SIPA ควง TDRI เผยตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปี 2557 เกมเติบโต 14.7% แต่แอนิเมชั่นหดตัว 8.1% | Techsauce

SIPA ควง TDRI เผยตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปี 2557 เกมเติบโต 14.7% แต่แอนิเมชั่นหดตัว 8.1%

SIPA

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลการสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยประจำปี 2557 ประกอบด้วยแอนิเมชั่นและเกม ซึ่งเป็นสาขาที่ซิป้าสนับสนุน และติดตามการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ผลการสำรวจสะท้อนว่า มีทั้งการขยายตัวเติบโต และการหดตัวของตลาด สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยประจำปี 2557 ณ ห้องประชุม C-01 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า การสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในปีนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ตลอดจน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ผลการสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยในปี 2557 พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีมูลค่าตลาดรวมในแต่ละสาขา ดังนี้ แอนิเมชั่นมีมูลค่า 3,503 ล้านบาท หรืออัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 8.1 ขณะที่สาขาเกมมีมูลค่า 7,835 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 14.7 โดยแอนิเมชั่นและเกมเป็นสาขาที่มีการบริโภคคอนเทนต์จากต่างประเทศเกินกว่าครึ่งของมูลค่าการบริโภคโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเกม    ในปีนี้ จากการสำรวจคาดว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นจะเติบโตร้อยละ 20.7 ในขณะที่อุตสาหกรรมเกมเติบโตร้อยละ 15 ส่วนในปี 2559 คาดว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นจะเติบโตร้อยละ 10 ในขณะที่อุตสาหกรรมเกมจะเติบโตร้อยละ 26

SIPA3

SIPA2

ในด้านการส่งออกนั้น ประเทศไทยมีการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1,687 ล้านบาท ประกอบด้วยสาขาแอนิเมชั่นซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 627 ล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นงานรับจ้างผลิต ทั้งงานแอนิเมชั่นที่มีรูปแบบเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง และงานรับจ้างผลิตเทคนิคพิเศษ (Visual Effects)   ส่วนงานแอนิเมชั่นที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองยังคงมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น สำหรับสาขาเกมมีมูลค่าการส่งออก 1,060 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองร้อยละ 43 งานรับจ้างผลิตเกมมีสัดส่วนร้อยละ 6 ที่เหลือร้อยละ 51 คือการนำเข้าเกมมาให้บริการต่อในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ส่วนในด้านการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคดิจิทัลคอนเทนต์ (หนังการ์ตูน/แอนิเมชั่น และเกม) ประจำปี 2558 พบว่า ร้อยละ 39 ของคนไทยอายุ 1-60 ปี ในเขตเมือง ดูหนังการ์ตูนมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

ขณะที่ร้อยละ 64 เล่นเกมมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยเสียงสะท้อนในภาพรวมการบริโภคหนังการ์ตูนไทยยังคงได้รับความนิยมน้อยกว่าหนังการ์ตูนต่างประเทศ ในอัตราส่วน 15 : 85 โดยให้เหตุผลว่า หนังการ์ตูนต่างประเทศมีรูปแบบการนำเสนอได้น่าสนใจสนุกสนานเพลิดเพลิน ภาพสวย ดูแล้วคลายเครียด นอกจากนี้ ในด้านอิทธิพลของการดูหนังการ์ตูนที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมในเชิงบวก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคจะทำสิ่งดีๆ ต่อผู้อื่นและคนอื่นๆ ในสังคมมากขึ้น

สำหรับผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการเล่นเกม ร้อยละ 91 ของผู้บริโภคเกมไทย นิยมเล่นเกมผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เนื่องจากสามารถเล่นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ โดยเฉลี่ยจะเล่นเกม 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเกมที่นิยมเล่นมากที่สุด ร้อยละ 74 เป็นประเภท Casual ด้านเกมประเภท sport และ MOBA ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายในช่วงอายุ 15-24 ปี และในการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคเกมที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้ที่เล่นเกมเป็นประจำ พบว่ามีผู้เล่นในอัตราร้อยละ 59 ที่ซื้อสินค้า item/อุปกรณ์ในเกม

Sipa6

 

SIPA5

กล่าวโดยสรุป ตลาดแอนิเมชั่นและเกมมีมูลค่าการนำเข้าเพื่อบริโภคสูงมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยมีแนวโน้มที่ผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ปัญหาที่สำคัญของทั้ง 2 อุตสาหกรรมคือ การผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเองยังมีไม่มาก และการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ และในขณะเดียวกันควรมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคหนังการ์ตูนไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทย ผลิตคอนเทนต์ที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค

Sipa4

Sipa7

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรประกาศนโยบายส่งเสริมการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ของผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง โดยควรเน้นส่งเสริมให้สุดทาง ตั้งแต่การสร้างความรับรู้และความตื่นตัวต่อโอกาสในอุตสาหกรรม การผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การสนับสนุนด้านการเงินต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี การหาพันธมิตรทางธุรกิจ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงการสร้างโอกาสให้คอนเทนต์ในประเทศได้เผยแพร่ทาง ช่องทางต่างๆ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...