ก.ล.ต. ร่วมกับ 7 หน่วยงานพันธมิตรจัดโครงการ “FinTech Challenge” ประกวดผลงานนวัตกรรม FinTech | Techsauce

ก.ล.ต. ร่วมกับ 7 หน่วยงานพันธมิตรจัดโครงการ “FinTech Challenge” ประกวดผลงานนวัตกรรม FinTech

ก.ล.ต. กับ 7 หน่วยงานพันธมิตรร่วมส่งเสริมความรู้และการพัฒนาด้านฟินเทคด้วยการจัดโครงการ "FinTech Challenge" เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย ชิงทุนกว่า 400,000 บาท เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการถึง 31 ตุลาคมนี้

fintech-challenge

ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศูนย์ C Asean และชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย จัดโครงการ FinTech Challenge เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจตลาดการเงิน การลงทุน และการประกันภัย มีโอกาสแลกเปลี่ยน พบปะกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ ๆ และส่งเสริมให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้น

ก.ล.ต. จึงขอเชิญชวนนักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้สนใจทั่วไป ที่มีแนวคิด หรือผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ด้านการเงิน การลงทุน การประกันภัย ส่งทีมสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 2-4 คน โดยสมาชิกในทีมควรประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน นักการตลาด-ประชาสัมพันธ์ และมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาชิ้นงานเทคโนโลยีได้ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ตุลาคม 2559 ผ่านทางเว็บไซต์ www.fintechchallenge.info

โครงการ FinTech Challenge มีระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงวันประกาศผล เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน โดยจะแบ่งการประกวดออกเป็น 3 รอบ ดังนี้

การประกวดรอบที่ 1 – ผู้สมัครทุกทีมจะต้องนำเสนอแนวคิดหรือผลงาน พร้อมเข้ารับการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการตัดสินซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อคัดเลือกทีมเข้ารอบจำนวนไม่เกิน 20 ทีม

การประกวดรอบที่ 2 – ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจำนวนไม่เกิน 20 ทีม จะได้เข้าร่วมกิจกรรม boot camp เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเสริมสร้างความรู้ พัฒนาแนวคิดนวัตกรรม แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และสามารถนำความรู้มาปรับใช้กับผลงานได้จริง พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดและผลงานนวัตกรรมแก่คณะกรรมการตัดสิน เพื่อคัดเลือกทีมเข้ารอบสุดท้ายจำนวนไม่เกิน 8 ทีม

การประกวดรอบที่ 3 – ทีมที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทีมละ 20,000 บาท เพื่อพัฒนาต่อยอดต้นแบบนวัตกรรม และมีโอกาสได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนพื้นที่ใช้สอย รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมจากผู้ให้การสนับสนุน ทั้งนี้ ทีมผู้เข้ารอบจะต้องนำเสนอผลงานนวัตกรรมและจัดนิทรรศการแสดงผลงานในวัน demo day ซึ่งจะจัดขึ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2560 โดยจะมีการประกาศผลผู้ได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยมจำนวน 3 ทุน รวม 250,000 บาท พร้อมโล่รางวัลในวันดังกล่าวด้วย

สำหรับทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยม จะแบ่งออกเป็น 3 ทุน ได้แก่ 1) ทุนนวัตกรรมประเภท Rising Star Fintech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับสินค้า/บริการ/ต้นแบบ (prototype)/แนวคิดที่จัดทำได้ดีพร้อมต่อยอด

2) ทุนนวัตกรรมประเภท Innovative Fintech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการในวงกว้าง

3) ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท 1 ทุน พิจารณาจากทีมที่ผลงานได้รับความสนใจมากที่สุด

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "กระแสฟินเทคที่เข้ามาในขณะนี้ทำให้เห็นความตื่นตัวของภาคการเงิน ตลาดทุน และประกันภัยอย่างชัดเจน ซึ่ง ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน จึงได้จัดโครงการ FinTech Challenge โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนช่วยสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อนำไปสู่การปรับเกณฑ์ที่สอดคล้องกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี"

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "Fintech ครอบคลุมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงิน การให้คำปรึกษาทางการเงิน การให้สินเชื่อ รวมทั้งการสนับสนุนระบบหลังบ้านของสถาบันการเงิน ดังนั้น เพื่อให้ FinTech ไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัย ธปท. ให้ความสำคัญกับหลักการ 3 ประการ คือ การคุ้มครองผู้ใช้บริการ การส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน และการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน"

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า "FinTech มีแง่บวกคือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการให้บริการการทำธุรกรรมทางการเงินโดยอาศัยเทคโนโลยีไปสู่การทำธุรกรรมที่สะดวกรวดเร็วและค่าธรรมเนียมที่ลดลง ซึ่งธุรกิจประกันภัยเรียกกันว่า InsurTech คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองวิถีชีวิตและความต้องการที่แท้จริง และการให้บริการอย่างครบวงจรตั้งแต่การเสนอขาย การให้คำปรึกษาและเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต จนถึงการจ่ายผลประโยชน์หรือค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งเทคโนโลยียังสามารถช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และการหาโอกาสทางธุรกิจของบริษัทประกันภัย ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างมาก แต่สิ่งที่จะต้องระมัดระวังคือหากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจและถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ ก็จะเกิดผลกระทบในทางลบ ทำให้เกิดช่องทางหลอกลวง ฉ้อฉลได้ง่าย จึงจำเป็นต้องกำหนดกฎกติกาในการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยอาศัยช่องทางนี้ที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานการกำกับดูแลในทิศทางที่สอดคล้องกับองค์กรกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่น ๆ"

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นเวทีแรก ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะได้นำเสนอแนวความคิดเพื่อพัฒนาตลาดทุนของเราที่คาดว่าจะใช้ได้ต่อเนื่องในระยะยาว สอดคล้องกับการทำงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการทำงานเพื่อมุ่งสู่ digital exchange โดยที่ผ่านมาเราได้พัฒนาในทุก ๆ มิติ ที่เกี่ยวข้องกับ digital มาโดยตลอด ทั้งเรื่องการพัฒนา technology การนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยทั้งผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจของตลาดทุนไทย นอกจากนั้น เราพัฒนา application ต่าง ๆ การให้ข้อมูลความรู้ผ่านช่องทาง social network เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้จริง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุน startup โดยเฉพาะให้กลุ่มของ FinTech Startup ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ากลุ่มเหล่านี้จะเติบโตและสามารถที่จะทำงานร่วมกับเราต่อไปได้อย่างดี และแนวคิดที่จะได้จากผู้เข้าประกวดในโครงการนี้จะยิ่งสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวล้ำไปยิ่งขึ้นอีกด้วย

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า "เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เชื่อมั่นว่าโครงการ FinTech Challenge ครั้งนี้ จะส่งผลให้ทางผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีแนวความคิดที่กว้างไกล เข้าใจถึงขอบเขตของกฎเกณฑ์ในประเทศไทย เพื่อที่จะพัฒนาสินค้าที่ไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งทำให้หน่วยงานกำกับดูแลได้เข้าใจถึงแนวความคิดใหม่ ๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมการเงินและประเทศชาติได้ ก่อให้เกิดการแข่งขันเทียบทันนานาประเทศในด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดประกันภัยต่อไป"

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ฟินเทค คือแพลตฟอร์มสำหรับการกำเนิดและแพร่กระจายนวัตกรรมการเงิน ซึ่งเป็นรูปแบบนวัตกรรมสำหรับศตวรรษที่ 21 และสังคมโลกยุคใหม่ทางการเงิน ธนาคาร และตลาดทุน คือพื้นที่ใหม่ของนวัตกรรมแทนโรงงานอุตสาหกรรมและการผลิต

ดร. การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ C Asean กล่าวว่า "มีความยินดีอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ FinTech Challenge ในครั้งนี้ และเชื่อว่าการพัฒนาเติบโตของอุตสาหกรรมฟินเทคจะเป็นข้อต่อสำคัญในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคต่อไปในอนาคต การเข้าถึงเงินที่ง่ายขึ้น การที่ต้นทุนทางธุรกรรมการเงินถูกลง จะทำให้เรามีขีดความสามารถที่ดีขึ้น ถ้ามองไปแล้วฟินเทคในประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองของประเทศเพื่อนบ้านและได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาเนื่องจากมีการรวมตัวกันระหว่างสตาร์ทอัพ ธนาคาร ภาคเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนฟินเทคให้ต่อยอดต่อไปในตลาดโลก"

นพ. ศุภชัย ปาจริยานนท์ รองประธานชมรมฟินเทค กล่าวว่า "ยินดีและดีใจเป็นอย่างมากที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับฟินเทคสตาร์ทอัพและเชื่อมั่นว่าจะมีนวัตกรรมทางการเงินที่น่าสนใจเกิดขึ้นจากโครงการอย่างแน่นอน สอดคล้องกับพันธกิจของชมรมฯ ที่จะสนับสนุนให้ฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกจำเป็นจะต้องผ่านเวทีระดับประเทศก่อน ซึ่ง FinTech Challenge จะเป็นเวทีที่สตาร์ทอัพสามารถลับคมไอเดีย ต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง"

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จัก Gen Beta ผู้ไม่รู้จัก ‘โลกในยุคไร้ AI’ เจนเนอเรชั่นกำเนิดใหม่ของปี 2025

เจเนอเรชัน Beta (Gen Beta) กำลังจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดในปี 2025-2039 พวกเขาเติบโตในโลกที่ AI และเทคโนโลยีเชื่อมโยงชีวิตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเน้นความยั่งย...

Responsive image

EU เริ่มกฎบังคับใช้พอร์ตชาร์จ USB-C ตั้งเป้าลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการเคลื่อนไหวด้านกฎบังคับให้ใช้พอร์ตชาร์จเดียวกันสำหรับทุกอุปกรณ์มาตั้งแต่ปี 2022 ล่าสุดกฎหมายดังกล่าว...

Responsive image

อนาคตที่ปรึกษาทางการเงิน จะเป็นอย่างไร ? เมื่อ AI คือผู้ช่วยคนสำคัญ

ที่ปรึกษาการเงินหลายท่านกำลังเผชิญกับภาวะ "งานเอกสารท่วมตัว" จนแทบไม่มีเวลาดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงานที่ไม่สร้างรายได้ ทำให้การสร้างความสัมพันธ...