่งปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า 1.34 แสนล้านบาท (พ.ย. 2567) จากเป้าหมาย 1.5 แสนล้านบาทในปี 2568

5 ความสำเร็จสำคัญบนเส้นทาง Digital Bank

ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการสำคัญในการก้าวสู่ Digital Bank ผ่าน 5 ผลงานหลัก ดังนี้

  1. รายได้จากช่องทางดิจิทัลต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 15% จาก 7% (สิ้นปี 2566)
  2. นำ AI มาใช้ครอบคลุมทุกมิติของธนาคาร เช่น การใช้ AI อนุมัติสินเชื่อ 100% การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization) และการใช้ AI เสริมประสิทธิภาพพนักงาน
  3. เปลี่ยนกระบวนการทำงานจากระบบ manual สู่ระบบอัตโนมัติมากกว่า 1,000 กระบวนการ
  4. เพิ่มเสถียรภาพให้แก่ SCB EASY ลด Downtime จาก 4 ชั่วโมงในปี 2566 เหลือเพียง 1 ชั่วโมงในปีนี้
  5. วางรากฐานสู่ธนาคารแห่งอนาคต ด้วยการลงทุนระบบหลักของธนาคาร (Core Bank) บน Cloud

ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเติบโตโดดเด่น

ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของไทยพาณิชย์สร้างผลงานที่โดดเด่น โดยรายได้การบริหารความมั่งคั่งเติบโต 19% yoy  ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในส่วนของการลงทุน (Asset Under Advisory) เติบโต 11% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เติบโต 1.5% นอกจากนี้ ธนาคารยังครองอันดับหนึ่งสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการประเภทอนุพันธ์แฝง (Structured Product) ครองอันดับหนึ่ง Wealth Lending และรักษาอันดับหนึ่งยอดประกันผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านธนาคาร (Bancassurance) ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 23%

3 ความท้าทายหลักในปี 2568

คุณกฤษณ์ กล่าวถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมธนาคารในปี 2568 ประกอบด้วย

  1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ GDP ไทยปี 2568 เติบโตเพียง 2.4%
  2. ระดับหนี้ครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง เพิ่มความท้าทายในการปล่อยสินเชื่อ
  3. เทรนด์ AI และกฎกติกาด้าน ESG ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย

กลยุทธ์ปี 2568: มุ่งสู่ Digital Bank ที่เหนือกว่า

เพื่อรับมือกับความท้าทาย ธนาคารไทยพาณิชย์ได้วางแผนปรับทิศทางธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch โดยมุ่งเน้น

  • สร้างการเติบโตทางธุรกิจและพัฒนากระบวนการภายใน (Scale & Operate) เพื่อเป็นรากฐานสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลที่แข็งแกร่ง พร้อมก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน
  • ยกระดับคุณภาพ 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพการบริการลูกค้า, คุณภาพองค์กร และคุณภาพบุคลากร
  • ปรับโครงสร้างและวิถีการทำงาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง

3 แนวทางหลักสู่ความสำเร็จ

  1. ปรับโครงสร้างการดูแลลูกค้าโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ผสานช่องทางการให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างตรงจุด
  2. วางรากฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เสริมความสามารถด้าน Digital และ AI ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร แบ่งทีมดิจิทัลเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญ AI & Data Intelligence (COE) และทีมที่สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
  3. เสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้แนวคิด "เร็ว ดี มีนวัตกรรม" เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และพัฒนาบริการแบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalization)

AI-First Bank: ก้าวสู่ธนาคารแห่งอนาคต

นายกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความท้าทาย ธนาคารต้องเร่งเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน ความสำเร็จที่เราเป็นในวันนี้อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำในวันข้างหน้า ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้เรายังคงวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและเป็นผู้นำต่อไปได้ โดยมีเป้าหมายในการนำยุทธวิธี AI-First Bank มาเป็นเครื่องยนต์หลักในการยกระดับธนาคารสู่ “ธนาคารแห่งอนาคต” ด้วยการนำ AI เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างสมบูรณ์ และมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงสร้างความพึงพอใจ แต่ต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้แบบรายบุคคล รวมถึงการนำ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและเตรียมความพร้อมของบุคลากร และสร้างไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จัก Gen Beta ผู้ไม่รู้จัก ‘โลกในยุคไร้ AI’ เจนเนอเรชั่นกำเนิดใหม่ของปี 2025

เจเนอเรชัน Beta (Gen Beta) กำลังจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดในปี 2025-2039 พวกเขาเติบโตในโลกที่ AI และเทคโนโลยีเชื่อมโยงชีวิตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเน้นความยั่งย...

Responsive image

EU เริ่มกฎบังคับใช้พอร์ตชาร์จ USB-C ตั้งเป้าลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการเคลื่อนไหวด้านกฎบังคับให้ใช้พอร์ตชาร์จเดียวกันสำหรับทุกอุปกรณ์มาตั้งแต่ปี 2022 ล่าสุดกฎหมายดังกล่าว...

Responsive image

อนาคตที่ปรึกษาทางการเงิน จะเป็นอย่างไร ? เมื่อ AI คือผู้ช่วยคนสำคัญ

ที่ปรึกษาการเงินหลายท่านกำลังเผชิญกับภาวะ "งานเอกสารท่วมตัว" จนแทบไม่มีเวลาดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงานที่ไม่สร้างรายได้ ทำให้การสร้างความสัมพันธ...