ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิของไตรมาส 3 ปี 2019 จำนวน 14,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (Q3 2018 อยู่ที่ 10,508 ล้านบาท) เป็นผลจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 10,484 ล้านบาท และกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตจำนวน 11,644 ล้านบาท สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2019 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 34,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในไตรมาสที่ 3 นี้ ธนาคารมีการบันทึกกำไรที่เกิดจากการขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต แต่เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความแข็งแกร่งเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ธนาคารจึงได้เพิ่มระดับการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน ธนาคารเล็งเห็นศักยภาพในการขยายธุรกิจเพื่อที่จะเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะจากธุรกิจความมั่งคั่ง และธุรกิจประกันชีวิตที่ธนาคารจะเริ่มต้นการทำงานร่วมกับพันธมิตร FWD Group ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 นี้เป็นต้นไป รวมถึงธนาคารยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวให้แก่ธนาคาร”
ด้านสินเชื่อโดยรวมมีการขยายตัวในระดับปานกลางที่ 2.2 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2019 เพิ่มขึ้น 7.4 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 26,191 ล้านบาท จากกลยุทธ์ของธนาคารในการบริหารความเสี่ยงและการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง
ด้านอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 3.01 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.77 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนมิถุนายน 2019 การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 144 เปอร์เซ็นต์สำหรับเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.0 เปอร์เซ็นต์
ในไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาทจากสำรองปกติที่จำนวน 6,173 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 15,273 ล้านบาท
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปี 2019 (ที่ไม่รวมรายการพิเศษ) ค่อนข้างทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมสุทธิ (recurring fee) ยังคงเติบโต โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากการให้สินเชื่อและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความมั่งคั่ง (wealth products)
รายได้จากการดำเนินงาน (ซึ่งรวมกำไรพิเศษ) เพิ่มขึ้น 74.1 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 60,452 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงเป็น 29.1 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2019
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด