Shopee แพลตฟอร์ม e-commerce ชื่อดังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมพร้อมบุกตลาด Food Delivery ในประเทศไทย เปิดตัว ShopeeFood ประกาศรับสมัครไรเดอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังเปิดบริการนี้แล้วในตลาดอินโดนีเซีย
Shopee ได้ประกาศรับสมัครไรเดอร์ผ่านเพจ ShopeeFood Rider เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม บน Facebook ซึ่งกำลังหาไรเดอร์ที่สนใจมาร่วมงานกับแพลตฟอร์ม ShopeeFood พร้อมแจงข้อดีของการร่วมเป็นไรเดอร์ ทั้งรอบวิ่งเยอะไม่ขาดสาย เพราะเรามีฐานผู้ใช้งานและร้านค้าที่เข้าร่วมมากมาย หรือจะเป็นทำงานหลากหลาย เพราะเราไม่จำกัดว่าจะรับงานจากแอปอื่นก็ทำได้
การเปิดตัวในครั้งนี้เป้นจุดสำคัญที่จะตอกย้ำว่า Shopee นั้นพร้อมที่จะขยายเข้าสู่ตลาดบริการขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นไม่ใช่ที่แรกที่ ShopeeFood ลงไปบุกตลาด โดย AsiaTechDaily รายงานว่า ShopeeFood ได้เข้าไปในตลาดของประเทศอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้นปี 2021 ผ่านการประกาศรับสมัครไรเดอร์ในจาการ์ตาเช่นกัน ผ่านแอปพลิเคชันสำหรับไรเดอร์โดยเฉพาะ
หลังจากเปิดให้ดาวน์โหลดแอปฯ บน Google Play แล้ว มีคนเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯ ดังกล่าวมากถึง 500,000 คน และทาง ShopeeFood ก็ยังได้ทำการเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านอาหารมากมายกว่า 500 ร้าน และมีแผนจะเพิ่มพาร์ทเนอร์ไปเรื่อย ๆ
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว บริการเดลิเวอรี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ อีกทั้งยังมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย ที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับบริการนี้ (คิดจาก GMV) เนื่องมาจากคนส่วนใหญ่ในจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ ประชาชนมีกำลังในการซื้อ รวมทั้งมีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้เป็นตลาดสำคัญของบริการเดลิเวอรี่
อย่างไรก็ตาม ในตลาดของอินโดนีเซียนั้นมีคู่แข่งตัวฉกาจของ ShopeeFood อย่าง GrabFood และ GoFood ของ Gojek ที่อยู่ในตลาดมาก่อน และทำผลงานใน SEA ไว้ได้ดีมาก แต่ด้วยความแข็งแกร่งของฐานผู้ใช้ของ Shopee อาจจะทำให้ ShopeeFood เป็นอีกหหนึ่งคู่แข่งในบริการเดลิเวอรี่ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นได้
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ Foody ที่เป็น Startup สัญชาติเวียดนาม ให้บริการเป็นแพลตฟอร์มแนะนำร้านอาหาร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2012 แล้วแพลตฟอร์มนี้เกี่ยวข้องกับ Shopee อย่างไร ?
โดยเมื่อปี 2015 เป็นครั้งแรกที่ Garena หนึ่งในบริษัทลูกของ SEA Group เข้าไปลงทุนใน Startup ตัวนี้ในรอบระทุน Series B และอีกครั้งในปี 2017 ที่ทาง SEA Group ตัดสินใจเข้าควบรวมกิจการกับทาง Foody ด้วยเงิน 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ทำให้ Foody เองได้ขยายแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่าน Airpay อีกด้วย
ซึ่ง Foody ได้ขยายกิจการเข้ามาในประเทศไทย โดยบริษัท ฟู้ดดี้ เซอร์วิสเซส จำกัด ดำเนินงานภายใต้บริษัท SEA Thailand Group ให้บริการเป็นสื่อออนไลน์สำหรับแนะนำ และรีวิวอาหารผ่านแพชตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, YouTube, เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เคยมีข่าวว่าทาง Shopee ได้รีแบรนด์ของ Foody เป็น Shopee Foody TH เพื่อจะรุกตลาดเดลิเวอรี่ของไทย อย่างไรก็ตามล่าสุด ShopeeFood ก็ได้เปิดตัวอย่างจริงจัง
ย้อนเวลากลับไป ถ้าหากใครยังจำกันได้ถึงผู้เล่นในธุรกิจ Food Delivery ยุคแรกๆ คงเคยได้ยิน Now Delivery ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท ฟู้ดดี้ เซอร์วิสเซส จำกัดเช่นเดียวกัน แต่จากการแข่งขันที่สูงและบริษัทแม่อย่าง Sea Group อาจจะมองว่าไม่คุ้มที่จะลงไปเล่นในตลาดที่เป็น Red Ocean ขนาดนี้ จึงตัดสินใจปิดให้บริการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาหลังจากที่เปิดให้บริการได้เพียงแค่ประมาณ 1 ปีกว่าเท่านั้น (อ่านต่อที่ Techsauce )
ดังนั้นการกลับมาของ Shopee ในตลาด Food Delivery ทำให้เห็นว่า Shopee นั้นต้องการที่จะเดินหน้าในตลาดนี้อย่างจริงจัง ทั้งฐานลูกค้าที่มีมากมายและมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ที่แข็งแกร่ง ShopeeFood จะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญอีกตัวของตลาดเดลิเวอรี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกมจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องรอติดตามกันต่อไปในอนาคต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด