แผ่นดินไหวไต้หวัน สะเทือนห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปทั่วโลกอย่างไร? | Techsauce

แผ่นดินไหวไต้หวัน สะเทือนห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปทั่วโลกอย่างไร?

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ ที่รุนแรงที่สุดของไต้หวันในรอบ 25 ปี สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทว่า หนึ่งในสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองคือ อุตสาหกรรมการผลิตชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่อยู่ในมือของ Taiwan Semiconductor Manufacturing (TSMC) ผู้ผลิตรายใหญ่ของในโลก ซึ่งผลิตให้กับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมายทั่วโลก อาทิ Apple, Nvidia, Huawei, Samsung ฯลฯ จำเป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อย

กระทั่งเมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2567) ทาง TSMC ได้ประกาศกลับมาทำการผลิตตามปกติอีกครั้ง โดยได้ประเมินความเสียหายว่า แม้โรงงานจะได้รับแรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย แต่ก็สร้างความเสียหายให้กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่น้อย และบริษัทจะยังคงเฝ้าระวังและควบคุมการผลิตอย่างใกล้ชิดต่อไป ด้าน Nvidia ที่พึ่งพาชิปจาก TSMC กล่าวว่า การที่ TSMC หยุดการผลิตชั่วคราวจากเหตุแผ่นดินไหว อาจไม่มีผลกระทบต่อการผลิตมากนัก 

ขณะที่ Micron Technology หนึ่งในผู้ผลิตชิปจากสหรัฐฯ ที่มีโรงงานผลิตในไต้หวัน กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า บริษัทกำลังประเมินผลกระทบการดำเนินงานและการผลิตทั้งหมด และจะหาทางแก้ไขเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

อุตสาหกรรมเทคฯ ทั่วโลกหยุดชะงัก หากไม่มีชิปจากไต้หวัน?

ปัจจุบันตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีมูลค่า 527.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่ามากถึง 1,380.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT) และ Machine Learning เป็นต้น 

หากจะบอกว่าไต้หวันมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก ก็คงไม่เกินจริงไปนัก เพราะปัจจุบันไต้หวันผลิตชิประดับไฮเอนด์ที่ทันสมัยกว่า 80-90% ซึ่งเป็นชิปที่ยังไม่มีประเทศใดทดแทนได้ (ข้อมูลจาก economictimes.indiatimes)

ปัจจุบัน TSMC เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่าครึ่งของผู้ผลิตในไต้หวัน และ 90% ของชิปที่ผลิตจากบริษัทนี้ผลิตจากโรงงานทั้งสิ้น 12 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่บนเกาะทางตะวันตกของไต้หวัน ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวพอสมควร จึงได้รับการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย และแม้ว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุบริษัทต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เมื่อสถานการณ์สงบก็กลับมาเป็นปกติภายใน 10 ชั่วโมง 

ทั้งนี้ ชิ้นส่วนเทคโนโลยีของไต้หวันถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์จากสำนักข่าว Reuters กล่าวว่า แผ่นดินไหวในไต้หวันที่มีความรุนแรงขนาด 7.4 ริกเตอร์ มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก อาทิ ชิปคอมพิวเตอร์ หน้าจอแสดงผล และเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC ตัดสินใจหยุดการผลิตในระยะเวลาหนึ่ง

ที่น่าสนใจคือ ไต้หวันมีการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่แล้ว แม้จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ สำนักข่าวต่างๆ ได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 9 รายเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถือว่าไต้หวันรับมือได้ดี บางบริษัทใช้ระบบปิดอัตโนมัติเพื่อลดความเสียหายต่อเครื่องมือและกระบวนการผลิต ซึ่งการที่เครื่องมือถูกปิดจะช่วยลดความเสี่ยงในการซ่อมแซมเครื่องจักรในระยะยาวได้ก็จริง แต่หากปิดนานเกินไป แค่ 1-2 วันก็อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทในไตรมาสนั้นๆ

อันที่จริง TSMC ไม่ใช่ผู้ผลิตรายเดียวที่สั่งหยุดการผลิตชั่วคราว แต่โรงงานผลิตชิปรายเล็กที่ไม่ได้อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ก็ตัดสินใจหยุดการผลิตและอพยพอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยเช่นกัน

Samsung ฟันธงกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 10 เท่า

ขณะเดียวกันการเกิดแผ่นดินไหวในไต้หวันอาจทำให้ Samsung มีความได้เปรียบในการเจรจากับลูกค้า เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งบางรายต่างมีฐานการผลิตอยู่บนเกาะไต้หวันที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Samsung Eletronics ได้ประกาศผลกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้ว่า บริษัทอาจมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยอาจมีกำไรสูงถึง 6.6 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท 

หยุดผลิตช่วงสั้นๆ อาจทำให้ราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แพงขึ้น

นักวิเคราะห์จากธนาคาร Barlasys ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใช้เครื่องจักรในการผลิตที่มีความซับซ้อนสูง การหยุดเครื่องในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง การปิดและเปิดเครื่องใหม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนที่มากขึ้น และเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การสะอึกในช่วงสั้นๆ” เพราะการที่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่และรายเล็กในไต้หวันปิดเครื่องชั่วคราว อาจส่งผลให้ราคาชิปสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบไปสู่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศอื่นๆ และก็มีความเป็นไปได้ว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในล็อตนี้มีการปรับราคาขึ้น 

นอกจากนี้ บริษัทวิจัย TrendForce คาดว่า การจัดส่งแผนโทรทัศน์จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีราคาสูงขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเพียงในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ผู้ใช้อย่างเราจึงไม่ต้องกังวล


อ้างอิง

Asia.nikkei, reuters, Fortune Business Insights, economictimes.indiatimes


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...

Responsive image

Infineon เสริมแกร่งและกระจายฐานการผลิต ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย

Infineon Technologies AG ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend Production) แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพื่อเพิ่มประ...

Responsive image

Techsauce จับมือ KUMPUL เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย-อินโดฯ สู่เวทีโลก

Techsauce และ KUMPUL ได้ร่วมลงนาม MOU อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพข้ามพรมแดนและนวัตกรรมระดับโลก ผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศท...