คณะกรรมการ ก.ต.ท. เห็นชอบหลักเกณฑ์รองรับ การระดมทุนของ SME และ Start Up | Techsauce

คณะกรรมการ ก.ต.ท. เห็นชอบหลักเกณฑ์รองรับ การระดมทุนของ SME และ Start Up

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) พร้อมส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี (SME Board) และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์จากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

คณะกรรมการ ก.ต.ท. เห็นชอบหลักเกณฑ์รองรับ การระดมทุนของ SME และ Start Up

คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ต.ท. ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนในวงกว้างและเข้าจดทะเบียนในตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มทางเลือกการเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนให้กับกิจการ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลผู้ลงทุนให้ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประสานความร่วมมือในการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การระดมทุนตลาดแรก การทำหน้าที่ภายหลังจากการเสนอขาย และการเข้าจดทะเบียนในตลาดรอง ตลอดจนการจัดตั้งตลาดรองสำหรับ SME (SME Board) โดยจะกำหนดให้เอสเอ็มอีที่จะระดมทุนในวงกว้างและเข้าจดทะเบียนในตลาดรองต้องมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีกลไกตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับรูปแบบการระดมทุนจากบุคคลในวงกว้าง ทั้งนี้ จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองเพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อภาคธุรกิจมากเกินไป เช่น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต ไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น 

โดยกิจการยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้

     (1) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเปิดเผยข้อมูลของกิจการและงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต. 

     (2) กำหนดให้มีการจัดส่งงบการเงินครึ่งปีและงบปีที่ผ่านการสอบทานหรือตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต. และรายงานประจำปี

     (3) มีกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของแต่ละสายงานที่ไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ และต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นกรรมการและผู้บริหาร (fiduciary duty)

     (4) ขายหุ้นผ่านตัวกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการทำความรู้จักลูกค้า (KYC) และแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม (Suitability) 

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นของเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ผู้ลงทุนที่จะสามารถลงทุนได้จึงจะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การลงทุน มีประสบการณ์และมีสินทรัพย์สูงในระดับหนึ่งที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ หรือบริษัทในเครือ

ด้านการจัดตั้งตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี (SME Board) ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยหลักเกณฑ์ในเบื้องต้นจะกำหนดประเภทผู้ลงทุนให้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเช่นเดียวกับในตลาดแรก และส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตัวกลาง รวมทั้งมีการกำกับดูแลในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับ SET และ mai 

“การออกหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ต้องการระดมทุนในวงกว้าง แต่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไประดมทุนผ่านตลาด SET หรือ mai มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อลดภาระหน้าที่และต้นทุนของกิจการ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนมุ่งหวังให้กิจการมีโอกาสระดมทุนและนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาและต่อยอดกิจการให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ในขั้นตอนต่อไป ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2564” คุณรื่นวดี กล่าว


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...

Responsive image

จับตา 18 อุตสาหกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้กว่า 48 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2040

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดกว่าเดิม มีอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่กำลังมาแรง และเติบโตแบบก้าวกระโดด เราเรียกอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า 'Arenas' ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็ต้...

Responsive image

Gemini 2.0 คืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง ? สรุปของใหม่กับ AI ที่เก่งที่สุดของ Google

หลังจาก Google เปิดตัว Gemini 1.0 ซึ่งเป็น AI แบบ Multimodal และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ใช้มากถึง 2 พันล้านคนทั่วโลก ล่าสุดได้มีการอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ในชื่อ Gemini 2.0 ซึ่งเป็น...