สื่อนอกตีแผ่ ความท้าทายของ Sinovac หลังมีประวัติเคยติดสินบน อย.จีน และปมขัดแย้งผู้ถือหุ้น | Techsauce

สื่อนอกตีแผ่ ความท้าทายของ Sinovac หลังมีประวัติเคยติดสินบน อย.จีน และปมขัดแย้งผู้ถือหุ้น

***ข่าวนี้แปลและเรียบเรียงมาจากเว็บไซต์ Fortune  สื่อด้านธุรกิจรายใหญ่ของโลก

ทางการบราซิลรายงานว่า วัคซีนจากประเทศจีนอย่าง Sinovac นั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อถึง 78% โดยวัคซีนของ Sinovac ที่เรียกว่า CoronaVac เป็นวัคซีนไวรัสโควิด-19 ชนิดเชื้อตายเพื่อกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับเหล่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย เนื่องจาก Sinovac เป็นวัคซีนที่ราคาไม่แพงมากเหมือนอย่าง Pfizer และ Moderna

อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐบาลบราซิลและผู้ผลิตวัคซีน Sinovac ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่จะมาสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 78% ต่อสาธารณะ โดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพชั้นนำของบราซิลกล่าวเพียงแค่ว่า วัคซีนนี้สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลของวัคซีนนอกเหนือไปจากนั้นแต่อย่างใด

Sinovac และ Sinopharm ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีน วางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 50 ล้านคนในจีนภายในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าจีนจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้วัคซีนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ทางการจีนก็อนุญาตให้ใช้ Sinovac ในกรณีฉุกเฉินได้ ทว่าก็ยังไม่ได้มีการอนุมัติให้จัดจำหน่ายต่อสาธารณชน

sinovac

กว่าจะมาเป็น CoronaVac วัคซีนโควิดของบริษัท Sinovac

นายแพทย์หยิน เหว่ยตง ประธานและซีอีโอของ Sinovac ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีน โดยบริษัท Sinovac ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ในกรุงปักกิ่ง และวัคซีนที่ หยิน เหว่ยตง ผลิตภายใต้ชื่อของ Sinovac นั้น ก็ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีนในปี 2005 และต่อมา วีคซีนของเขาถูกรวมอยู่ในโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติของจีนในปี 2008 อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้มีคำสั่งอนุมัติล่วงหน้าให้สามารถส่งออกวัคซีนไปยังตลาดอื่น ๆ ได้ในปี 2017  หลังจากนั้น หยิน เหว่ยตง ก็ได้ทำการวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนอื่น ๆ ด้วย

หลังจากก่อตั้งบริษัทได้ไม่นาน จีนก็ต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรค SARS อันเป็นไวรัสโคโรนาชนิดหนึ่ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 600 คนในจีนตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2004 นายแพทย์หยินจึงพยายามแก้ปัญหาโรคระบาดด้วยการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรค SARS โดยเฉพาะขึ้น แต่การแพร่ระบาดของโรค SARS นั้นไม่รุนแรงเท่าโรคโควิด-19 สถานการณ์การแพร่ระบาดจึงค่อย ๆ หายไปเองในปี 2004 โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน SARS ของ Sinovac

แต่หลายปีต่อมา บริษัทก็ค้นพบว่าวัคซีนโรค SARS นั้นจะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ได้แก่ ไวรัสโควิด-19 ซึ่งนายแพทย์หยินกล่าวว่า SARS และโควิด-19 เป็นเสมือน “พี่น้อง” กัน และบริษัทก็ได้ต่อยอดงานวิจัยเกี่ยวกับโรค SARS เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วย

วัคซีนชนิดเชื้อตายของ Sinovac อาศัยเทคโนโลยีที่มีมาหลายร้อยปี โดย Sinovac ได้นำไวรัสโควิด-19 ที่มีชีวิตมาทำให้กลายเป็นเชื้อตาย เพื่อระงับความสามารถในการก่อให้เกิดโรค แต่ยังให้ประสิทธิภาพในการสร้างแอนติบอดีภายในร่างกายมนุษย์เพื่อต่อต้านไวรัส

หลังจากการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของ CoronaVac ในระยะที่ 1 และ 2 ในจีนแล้ว Sinovac ก็ได้เปิดการทดสอบระยะที่ 3 ในบราซิล โดยทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 13,000 คน ในการทดลองครั้งนี้ Sinovac ได้ร่วมมือกับสถาบัน Butantan ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของบราซิล และเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาค 

การทดลองดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จ แต่อยู่ภายใต้การถกเถียงทางการเมืองอย่างเข้มข้นภายในประเทศ กล่าวคือ โจอัว โดเรีย ผู้ว่าการรัฐเซาเปาโล ประกาศให้ CoronaVac เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศ 

แต่ ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีของบราซิลนั้นไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่โดเรียกล่าว และให้คำมั่นว่าบราซิลจะไม่ซื้อวัคซีนจากจีน ในขณะที่รัฐบาลของโบลโซนารูดูก็เหมือนจะไม่เห็นด้วยคำมั่นดังกล่าวอีกเช่นกัน โดยในเวลาต่อมา รัฐมนตรีสาธารณสุขของบราซิลก็ประกาศว่าจะทำการซื้อวัคซีนของ Sinovac จำนวน 100 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโบลโซนารูกล่าวว่า เขาจะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน และพูดเป็นนัย ๆ ต่อไปอย่างไม่มีข้อสนับสนุนว่า ความจริงแล้ว ประชาชนอาจไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนใด ๆ เลย เขาบอกว่า “ไม่มีใครสามารถบังคับให้ใครทำอะไรสักอย่างได้โดยที่เราไม่รู้ผลที่จะตามมา”

ปัญหาของ Sinovac ปมขัดแย้งผู้ถือหุ้น และคดีติดสินบน 

ในปี 2016 จีนตัดสินจำคุก หยิน ฮงจาง (ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ นายแพทย์หยิน เหว่ยตง ของ Sinovac) อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของจีน สารภาพว่าเขารับสินบนกว่า 500,000 ดอลลาร์ (15.8 ล้านบาท) จากบริษัทวัคซีนตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2013 เพื่อแลกกับการช่วยให้ผู้ผลิตวัคซีนได้รับการอนุมัติยาที่เร็วขึ้น

ซึ่ง นายแพทย์หยิน เหว่ยตง ผู้ก่อตั้งบริษัท Sinovac ได้ให้การในคดีนี้โดยยอมรับสารภาพว่าเขาได้จ่ายสินบนมากกว่า 83,000 ดอลลาร์ (2.6 ล้านบาท) ให้กับ หยิน ฮงจาง เพื่อแลกกับใบอนุญาตการฉีดวัคซีนของ Sinovac เมื่อข่าวนี้แพร่งพรายออกไปส่งผลให้หุ้นของ Sinovac ในนิวยอร์กมูลค่าลดลงกว่า 20% แต่ไม่นานก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดังเดิม

อย่างไรก็ตามแม้จะว่ามีการสารภาพออกมา นายแพทย์หยินและบริษัท Sinovac ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ 

จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 กลุ่มนักลงทุนของ Sinovac ก็พยายามที่จะยึดอำนาจการควบคุมบริษัทมาจากนายแพทย์หยิน โดยกล่าวว่าประวัติการทุจริตของนายแพทย์หยินทำให้เขาไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร 

แต่ Sinovac ก็อ้างว่านี่เป็นเพียงการโจมตีบริษัท และประกาศให้ความพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการของกลุ่มนักลงทุนเป็นโมฆะ

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักลงทุนจึงบุกเข้าไปในสำนักงานของ Sinovac ในกรุงปักกิ่ง และพยายามที่จะขโมยตราประทับของบริษัท เอกสารทางกฎหมาย เอกสารทางการเงิน และระบบข้อมูลต่าง ๆ ไป เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ Sinovac อ้างสิทธินี้ในการยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 Sinovac ได้ใช้อาวุธทางการเงินหยุดความพยายามในการเข้าซื้อกิจการที่เรียกว่า Poison Pill ด้วยวิธีการออกหุ้นใหม่จำนวน 28 ล้านหุ้น เพื่อลดการควบคุมของนักลงทุนที่อยู่เหนือบริษัท 

ต่อมา ทาง Nasdaq ก็ได้ระงับการซื้อขายหุ้นของ Sinovac ตรวจสอบพบความผิดปกติของจำนวนหุ้นที่ Sinovac ซื้อขายบนแพลตฟอร์มมีความขัดแย้งกัน 

สองปีต่อมา หุ้นของ Sinovac ก็ยังคงหยุดชะงักอยู่ เนื่องจากการฟ้องร้องดำเนินคดีมีความยืดเยื้อและถือเป็นหนึ่งในคดีที่ยาวนานที่สุดที่เคยเกิดในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกระงับการถือหุ้นในสหรัฐฯ แต่ Sinovac ยังคงสามารถระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการวัคซีนโควิด-19 ได้

ในเดือนเมษายนของปี 2020  Bank of Beijing ได้ให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ Sinovac จำนวน 8.5 ล้านดอลลาร์ (269 ล้านบาท) เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 แห่งแรก ส่งผลให้ต่อมาในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน Sinovac ระดมทุนเพิ่มเติม 32 ล้านดอลลาร์ (1 พันล้านบาท) จากนักลงทุนเอกชนและรัฐเซาเปาโลของบราซิลเพื่อเร่งการพัฒนาวัคซีนและดำเนินการทดลองทางคลินิก

และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2020 Sinovac ได้รับเงินสดจำนวน 515 ล้านดอลลาร์ (1.6 หมื่นล้านบาท) จาก Sino Biopharm ซึ่งเป็นบริษัทยาของจีน โดยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้ Sinovac มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 600 ล้านโดสต่อปี

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น Sinovac ก็ได้กลายเป็นตัวเลือกสุดท้าย

จากข้อมูลเชิงบวกของทางบราซิลในช่วงแรก ทำให้ Sinovac แนะนำวัคซีนของตนเองให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตัวอย่างเช่น ในฟิลิปปินส์ ซึ่ง แฮร์รี โร้ก โฆษกของประธานาธิบดีฟิลิฟปินส์ กล่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2020 ว่า การเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอซื้อวัคซีน Pfizer นั้นได้ลดลงท่ามกลางความต้องการอย่างมหาศาลทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลหันไปโฟกัสที่การนำเข้าวัคซีนของ Sinovac แทน โดยชี้แจงว่า “เหตุผลที่เราซื้อ CoronaVac ก็เพราะเราไม่มีโอกาสที่จะได้รับ Pfizer, AstraZeneca หรือ Moderna เลย”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ยังกล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะทำการตรวจสอบว่า Sinovac ได้จ่ายสินบนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ทว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการนำเสนอหลักฐานใด ๆ และ Sinovac เองก็ไม่ได้ให้การอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นของ Sinovac อาจทำให้รัฐบาลหมดทางเลือก และ Sinovac ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสิ้นหวังสำหรับประเทศกำลังพัฒนาต่อไป โดยเลือกที่จะมองข้ามความไม่โปร่งใสของตัววัคซีนในระยะเวลาที่ผ่านมา 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Soft Power และ Technology คือสิ่งที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า สรุปแนวคิด ทักษิณ ชินวัตร

ดร.ทักษิณ ชินวัตรเผยวิสัยทัศน์ 5 ปีข้างหน้าของประเทศไทยในงาน Forbes Global CEO Conference เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซอฟต์พาวเวอร์ และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมสร้างความสามารถ...

Responsive image

เปิดบ้าน WHA สำรวจศักยภาพ นวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ

WHA Open House 2024: Explore – Discover – Shape the Future เป็นการเปิดบ้านครั้งแรกของ WHA เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ WHA Group ในฐานะต้นแบบของธุรกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช...

Responsive image

จีนบุกตลาด AI เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 ให้เหตุผลเหมือนมนุษย์ ท้าชน o1 จาก Open AI

AI จีนขอท้าชิงพื้นที่ตลาด เมื่อบริษัทวิจัย AI เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 โมเดล AI ให้เหตุผลใกล้เคียงกับมนุษย์ เปิดตัวมาท้าชิงความสามารถของโมเดล o1 จาก OpenAI...